‘นพ.มงคล’ ปลุกเครือข่ายถามนักการเมือง ใครดัน กม.สภาองค์กรผู้บริโภค พร้อมช่วยหาเสียง
‘นพ.มงคล’ ปลุกเครือข่ายตั้งคำถามผู้สมัครรับเลือกตั้ง ปี 62 ดันร่าง กม.สภาองค์กรผู้บริโภค หลัง 40 ปี สะดุด หากสนับสนุน พร้อมช่วยหาเสียง ด้านเลขาธิการ มพบ. เผยคืบหน้าอยู่ในชั้นกฤษฎีกา
วันที่ 30 ต.ค. 2561 นพ.มงคล ณ สงขลา กรรมการประสานยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพและการพัฒนาระบบบยา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางและบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” ในงานประชุมวิชาการองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ :ทิศทาง บทบาท และการสนับสนุน จัดโดย สสส.และภาคีเครือข่าย ณ ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นพ.มงคล กล่าวตอนหนึ่งว่า ผู้จะมาทำงานด้านองค์กรผู้บริโภคจะต้องมีเครือข่ายทำหน้าที่เชื่อมประสานการทำงานร่วมกันกับคนในชุมชนในพื้นที่ ไม่ว่าในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด และเป็นนักวางแผนที่ดี ซึ่งมองยังขาดการเชื่อมร้อยชุมชนเข้ามาร่วมกันในการทำงานผู้บริโภค ขณะเดียวกันต้องมีนวัตกรรมด้วย เพราะอย่าลืมว่า ผู้บริโภคทุกภาคส่วนเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ตามค่านิยมของการบริโภคที่มีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง
“เราคงจะทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะผลจะออกมาอย่างเดียว เมื่อไม่สำเร็จ ก็จะไม่สำเร็จอยู่อย่างเดิม เพราะฉะนั้นนอกจากองค์กรผู้บริโภคจะต้องมีเครือข่ายและแผนงานที่ดีแล้ว เราจะต้องมีนวัตกรรมในการเชื่อมร้อยว่า เราจะทำงานดูแลคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อการทำงานนี้ให้ได้ผลดีที่สุดได้อย่างไร”
ทั้งนี้ การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. .... กรรมการประสานยุทธศาสตร์ฯ กล่าวว่า จะทำให้การดูแลผู้บริโภคในเรื่องต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองดูแลให้เกิดความเป็นธรรม ปลอดภัย ต่อสุขภาพและชีวิต ฉะนั้นให้คอยฟังข่าวว่า เมื่อใด ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะผ่าน เพื่อจะได้ทำงานอย่างเต็มที่ ขอให้ช่วยกันลุ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2562
อยากให้ช่วยกันตั้งคำถามผู้จะขอคะแนนเสียงจากเครือข่ายผู้บริโภคว่า เมื่อเข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะลงคะแนนเสียงให้ร่าง พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคฯ ผ่านออกมาเป็นกฎหมายหรือไม่ หากได้รับการสนับสนุน เราจะช่วยหาเสียง โดยการพูดกันอย่างนี้ เชื่อว่าจะมีพลังมากขึ้น
“รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร โอกาสที่จะมองในแง่ให้ประชาชนดูแลตัดสินใจกันเอง คงจะยาก เพราะเขาเหล่านั้นนึกว่า เมื่อหัวแถวสั่งการ ท้ายแถวจะเดินตามไปหมด ซึ่งเป็นการมองคนละฝั่งกับที่องค์กรผู้บริโภคมองในลักษณะจากล่างขึ้นบน แต่รัฐบาลที่เป็นอยู่ปัจจุบันมองจากหัวแถวลงไปหางแถว ทำให้โอกาสจะเกิดองค์กรอิสระ พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภค คงคอยกันอีกนาน ซึ่งในขณะนี้ผลักดันมา 40 ปี แล้ว ผมจะอยู่ทันเห็นพ.ร.บ.นี้หรือไม่ ฉะนั้นช่วยกันภาวนา”
นพ.มงคล กล่าวย้ำว่า ในการเลือกตั้ง ใครจะหาเสียงก็แล้วแต่ พยายามช่วยกันตั้งคำถาม ว่าเห็นด้วยที่จะสนับสนุนร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคหรือไม่ ถ้าไม่สนับสนุนเราจะไปหาคนอื่น การทำงานในลักษณะนี้จะเป็นการทำงานที่ผ่านพื้นฐานของรากหญ้าขึ้นไป และหากช่วยกันทำจะเป็นฐานที่มีความแข็งแรง
ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรผู้บริโภคฯ กับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2561 เห็นชอบอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จากนั้น ก.ย. ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ขณะนี้ประชุมประมาณ 6-7 นัดแล้ว โดยในวันที่ 31 ต.ค. 2561 จะประชุมนัดสุดท้าย อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่เห็นด้วยให้มีสภาเดียว โดยทำกฎหมายคล้าย ๆ กับเป็นสภาขององค์กรผู้บริโภค ซึ่งจะมีหลายสภา จึงกลายเป็นประเด็นที่เห็นต่างกันอยู่
“ถ้ามีหลายสภา จากบทเรียนของสภาแรงงาน และอื่น ๆ จะขัดแย้งกันเอง แล้วหน่วยงานรัฐจะใช้วิธีว่าสภาไหนที่เห็นด้วย จะหยิบขึ้นมาใช้ ซึ่งคิดว่า จะทำให้ผู้บริโภคไม่มีพลัง ไม่เหมือนกับการรวมกันของสภาอุตสาหกรรมที่เป็นหนึ่งเดียว แบ่งเป็นด้าน จึงควรเป็นแบบนั้น ไม่ใช่มีหลายสภามาทะเลาะกันเอง”
ส่วนจะทันในรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุไม่ทราบ แต่กฎหมายเดินหน้าไปเเล้ว .