3 ปัจจัยทำเยียวยาใต้"สุดสับสน" ผู้สูญเสียทุกกลุ่มรุมขอ 7.5 ล้าน
ท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบของปัญหาการเมืองในส่วนกลาง ปรากฏว่าที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีปัญหาวุ่นๆ เช่นกัน แต่เป็นปัญหาเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะล่าสุดเริ่มมีผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวผู้สูญเสียทยอยออกมาเรียกร้องเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ชาวบ้านสันติ 2 อ.บันนังสตา จ.ยะลา เข้าร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่า พวกเขาเป็นเหยื่อเหตุการณ์กราดยิงเมื่อปี 2550 ขณะกำลังแห่ศพนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ซึ่งถูกลอบวางระเบิดจนเสียชีวิตไปทำพิธีฝัง โดยเชื่อว่ามือปืนที่กราดยิงน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ จึงคิดว่าพวกเขาน่าจะอยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทด้วย
ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และกองกำลังประชาชน เช่น อาสารักษาดินแดน (อส.) ที่ถูกยิง ถูกระเบิดได้รับบาดเจ็บ บางรายถึงขั้นพิการ ก็เริ่มแสดงตัวออกมาเรียกร้องเงินเยียว 7.5 ล้านบาทเช่นกัน ทั้งๆ ที่ตามกรอบหลักเกณฑ์เยียวยาที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2555 วงเงิน 2,080 ล้านบาทนั้น พิจารณาแล้วไม่น่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มใดได้รับเงินเยียวยาถึง 7.5 ล้านบาท
ปัญหาเรื่องการเยียวยาที่ชายแดนใต้มี 3 ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของความสับสน กล่าวคือ
1.รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมา โดยมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการเรื่องเยียวยาเฉพาะชายแดนใต้ แต่ทำงานล้อไปกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่รับผิดชอบโดย ปคอป.หรือคณะกรรมการประสานและติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ชุมนุมทางการเมือง รัฐบาลจ่ายล็อตแรกไปแล้วสำหรับกรณีเสียชีวิต 7.5 ล้านบาท ทำให้กรณีภาคใต้หลายคนเข้าใจว่าจะได้รับในอัตราที่เท่ากัน เพราะฝ่ายการเมืองเคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งว่าจะเยียวยาในมาตรฐานเดียวกัน
2.คณะกรรมการเยียวยาฯชุด พล.ต.อ.ประชา ได้กำหนดกรอบการจ่ายเยียวยาออกมาแล้ว โดยจำแนกผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ และได้ตั้งอนุกรรมการ 8 คณะขึ้นมาพิจารณาเป็นรายกรณี ซึ่งจากหลักเกณฑ์ที่กำหนด น่าเชื่อว่าแทบไม่มีผู้ได้รับผลกระทบรายใดได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท โดยเฉพาะกลุ่มเหยื่อเหตุการณ์รุนแรงรายวัน
3.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ศอ.บต.เพิ่งมอบเงินเยียวยาให้กับครอบครัวผู้สูญเสีย 4 รายจากเหตุการณ์ทหารพรานยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2555 โดยจ่ายให้รายละ 7.5 ล้านบาท (หลังเกิดเหตุทันที 5 แสนบาท วันที่ 29 พ.ค.เป็นเช็คเงินสด 3 ล้านบาท ที่เหลืออีก 4 ล้านบาทจ่ายเป็นพันธบัตรรัฐบาลปีละ 1 ล้านบาท) ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
การมอบเงินเยียวยาดังกล่าวสร้างความสับสนอย่างมากในพื้นที่ เนื่องจากแท้ที่จริงแล้วเป็นการจ่ายตามระเบียบ กพต. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.ศอ.บต.ฉบับใหม่) โดยผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทตามระเบียบนี้ จะนับเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 เป็นต้นมา (1 ต.ค.2554) และต้องเป็นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเท่านั้น ไม่นับรวมกรณีย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547
เพราะกลุ่มที่จะได้รับย้อนหลังเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการเยียวยาฯชุด พล.ต.อ.ประชา ซึ่งก็ค่อนข้างชัดว่าด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆ ไม่น่าจะมีรายใดได้ 7.5 ล้านบาท
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเยียวยาเหยื่อไฟใต้ยังทำได้ไม่ดีพอ จึงเริ่มมีกระแสความไม่พอใจสั่งสมมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านที่เป็นเหยื่อเหตุร้ายรายวันและทางการไม่สามารถคลี่คลายคดีได้ จึงตัดสินด้วยความเชื่อว่ากรณีของพวกเขาน่าจะเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ และพวกเขาก็น่าจะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทเหมือนกรณี 4 ศพปุโละปะโย
เป็นสถานการณ์ความไม่เข้าใจที่ซ้อนทับอยู่กับปัญหาความไม่สงบที่หน่วยงานภาครัฐต้องเร่งสกัดก่อนลุกลาม!
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไฟใต้ที่ญาติพาไปลงทะเบียนขอรับการเยียวยา (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)