ประเทศกูมี : กูมี คสช. Rap Against Dictatorship
"...สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจ คือการใช้มาตรา 44 อย่างเหวี่ยงแหทุกเรื่องนั้น ได้ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายกลุ่มแค่ไหน และการใช้ มาตรา 44 ถึงแม้จะแก้ปัญหาบางเรื่องได้ฉับไว แต่ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่นั้น ไปกระทบสิทธิเสรีภาพทั้งระดับบุคคล และระดับชุมชน โดยรัฐบาล คสช.ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญ 2540 วางมาตรฐานจนกลายเป็น “วัฒนธรรมทางการเมืองใหม่” ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา..."
“ฟังแล้วว่าอย่างไร ฟังแล้วมันใช่หรือไม่ใช่ มันลำบากขนาดนั้นเชียวหรือ เผด็จการขนาดนั้นเชียวหรือ ถ้าเผด็จการ ผมไม่ต้องมาแบบนี้หรอก พูดจนเมื่อยอยู่แล้ว ใช่ไหม ถ้าเผด็จการนั่งสั่งอย่างเดียว หาผลประโยชน์เท่านั้น แต่ผมไม่เคยคิดอย่างนั้น และนี่ผมคิดว่าผมทำมากกว่าด้วยซ้ำไป อย่าให้ใครเขามาบิดเบือน ฉะนั้นถ้าหากเราปล่อยให้มีเรื่องอย่างนี้ และนิยมชมชอบว่าเป็นสิทธิเสรีภาพโดยที่ไร้ขีดจำกัด วันหน้ามันจะเดือดร้อนกับท่าน ครอบครัวท่าน ลูกหลานท่านจะว่าอย่างไร ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ ผมว่าเราอยู่กันไม่ได้หรอก อย่าเป็นเครื่องมือคนอื่น”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ได้กล่าวถึงเพลงแรป “ประเทศกูมี” ระหว่างพบปะประชาชนที่บ้านเมืองรวง ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จ.เชียงราย ที่ นสพ.ไทยโพสต์ นำมาลงไว้เมื่อ 30 ต.ค. 2561
บ่งบอกถึงความไม่เข้าใจเรื่อง “สิทธิเสรีภาพ” ของมนุษย์ ว่ามันไม่ใช่เรื่องการมี “เสรีภาพมาก” หรือ “เสรีภาพน้อย” และขอบเขตการใช้เสรีภาพ “กว้างหรือแคบ” ตราบใดที่ประชาชนยัง “รู้สึก” ว่า การจำกัดขอบเขตสิทธิเสรีภาพนั้นเขาไม่ได้มีส่วนกำหนด ปฏิกิริยาเรียงร้องสิทธิเสรีภาพก็จะดังขึ้น...ดังขึ้น
คสช.เข้ามาโดยอ้างเหตุแห่งความกลัวว่าจะเกิด "สงครามกลางเมือง” ระหว่างคนที่เชียร์ทักษิณ กับคนที่ไม่เอาทักษิณ ที่เป็นสัญลักษณ์ของการโกงกินบ้านโกงกินเมืองและเผด็จการโดยคนกลุ่มเดียว ที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง โดยลืมถามตัวเองว่าที่ประชาชนลงคะแนนให้มาบริหารประเทศนั้น ต้องการให้พรรคการเมืองนั้นบริหารแบบนี้หรือ ทหารจึงฉวยโอกาสเข้าฉีกรัฐธรรมนูญ และฉวยโอกาส “กินบ้านกินเมือง” ไปจนกว่าประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่
พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพวกบางคนคงไม่รู้ตัวเองว่า ถึงตนเองไม่ได้ “กินบ้านกินเมือง” แต่ก็ปล่อยให้หลายคนที่ครองเมืองร่วมกันอยู่ “โกงกิน” เหมือนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร ก็คิดเช่นเดียวกัน คิดถึงขนาดว่าตนไม่ได้สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา.16 แต่ก็ยอมรับว่านายเก่าของตัวเองโกงกิน จึงใช้อำนาจคณะปฏิวัติ มาตรา 17 ยึดทรัพย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และตนเองกับพรรคพวกก็ได้ครองเมืองต่อมา จนโดนอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ใช้อำนาจ มาตรา 17 ยึดทรัพย์พรรคพวกตัวเองแบบเดียวกัน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา.16
มาถึงสมัยประชาธิปไตย เมื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ยึดอำนาจ ฉีก รธน. ก็ใช้อำนาจยึดทรัพย์นักการเมืองสิบคนจากสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สมัยทักษิณ ก็โดนขบวนการประชาชน เริ่มที่ พธม.ออกมาแฉว่า รัฐบาลทักษิณกับพวก โกงกินทรัพย์แผ่นดินอะไรไปบ้าง จนนำไปสู่การเกิด คสช. นำกฎหมายปกติตรวจสอบ นำตัวทักษิณขึ้นศาล นำตัวยิ่งลักษณ์ขึ้นศาล เพื่อยึดทรัพย์ในสมัยบริหารประเทศ ต่อมารัฐบาลตั้งแต่สมัยรัฐบาลประชาธิปไตย จนถึงสมัยคณะรัฐประหาร คสช.ก็ปล่อยให้กฎหมายจัดการประชาชนทุกกลุ่ม ที่ออกมาเคลื่อนไหว ตั้งแต่ พธม.ถึง กปปส.และ นปช. มาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ-เนวิน
มาวันนี้ คนใน คสช.จึงกลัวว่าตนเองและพรรคพวก จะถูกกระบวนการทางกฎหมายมาจัดการเช่นเดียวกับนายทหารและนักการเมืองในอดีต
แต่ความอหังการของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เชื่อว่าตนเองไม่มีแผลเรื่องทุจริตคอรัปชั่น อีกทั้งภรรยาที่เป็นครูบาอาจารย์ ก็ไม่มีเรื่อง “หลังบ้าน หน้าบ้าน” เช่นนักการเมืองและทหารในอดีต แต่ลืมตรวจสอบ และไม่ให้มีกระบวนการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ถึงการมี “นาฬิกาเรือนหรู” ก็ตกแต่งและแทรกแซงองค์กรอิสระ เช่น ปปช.จนตรวจสอบไร้ประสิทธิภาพ ลามปามไปถึงการตรวจสอบการยิงประชาชน พธม.ในเช้าตรู่ 7 ตุลา. ด้วย
สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจ คือการใช้มาตรา 44 อย่างเหวี่ยงแหทุกเรื่องนั้น ได้ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายกลุ่มแค่ไหน และการใช้ มาตรา 44 ถึงแม้จะแก้ปัญหาบางเรื่องได้ฉับไว แต่ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ การตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่นั้น ไปกระทบสิทธิเสรีภาพทั้งระดับบุคคล และระดับชุมชน โดยรัฐบาล คสช.ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญ 2540 วางมาตรฐานจนกลายเป็น “วัฒนธรรมทางการเมืองใหม่” ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา
เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าใจ และยิ่งไม่เข้าใจว่าตนเองใช้ความชอบธรรมอะไรที่บริหารประเทศลากยาวมาถึง 4 ปีกว่า โดยไม่ "ปฏิรูปประเทศให้เกิดมักเกิดผล” โดยเฉพาะเรื่องตำรวจกับการศึกษา แต่กลับสร้าง “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ฯ” ที่จะบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนำไปปฏิบัติ
หลายเรื่อง จึงเกิดเรื่องขึ้นในตลอดสมัย 4 ปีกว่าของรัฐบาล คสช.ที่ พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศ จนกลายเป็นวาทกรรมใน เพลงแรป "ประเทศกูมี” ที่ถูกคนแชร์ออกไป มากกว่า 22 ล้านวิว
และการออกแบบการเลือกตั้งและรัฐสภาที่ รธน.ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนไว้ คนก็สงสัยว่าจะนำไปสู่ปัญหาทางการเมือง ปัญหาทางสังคม ปัญหาทางเศรษฐกิจใหม่ อย่างที่คาดเดาได้
คำถามหนัก ๆ 65 วาทกรรมในเพลงแรป “ประเทศกูมี” จึงลงไปที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจเนื้อหาในเพลงแรป "ประเทศกูมี” ว่าเขาไม่ได้มุ่งประณามประเทศชาติอันเป็นที่รักของทุกคน แต่กลุ่มศิลปินเพลงแรป “RAP AGAINST DICTATORSHIP” มุ่งประณามรัฐบาล พลเอกประยุทธ์กับคณะ คสช. เพียงแต่มีการนำหุ่นจำลองภาพประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลา.มาลงอย่างไม่เหมาะสม ด้วยความยาวถึง 1.05 นาทีจากความยาวของเพลง 5.14 นาที เท่านั้นที่เกินเลยไป
ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ตีโจทย์เนื้อเพลงนี้ออก จะเป็นประโยชน์กับตัวเองและคณะ คสช. ที่จะกำหนดบทบาททางการเมืองเสียใหม่ และถ้าผู้ฟังคนไทยตีโจทย์แตก ก็จะช่วยนำพาประเทศไปสู่มิติใหม่ ได้ในระยะยาว เช่นกัน ถึงแม้โจทย์นั้นอาจจะคลาดเคลื่อนความจริงบางเรื่องไปบ้างก็ตาม
ขออวยพรชัย ให้ พล.อ.ประยุทธ์ หลุดพ้นจากบ่วงกรรมอันนี้ให้ได้นะครับ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.posttoday.com