Back to “The Farm” (1) “Leland Stanford Jr. University”
หลังจากเปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปี 1891 Stanford ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและของโลก ด้วยจุดเด่นของบรรยากาศที่เปิดกว้างและเป็นกันเอง ส่งเสริมให้นักศึกษากล้าคิดในสิ่งที่แตกต่าง เน้นการศึกษาและวิจัยเพื่อนำไปใช้จริง อันเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาการเรียนการสอนที่มุ่งสู่การพัฒนา “Entrepreneurial Spirit”
นักศึกษา Stanford มักจะเรียกแคมปัสมหาวิทยาลัยว่า “The Farm”
เพราะที่ดินจำนวนกว่าสองหมื่นไร่มูลค่ามหาศาลที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยตรงใจกลาง Silicon Valley ในเมือง Palo Alto ทางใต้ของ San Francisco เดิมเคยเป็นฟาร์มเลี้ยงม้าของนาย Leland Stanford มหาเศรษฐีเจ้าของธุรกิจรถไฟ และอดีตผู้ว่าการมลรัฐ California
กำเนิดของมหาวิทยาลัย Stanford เป็นเรื่องน่าสนใจมาก
มีเรื่องเล่าว่า “มีหญิงชายสูงอายุคู่หนึ่งแต่งตัวปอนๆสมถะมาขอพบ President ของ Harvard โดยไม่นัดหมายล่วงหน้า เลขาพยายามกันไม่ให้พบ แต่หลังจากนั่งรอทั้งวันไม่ยอมกลับจึงต้องยอมให้พบในที่สุด
เมื่อได้พบกันหญิงชายคู่นั้นบอกกับ President ของ Harvard ว่าตั้งใจจะมาขอบริจาคเงินเพื่อสร้างอนุสาวรีย์และอาคารสักหลังหนึ่งเพื่อระลึกถึงลูกชายที่เคยเรียนที่นี่ที่เพิ่งเสียชีวิต
President มองดูเสื้อผ้าและท่าทางของหญิงชายคู่นั้นแล้วจึงตอบไปแบบรำคาญๆว่า ทางมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายสร้างสิ่งก่อสร้างเป็นที่ระลึกให้ทุกคนที่เคยเรียนที่นี่ และคุณลุงคุณป้าคงไม่รู้หรอกว่าค่าก่อสร้างอาคารเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นแพงแค่ไหน จากนั้นจึงได้บอกยอดเงินที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารทั้งหมดในช่วงนั้นไป โดยคิดว่าเมื่อคุณลุงคุณป้าได้ทราบถึงยอดเงินที่สูงลิบลิ่วแล้วคงรีบลากลับ ไป
ปรากฏว่าเทคนิคของ President ได้ผลจริงๆ เพราะคุณลุง Leland และภริยาคือคุณป้า Jane Stanford รีบลากลับจริงๆ พร้อมกับเปรยว่าถ้าใช้เงินเพียงแค่นี้ในการสร้างมหาวิทยาลัยเราจะมาสร้างตึกแค่หลังเดียวที่ Harvard ทำไม เรากลับไปสร้างมหาวิทยาลัยของเราเองที่ California กันดีกว่า!”
แม้ตำนานอันโด่งดังนี้ได้รับการปฏิเสธจากผู้เกี่ยวข้อง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความจริงคือการสูญเสีย Leland Stanford Jr. ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนอย่างกระทันหันระหว่างที่ครอบครัวเดินทางท่องเที่ยวในอิตาลีเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ Leland และ Jane หันมาทุ่มเทให้กับการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งสองได้เปลี่ยนเอาความเศร้าโศกเสียใจจากการสูญเสียลูกชายคนเดียวในครั้งนั้นไปสร้างประโยชน์อันยิ่งให้กับส่วนร่วม ด้วยการทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานคน California อย่างเต็มที่ ภายใต้แนวคิดที่ Leland บอกกับ Jane ว่า “All children of California will be our children” ซึ่งนับเป็นการคิดเชิงบวกที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง
อีกเรื่องที่เป็นความจริงคือ Leland ได้พบกับ Charles William Eliot ซึ่งเป็น President ของ Harvard จริงๆ ทั้งนี้เพราะ Leland เป็นคนที่มีมาตรฐานสูงในทุกเรื่องที่ทำ เพราะเขาต้องการสร้างมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดจึงได้ไปปรึกษากับ President Eliot และศึกษาถึงรูปแบบมหาวิทยาลัยที่โด่งดังในขณะนั้น เช่น Harvard, MIT, Cornell และ John Hopskin ในที่สุดเขาได้นักการศึกษาชื่อดังคือ Andrew Dickson White อดีต President ของ Cornell มาเป็นที่ปรึกษาหลัก รวมทั้งได้ให้ขอให้ Frederick Law Olmsted สถาปนิกชาวอเมริกันชื่อดังแห่งยุคสมัย ผู้ออกแบบ Central Park มาเป็นผู้ออกแบบแคมปัสมหาวิทยาลัยในแบบที่ไม่มีรั้ว โดยต้องการให้แสดงถึงบรรยากาศของ California อย่างแท้จริง
หลังจากเปิดรับนักศึกษาครั้งแรกในปี 1891 Stanford ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐอเมริกาและของโลก ด้วยจุดเด่นของบรรยากาศที่เปิดกว้างและเป็นกันเอง ส่งเสริมให้นักศึกษากล้าคิดในสิ่งที่แตกต่าง เน้นการศึกษาและวิจัยเพื่อนำไปใช้จริง อันเป็นต้นกำเนิดของปรัชญาการเรียนการสอนที่มุ่งสู่การพัฒนา “Entrepreneurial Spirit” นั่นคือ ความมีวิสัยทัศน์ สร้างสรรค์ มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จ กล้าคิด กล้าลงมือทำ กล้าผิดพลาด มองความล้มเหลวคือการเรียนรู้ เปิดกว้างที่จะรับแนวทางใหม่ๆ และมีความสามารถในการบริหารจัดการ
วิสัยทัศน์ของ Leland ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย Stanford ที่มุ่งสู่การแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อก้าวให้ทันอนาคตเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปรัชญาวิธีคิดของโลกใหม่ชายฝั่งด้านตะวันตกของอเมริกา ซึ่งเป็นโลกแห่งเสรีภาพและโอกาส
ปรัชญาในการมุ่งแสวงหาความเป็นเลิศที่ถูกขับเคลื่อนโดยกระแสภาคนิยมและความมุ่งมั่นในการแข่งขันในฐานะที่เป็น player ใหม่นี้เองที่เป็นแรงส่งสำคัญสู่ความสำเร็จของโลกใหม่ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา รวมถึงความสำเร็จของ Silicon Valley อันเป็นความร่วมมือแบบไร้รอยต่อระหว่าง Stanford กับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ จนทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นเมืองหลวงของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงโลก (disruptive technology) ในปัจจุบัน
แต่ในเวลาที่ผมไปเรียนอยู่ที่นั้น ผมเองไม่ได้รู้หรือใส่ใจมากนักกับรายละเอียดเหล่านี้ ในวันนี้ เมื่อมานึกย้อนดู ผมถึงได้เข้าใจว่าปรัชญาเหล่านี้ถูกสอดแทรกอยู่และหยิบยื่นให้ผมตลอดที่ผมอยู่ที่นั่น โดยที่ผมเองก็ไม่รู้ตัว…
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
18 ตุลาคม 2561
Photo cr. Stanford University
ที่มา : เฟซบุ๊ก JustWriteJustWrite