วรงค์ เดชกิจวิกรม:ภารกิจ ปชป.โฉมใหม่ ประชาชน‘สัมผัสได้’ กระโจนสู้ศึกเลือกตั้ง
“…ที่ผ่านมาอดีต ส.ส. ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน พูดกันว่า พวกเราชนะเลือกตั้งได้อย่างไร ทุกคนมองว่า ลำพังนโยบายอย่างเดียวมันไม่ใช่ มันมีความรู้สึกบางอย่างที่ใกล้ชิด เขารู้สึกเราเป็นพวก คนไทยถ้าเป็นพวกจะมาก่อนเลย เราถึงต้องพยายามดึงภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ให้ลงมาข้างล่างให้ได้ พบประชาชนให้มาก หน้าที่นักการเมืองต้องพบประชาชนทุกระดับ สูง กลาง ล่าง แต่ที่ผ่านมาระดับล่างรู้สึกเอื้อมไม่ถึง ตรงนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คะแนนพรรคตกต่ำ…”
ได้ฤกษ์เริ่มต้นขึ้นแล้ว!
การหยั่งเสียงเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ หลังจากปล่อยให้ผู้สมัครชิงเก้าอี้ 3 ราย ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนเก่า ดีกรีอดีตนายกรัฐมนตรี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ฉายา ‘มือปราบจำนำข้าว’ อดีต ส.ส.พิษณุโลก ผ่านการผลักดันของ ‘ถาวร เสนเนียม’ นักการเมืองมากบารมี จ.สงขลา และนายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั่วประเทศสามารถโหวตได้ภายในวันที่ 1-5 พ.ย. 2561
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกตั้งหัวหน้า ‘พรรคสีฟ้า’ ครั้งนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ กำหนดทิศทางพรรคในรูปแบบใหม่ หลังจากนายอภิสิทธิ์ ครองเก้าอี้มายาวนานกว่า 13 ปี ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ถูกหลายฝ่ายวางหมากไว้เป็น ‘ตัวแปรสำคัญ’ ในการจัดตั้งรัฐบาล
ยืนอยู่ตรงกลางระหว่าง ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ vs ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’
ดังนั้นโฉมหน้าของหัวหน้าพรรคคนใหม่ นอกเหนือจากการบริหารจัดการปัญหาภายในพรรคที่ปรากฏความบาดหมางของขั้ว ส.ส. หลายกลุ่ม ยังต้องวางยุทธศาสตร์ ประเมินเกมทางการเมืองว่า หลังการเลือกตั้งจะไปซบอยู่ฝ่ายใคร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นัดสัมภาษณ์พิเศษ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ มือปราบทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จนนำไปสู่คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ‘ผู้น้อง’ ต้องหลบหนี ส่วน 2 รัฐมนตรีคีย์แมน นายบุญทรง เตริยาภิรมย์-นายภูมิ สาระผล ติดคุกยาว
นพ.วรงค์ ในชุดเสื้อโปโลสีขาว สกรีนเบอร์ 2 สโลแกน ‘กล้าเปลี่ยนเพื่อประชาชน’ เปิด ‘วอร์รูม’ คณะทำงานทีม ‘เพื่อนวรงค์’ ที่บ้าน ‘ถาวร เสนเนียม’ ในซอยพิบูลวัฒนา 7 เยื้องซอยเข้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ไกลนัก เมื่อไปถึง นพ.วรงค์ กำลังรับประทานอาหารกับคณะทำงาน โดยมี ‘ถาวร’ นั่งอยู่ด้วย ก่อนจะเชิญให้ขึ้นไปสัมภาษณ์บริเวณชั้น 5 ของตัวบ้าน
“ตั้งวอร์รูมตรงนี้ เผื่อมีอะไรเกิดขึ้นที่พรรค จะได้กลับไปทัน” นพ.วรงค์ กล่าวติดตลก
@เดินเกมทางลับมาตั้งแต่ปี’60 ดีลกลุ่มเพื่อน ส.ส. ก่อนเปิดตัวชิงเก้าอี้
ที่มาที่ไปในการเข้ามาชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค นพ.วรงค์ ระบุว่า เกิดขึ้นเป็นเวลาปีเศษ ตั้งแต่ช่วงปี 2560 โดยขณะนั้นพรรคถูกตั้งคำถามถึงปัญหา หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ กระแสต้องความเปลี่ยนแปลงกำลังถูกโหม จึงเดินสายใน ‘ทางลับ’ หารือกับกลุ่มอดีต ส.ส. ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน เพราะถ้าเรื่องแพร่งพรายอาจถูกมองว่าไม่ดี กระทั่งเปิดตัวในวันที่เหมาะสมคือช่วงปลายเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา
“เพื่อนอดีต ส.ส. ภาคเหนือ-อีสาน ติดต่อมาหาผมบอกว่า ถ้าเป็นแบบนี้จะลำบาก เพราะภาคเหนือ-อีสาน ต้องต่อสู้หนัก ถ้าคะแนนนิยมพรรคไม่ดี จะเหนื่อย หลังจากนั้นคุณสมบัติ ยะสินธุ์ (อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์หนึ่งเดียวในจังหวัด) ทาบทามผมว่า จะให้พรรคอยู่อย่างนี้หรือ เป็นคำถามเหมือนเพื่อนทั่วไป ถ้าเป็นอย่างนี้เหนื่อยแน่ หัวหน้าเป็นอย่างนี้ ความนิยมพรรคตกต่ำ กระทั่งรวมกลุ่มเพื่อนมาคุยกัน ทำให้ผมตัดสินใจว่า ยังไงก็ต้องสู้ ไม่งั้นลำบาก ถ้าสู้ แล้วคนเห็นด้วย อาจเห็นความเปลี่ยนแปลง จึงเกิดเป็นแนวคิดเดินสายพบปะเพื่อนสมาชิก แตกกิ่งก้านสาขา ลงตัวเป็น ‘กลุ่มเพื่อนวรงค์’ ในที่สุด”
นพ.วรงค์ อธิบายอีกว่า เมื่อลงตัวที่ ‘กลุ่มเพื่อนวรงค์’ แล้ว ต่อมาคือจะสู้ยังไง เพราะถ้าใช้ระบบเก่าที่ให้ประธานสาขาพรรคเป็นคนเลือก ยังไงก็สู้ไม่ได้ แค่มีผู้ใหญ่ไม่กี่คนขยับ เขาก็ไปตามผู้ใหญ่ เพราะสังคมไทยเป็นระบบเกรงใจ จึงเกิดแนวคิดให้ใช้ระบบไพรมารีโหวต หลังจากนั้นจึงเดินสาย ‘ใต้ดิน’ ให้ทุกคนเห็นคุณค่าของไพรมารีโหวต จนท้ายที่สุดจึงได้ใช้ระบบนี้
@ภารกิจหลักดึงประชาชนให้สัมผัสได้-คนใกล้ชิด‘หัวหน้าเก่า’มีส่วนทำคะแนนนิยมตกต่ำ
แต่หลายคนมองว่าปัญหาจริง ๆ ของพรรค อาจไม่ใช่ที่ตัวพรรค หรืออุดมการณ์ หรือแม้แต่ตัวผู้นำเอง แต่อยู่ที่คนใกล้ชิดตัวผู้นำ ?
นพ.วรงค์ ระบุว่า ทุกอย่างผสมผสานกัน ต้องยอมรับว่า คนรอบตัวมีอิทธิพลสูงมาก เพราะถูกกระแสวิจารณ์หลายอย่าง อย่างไรก็ดีภาพลักษณ์เป็นสิ่งสำคัญ มันรู้สึกไกล ประชาชนเอื้อมไม่ถึง ดังนั้นจึงพยายามทำภาพลักษณ์ของพรรคให้คนสัมผัสได้
“ที่ผ่านมาประชาชนเอื้อมไม่ถึงพรรค เราต้องเปลี่ยนตรงนี้ให้คนสัมผัสได้ เข้าถึงได้ คุยได้ จับต้องได้ทุกอย่าง มันเป็นความรู้สึกที่คนในพรรคไม่ได้พูดถึง”
อดีต ส.ส. ฉายา ‘หมอข้าว’ ขยายความว่า ที่ผ่านมาอดีต ส.ส. ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน พูดกันว่า พวกเราชนะเลือกตั้งได้อย่างไร ทุกคนมองว่า ลำพังนโยบายอย่างเดียวมันไม่ใช่ มันมีความรู้สึกบางอย่างที่ใกล้ชิด เขารู้สึกเราเป็นพวก คนไทยถ้าเป็นพวกจะมาก่อนเลย เราถึงต้องพยายามดึงภาพลักษณ์พรรคประชาธิปัตย์ให้ลงมาข้างล่างให้ได้ พบประชาชนให้มาก หน้าที่นักการเมืองต้องพบประชาชนทุกระดับ สูง กลาง ล่าง แต่ที่ผ่านมาระดับล่างรู้สึกเอื้อมไม่ถึง ตรงนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คะแนนพรรคตกต่ำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคหนนี้ ไม่ว่าใครจะชนะ แต่พรรคต้องเปลี่ยนโฉมใหม่แน่นอน แต่จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด ?
“อยู่ที่ว่าใครชนะ” นพ.วรงค์ ยืนยัน ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า พรรคอาจต้องการแรงกระตุ้นเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าผมชนะ แรงกระตุ้นให้เปลี่ยนแปลงมันแรง มาจากใจที่แรงกล้า เราพยายามดึงตัวให้ใกล้ชิดประชาชนที่สุด ส่วนคนอื่นไม่ทราบ
“ผมยืนยันว่า เราเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน เราขายการทำงานเป็นทีม และพิสูจน์ในช่วงเดือนเศษที่ผ่านมาว่า แม้เราใหม่ แต่เรารู้สึกไม่เป็นรอง สู้ได้ทุกมิติ เพราะเรามีทีมเวิร์ค ดึงศักยภาพของแต่ละคนในทีมมาช่วยกันทำงาน”
นพ.วรงค์ ตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมาพรรคบอกว่า มีอุดมการณ์กระจายอำนาจ ประกาศกระจายอำนาจทั่วประเทศ แต่ในพรรคกลับไม่กระจาย หรือพรรคบอกว่าจะลดช่องว่างของประเทศ แต่ในพรรคยังมีช่องว่าง ผมฝังใจ 2 อย่างนี้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นทันที ลดช่องว่าง ให้สมาชิกพรรค คนยากคนจนกับเราใกล้ชิดกันมากขึ้น ถึงนำประเทศได้ ถ้าไม่ทำแบบนี้ ไม่มีทางทำได้ คนยังมองว่ารู้สึกห่างไกล ต้องทำในพรรคให้เห็นก่อนว่าเราทำได้
ส่วนกระแสข่าวว่าหาก ‘ทีมเพื่อนวรงค์’ ชนะ อาจมีการล้างบางอดีต ส.ส. ในพื้นที่บางกลุ่ม นพ.วรงค์ ส่ายหน้ายิ้มเล็กน้อย ก่อนอธิบายว่า ไม่รู้ว่าเขาเข้าใจผิดหรือเปล่า เราพูดชัดเจน ถ้าพื้นที่ไหนมีความขัดแย้ง หรือแข่งขันกันสูสี ปกติอำนาจเป็นของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่เราจะไม่ใช้อำนาจตรงนี้ จะทำไพรมารีโหวตให้สมาชิกพรรคเลือกตัว ส.ส. เพื่อลงในเขตนั้น ๆ แทน คณะกรรมการบริหารพรรคจะไม่ยุ่ง เพราะที่ผ่านมาหากให้อำนาจรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง จะมีคนวิ่งเต้น ประชาชนถูกทอดทิ้ง ไม่ได้เป็นคนที่ประชาชนต้องการจริง ๆ มาเป็น ส.ส. ดังนั้นเราต้องการนักการเมืองกับประชาชนใกล้ชิดกัน มีปัญหาตรงไหน
@วาง‘อภิสิทธิ์-อลงกรณ์’เป็นที่ปรึกษา-ยันไม่เป็นหุ่นเชิดใคร
ขณะเดียวกันก่อต่อสู้ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ถูกมองจากภายนอกว่า เป็นการสู้ของ 2 กลุ่มคือ ‘ฝ่ายเอาอภิสิทธิ์’ และ ‘ฝ่ายไม่เอาอภิสิทธิ์’ โดยมีปีก กปปส. เป็นผู้ผลักดัน ซึ่ง ‘ทีมเพื่อนวรงค์’ หนึ่งในปีกนี้ ?
“ดูผมหาเสียง สู้แทบตาย ถ้ามีคนหนุน คงไม่เหนื่อยขนาดนี้” นพ.วรงค์ หัวเราะหลังตอบคำถาม ก่อนขยายความว่า ผมฝึกตัวเองให้สู้ ถ้าไม่แน่จริงยืนไม่ได้ บอกเลยว่า อดีต กปปส. ในพรรคช่วยผมแค่ 2 คน (หนึ่งในนั้นคือนายถาวร เสนเนียม) ขณะที่อดีต กปปส. ส่วนใหญ่ เช่น นายอิสสระ สมชัย นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ช่วยนายอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) และยังมีอีกหลายคนที่ไม่เปิดหน้า อยู่กับฝ่ายนู้นไม่รู้เท่าไหร่ คือเขาไม่รู้จะวิจารณ์อะไร ก็พยายามกล่าวหา
“เราต้องนำพาทีมงานให้ได้ ผมให้เกียรติทุคน ผมทำได้ ถ้าผมทำไม่ได้ผมถูกเชือด ไม่มีใครเคารพผม แต่ทีมงานผมเชื่อว่า ผมทำได้ ทั้งนำทีมปราศรัยทุกภาค การดีเบตวัดหัวใจ ถ้าทำไม่ได้ตายคาเวที ทุกคนยอมรับว่า โอเค ผ่าน ไม่มีทางที่ใครจะมาเชิดผม หนุนผม ทุกอย่างได้รับการพิสูจน์ว่าเรายืนด้วยตัวเอง หัวใจผมเป็นคนสู้ รบกับรัฐบาลในอดีตมาหลายปี ถ้าไม่เป็นคนจริงยืนระยะยาวไม่ได้ ถ้าผมเป็นแค่หุ่นเชิด ผมยืนไม่ได้”
ส่วนคะแนนเสียงเพื่อชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคนั้น นพ.วรงค์ อุบไต๋บอกเราเป็นนัย ๆ ว่า ค่อนข้างมาแรง และเชื่อมั่นว่าจะมีสิทธิ์เบียดชนะ จนเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนที่ 5 ได้อย่างแน่นอน
“เรามั่นใจ วันนี้คุยกันเป็นวันสุดท้าย ประเมินปฏิกิริยาในที่ต่าง ๆ เกินคาด บางคนสบประมาทว่าเราไปได้ไม่กี่น้ำ แต่เราปราศรัยได้ทุกพื้นที่ทุกภาคทั่วประเทศ ทีมเราทำพีอาร์ดีมาก คู่แข่งยังชมว่าทำคลิปดีมาก ดีเบตเกินคาด บางฝ่ายมองว่า เขาจะน็อคเรา แต่เรายังยืนได้อย่างสง่า เราจะปิดแมตช์ที่ กทม. เราใช้ทฤษฎีชนบทล้อมเมือง ในภาพรวมเรามั่นใจ”
ส่วนถ้าชนะคู่แข่งอีก 2 รายอย่าง นายอภิสิทธิ์ และนายอลงกรณ์ จะวางบทบาทอย่างไรในพรรคนั้น
“ให้คุณอภิสิทธิ์ เป็นที่ปรึกษาผม แม้แต่คุณอลงกรณ์ก็ด้วย รายละเอียดปลีกย่อยค่อยว่ากัน” นพ.วรงค์ ยิ้มเล็กน้อย ก่อนเสริมว่า หลักของเราคือไพรมารีโหวตครั้งนี้พรรคต้องได้ ตอนนี้กระแสต่าง ๆ ความเชื่อมั่นพรรคดูดีขึ้นเยอะ พรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของ พรรคเรามีคนเก่งเยอะ ดังนั้นไม่ต้องกลัว ผมย้ำ ผมว่าผมใจใหญ่มาก ไม่เคยอาฆาตแค้น สไตล์ผมคือสู้เต็มที่ จบคือจบ ไม่หยุมหยิมกระแนะกระแหน แน่นอนหากเราได้เป็นหัวหน้าพรรค ต้องหารือพี่ ๆ เหล่านี้ และคนมีศักยภาพความรู้มาช่วยกัน มีจิตวิญญาณนักบริหารอยู่ เรารู้งานเป็นแบบไหน เอาใครมา ไม่ว่าใครแพ้หรือชนะ เราทำเพื่อพรรค
@กลุ่มต้านคือพวกมีผลประโยชน์เดิม-รับคุยผู้ใหญ่ในพรรคเยอะแต่ไม่โชว์
แล้วจะยุติความบาดหมางภายในพรรคอย่างไร ?
นพ.วรงค์ อ้างว่า สาเหตุที่ทำให้พรรคแตกแยก และคนบางกลุ่มออกมาโจมตีเขา เนื่องจากคนเหล่านี้กังวลถึงประโยชน์ที่เคยมีอยู่
“เรื่องพวกนี้ไม่ได้มาจากเรา เราต่อสู้ในระบบประชาธิปไตยตามปกติ แต่ที่ผ่านมาผลงานของหัวหน้าเก่า (นายอภิสิทธิ์) มันต่ำกว่ามาตรฐาน คะแนนนิยมมีปัญหา อดีต ส.ส. ไหลออกเยอะ เรารู้สึกว่าถึงเวลาเปลี่ยน ดังนั้นสิ่งที่พูดมา เขาเอามาขู่คนอื่น แต่พวกเราใจใหญ่จริง ๆ สู้กันในเกม จบคือจบ ไม่มีปัญหา คนอื่นต่างหากที่มีปัญหา เขาอาจกังวลไปเอง พรรคเราคนเก่งเยอะ แต่ทำงานไม่เป็น ใช้งานคนแค่ไม่กี่คน”
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ภายใต้ปีกของ ‘นายหัวชวน’ ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังคงมีบารมีและบทบาทสูงภายในพรรค ?
“ผมเคยพบท่านชวน 3 รอบ ก่อนสมัคร 2 รอบ ระหว่างสมัคร 1 รอบ” นพ.วรงค์ กล่าว ก่อนขยายความว่า เราถือว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ เรามีมารยาทไม่อยากเอาท่านมาพูดเพื่อผลประโยชน์เราเอง เราพบทั้งท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน ท่านเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ท่านไพฑูรย์ แก้วทอง และผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคอีกเยอะ แต่ไม่เอามาพูด เราบอกแค่ว่ามีความตั้งใจ อยากให้พรรคเข้มแข็ง ไม่ได้เอามาโฆษณาว่าเราใกล้ชิด เพราะเราเคารพท่าน ท่านคือผู้ใหญ่ของคนทั้งหมดในพรรค
ขณะเดียวกันภาคใต้ที่เป็นฐานที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์มาหลายยุคหลายสมัย แต่ถูกท้าทายโดย ‘อดีตคนเคยรัก’ อย่างพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี ‘ลุงกำนัน’ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ จะวางเกมสู้อย่างไร ?
นพ.วรงค์ ระบุว่า ต้องยืนในหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ กระจายอำนาจให้กับรองหัวหน้าที่กำกับดูแล มีทีมบริหารในพื้นที่ เพราะถ้าหัวหน้าลงไปดูแลหมดงานจะไม่เดิน สำหรับพื้นที่ภาคใต้เป็นความผูกพันคุ้นเคย ถ้าพื้นที่ไหนขัดแย้ง ให้คุยกัน เราไม่เข้าไปยุ่ง
นพ.วรงค์ ปฏิเสธว่า นับตั้งแต่ประกาศลงชิงหัวหน้าพรรคไม่เคยคุยกับนายสุเทพแม้แต่ครั้งเดียว
“ผมไม่เคยคุยกับท่านเลย ถือว่าท่านไปตั้งพรรคเอง แค่นี้ก็เหนื่อยแล้ว ไม่มีเวลาหรอก แต่คนก็พยายามเอาแพะกับแกะมาชนกัน พรรคเราเป็นพรรคที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นหัวหน้าต้องมีศักดิ์ศรี พรรคคือหัวใจในการทำหน้าที่ พรรคเราเป็นรองแค่ประเทศ อยู่มา 72 ปี ผมยืนยันในสิ่งที่ทุกคนเชื่อมโยง เป็นแพะกับกับแกะ ผมมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีพอ การต่อสู้ผมในอดีตเป็นเครื่องพิสูจน์ ไม่ขอพูดมาก”
@ไม่ลงไปเล่นในเกมการเมือง 2 ขั้ว-รอดูผลการเลือกตั้งก่อน
เปิดฉากมาที่ภาพรวมการเมืองไทย ที่แบ่ง 2 ขั้วชัดเจนคือ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ และ ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ เหลือพรรคประชาธิปัตย์แห่งเดียวที่ยัง ‘แทงกั๊ก’ อยู่ตรงกลาง จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นหากได้เป็นหัวหน้าพรรค มองทิศทางอย่างไรต่อไป
“ผมไม่ลงไปเล่นในเกม” นพ.วรงค์ ยืนยัน ก่อนอธิบายเสริมว่า ผมพูดชัดเจน คู่แข่งคนอื่นเขาอาจมีท่าทีเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไม่ระบุนะว่าใคร แต่ผมชัดเจน ที่บอกว่าการเมือง 2 ขั้ว เหลือฝ่ายเอาประยุทธ์ กับฝ่ายไม่เอาประยุทธ์ มันเป็นเกมการเมือง ถ้าเดินพลาดขึ้นมา ไปซ้ายมีคนจ้องเขมือบ ไปขวาก็มีคนจ้องเขมือบ เกมแค่นี้ ถ้าคนไม่มีหลักดี ๆ หลงไปในเกมเขา ดังนั้นผมจึงต้องกำหนดเกมเล่นเอง ไม่สนใจซ้ายขวา แต่ทำงานเพื่อตอบสนองประชาชน ต้องทำตามประกาศจุดยืนทาการเมือง 4 ข้อ ถ้าทำได้ ผมร่วมมือได้หมด
จุดยืนการเมือง 4 ข้อของ นพ.วรงค์ ได้แก่ 1.ต่อต้านการทุจริต 2.ต่อต้านการใช้อำนาจมิชอบ 3.เคารพกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม 4.จงรักภักดีเทิดทูนสถาบันฯ
“ทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าประชาธิปัตย์ชนะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือแพ้แล้วอยากร่วมรัฐบาล ผมต้องเจรจาว่าต้องทำตามจุดยืน 4 ข้อข้างต้น เพื่อให้ประชาชนสัมผัสได้ประโยชน์ถึงที่สุด ส่วนซ้ายขวาอย่างที่พูดกัน เป็นวาทกรรม หลงไปเล่นเกม ถูกกินฟรี เปลืองตัวเปล่า ๆ”
ทุกพรรคการเมือง ถ้าชนะ ต้องเจรจาว่าเอาตาม 4 แบบ ปชช สัมผัสได้ประโยชน์ที่สุด อย่างซ้ายขวาพูดกัน เป็นวาทกรรม หลงไปเล่นเกม ถูกกินฟรี เปลืองตัวเปล่า ๆ ผมไม่เคยลงไปเล่นในเกม
แต่ที่ผ่านมา ‘ฝ่ายไม่เอาประยุทธ์’ นำโดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง ‘เบอร์หนึ่ง’ ของประชาธิปัตย์ และ นพ.วรงค์ เคยตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ดังนั้นหากดูตามจุดยืน 4 ข้อแล้ว จะไปอยู่กับ ‘ฝ่ายเอาประยุทธ์’ ใช่หรือไม่ ?
นพ.วรงค์ ระบุว่า ต้องรอดูผลการเลือกตั้งก่อน เพราะถ้าหลักไม่มีก็เป๋ เห็นหลายคนเป๋มาแล้ว
“มันมีภาระทางการเปลี่ยนแปลง แต่ละพรรคเปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าทุกพรรคควรได้รับการเรียนรู้ ดูว่าแต่ละพรรคมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง เราไม่ถึงขนาดระบุว่า พรรคไหน แต่เรายืนยันหลักการ เรายึดสิ่งนี้ เราเดินหน้า เราไม่สนใจชื่อใครก็แล้วแต่ ถ้าไปงับเหยื่อที่พูดมา เราเดินลำบาก ขณะนี้ยังไม่รู้ผลเลือกตั้ง ก็ยึดหลักการ ทำให้ตัดสินใจง่าย เดินง่าย”
@อิงแอบชนชั้นนำ-ทหารแค่วาทกรรม-ใช้จุดยืน 4 ข้อดีลตั้ง รบ.
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในประวัติศาสตร์ 72 ปีพรรคประชาธิปัตย์ ถูกข้อครหาอิงแอบกับชนชั้นนำ-ทหารตลอด หาก นพ.วรงค์ ได้เป็นหัวหน้า จะลบล้างข้อครหานี้อย่างไร ?
“การอิงแอบคนนู้นคนนี้มันเป็นวาทกรรม”
นพ.วรงค์ อธิบายว่า เห็นอยู่ว่าปัญหาของประเทศเกิดจากอะไร เกิดจากบางพรรคทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควร ถ้ายึดหลักบนผลประโยชน์ประชาชน มันไปง่าย มีอะไรประชาชนได้ประโยชน์ อันนี้โอเค วันนี้ถึงพยายามบอกว่า อะไรก็แล้วแต่ ถ้าประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศได้ประโยชน์ แม้เราไม่ได้คิด ไม่เป็นไร เพราะประชาชนเลือกให้ดูแลผลประโยชน์ แต่ถ้าเราจับได้ว่า ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ คุณตั้งพรรคมาเพื่อโกง เราสู้กับคุณแน่นอน
นพ.วรงค์ บอกถึง ‘สูตร’ ในการจัดตั้งรัฐบาลหรือร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ว่า จุดยืน 4 ข้อข้างต้นน่าจะครอบคลุมทั้งหมด และเห็นชัดว่าแนวทางจะไปอย่างไร เพราะในทีมเคลียร์หมด แม้แต่เรื่องเคลียร์การปราบปรามการทุจริต คนนอกไม่เข้าใจอาจคิดว่าเป็นนามธรรม แต่ตรงนี้คือร่มใหญ่ นโยบายต่าง ๆ ที่ทุกคนอ้างทำเพื่อประชาชน แต่ถ้าเราจับได้ว่าแฝงทุจริต เราสู้แน่ คุณต้องเอาเรื่องปราบทุจริตเป็นตัวตั้ง ถ้าตั้งได้ นโยบายก็ไปได้ ประชาชนได้ประโยชน์เต็มที่ เราวางแนวทางไว้แบบนี้ และเชื่อว่าท้าทายระบบการโกงของประเทศ ที่ผ่านมาไม่มีใครกล้า แต่ถ้าประเทศจะไปได้ต้องปราบโกงให้ได้ ต้องเคลียร์เรื่องเหล่านี้กับทุกพรรคว่าจะเอาแบบนี้
“ถ้าผมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผมต้องทำให้ได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นแกนนำ ก็ต้องต่อรองว่า คุณต้องการให้ประเทศเดินไปข้างหน้าหรือไม่ คุณจะทำเพื่ออะไร ไม่คิดโกงไปกลัวอะไร เราต้องการให้ประเทศเราไปได้”
นพ.วรงค์ ยืนยันหนักแน่นว่า หากเป็นหัวหน้าพรรค จะใส่ชื่อตัวเองในบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีแน่นอน
“แน่ ๆ คือหัวหน้าพรรค คือผม ส่วนที่เหลือจะคุยกันในพรรค แต่มีอยู่ในใจ ก่อนตัดสินใจทุกครั้งจะปรึกษาทีมว่าโอเคไหม ถ้าทุกคนโอเคก็เต็มที่ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ เราคงไม่เปิดชื่อไปเรื่อยโดยใช้อำนาจหัวหน้าพรรค อาจไม่ดี”
ส่วนจะมีชื่อของนายชวน หลีกภัย ในฐานะ ‘อาจารย์’ และผู้มากบารมีในพรรคหรือไม่นั้น นพ.วรงค์ ไม่ปิดกั้น เพียงแค่บอกว่า “อยู่ในใจ” ส่วนรายละเอียดค่อยมาปรึกษาหารือกัน
@ปัดวิเคราะห์กลยุทธเพื่อไทย-เชื่อ รบ.คสช. มีทุจริต แต่ไม่ใช่เชิงนโยบาย
มองกลยุทธของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งอย่างไร ?
นพ.วรงค์ ออกตัวว่า ไม่ค่อยอยากวุ่นวายกับเขามากนัก เราเคารพกัน ถ้าพรรคพยายามให้เกียรติกัน ถ้าบางคนกลับตัวกลับใจทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อประเทศ สถานการณ์จะดีขึ้น เราพยายามไม่ค่อยวุ่นวาย เว้นแต่ระฆังดัง มี พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง ค่อยเอานโยบายมาสู้กัน เป็นสิทธิ์ของเขาที่จะวางกลยุทธอย่างไร แต่ต้องเคารพกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายก็ไปจัดการกันเอง
สำหรับความไม่ชอบมาพากลในการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นพ.วรงค์ มองว่า ยังไม่เจอการทุจริตเชิงนโยบาย
“ปัญหาการทุจริตครั้งนี้มันดีอย่างคือ ไม่ใช่เกิดจากระดับนโยบาย ไม่ใช่คิดนโยบายขึ้นมาเพื่อโกง อันนี้เข้าใจง่าย แต่มีการทุจริตในระดับปฏิบัติ ต้องเข้าใจธรรมชาติว่า การทุจริตถ้ามันมากเข้า ข้อมูลมันจะไหลออกมาเอง ดังนั้นถ้าถามว่ามีการทุจริตหรือไม่ ตอบได้ว่ามี แต่เป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ผมยังไม่เห็น และทราบจากข่าวว่า เขากำลังดำเนินการแก้ปัญหากันอยู่ แต่ถ้าเขาไม่ดำเนินการอะไรก็อย่างที่บอก ข้อมูลมันจะไหลออกมาเอง ปิดไม่มิด”
“ถ้าใช้อำนาจมิชอบมันจะไหลมาเทมา เป็นธรรมชาติของข้อมูล” นพ.วรงค์ ยืนยัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/