ผลการรับฟังความคิดเห็น 99.13% ปชช.หนุนปลดล็อคกัญชา ใช้ทางการแพทย์
เปิดรับฟังความเห็น ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... แยกกัญชา-ใบกระท่อม ให้ใช้ทางการแพทย์ก่อน สมชาย แสวงการ คาดสามารถเสนอสภาฯ ได้เดือนพฤศจิกายน ใช้เวลาในกรรมาธิการ 1-2 เดือน ออกมาทันเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย
วันที่ 30 ตุลาคม 2561 คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติ จัดสัมมนาเรื่อง “สนช.ปลดล็อคกัญชา เป็นยารักษาโรค” ณ อาคารรัฐสภา 2
ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า กัญชา และกระท่อม จัดอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 จะมีไว้ครอบครองหรือมีไว้เสพไม่ได้ ขณะที่ข้อยกเว้น นำไปทดลองวิจัย ก็ยังมีข้อจำกัด ซึ่งจากงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ บ่งบอกว่า กัญชาเป็นพืชมีสรรพคุณรักษาโรคได้หลายชนิด หากยังไม่ปลดล็อกกัญชาออกจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ก็จะทำอะไรลำบาก
"การไปปลดล็อกกัญชาในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด ถือว่า เป็นเรื่องยุ่งยาก ดังนั้น สนช.จึงมีความคิดว่า เอากัญชาแยกออกมา เปลี่ยนบทบัญญัติบางประการ สนช.สามารถทำได้ เพราะไม่ใช่กฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเงิน อีกทั้งต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และผู้เกี่ยวข้องก่อนการตรากฎหมาย"
นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ในฐานะผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ กล่าวว่า ด้วยเงื่อนเวลาทำให้ต้องมีการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อแยกกัญชาและใบกระท่อม ให้ใช้ทางการแพทย์ก่อน คาดว่าจะสามารถเสนอสภาฯ ได้เดือนพฤศจิกายน อาจใช้เวลาในกรรมาธิการ 1-2 เดือน และทันเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทย
"จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ระหว่างวันที่ 1-15 ตุลาคม 2561 ทางเว็บไซต์สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสถิติผู้เข้ามากว่า 2.9 แสนคน มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น 1.6 หมื่นคน เห็นด้วยกับการปลดล็อคกัญชา 99.13% ไม่เห็นด้วย 0.84% และไม่แสดงความคิดเห็น 0.23% ซึ่งทั้งหมดมีทั้งผู้สนับสนุนและเห็นต่าง สนช.จะนำมาวิเคราะห์ต่อไป"
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สนช. กล่าวถึงการเสนอร่างกฎหมาย 44 สนช. เพื่อควบคุมและใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น รวมถึงเปิดโอกาสให้นำกัญชาไปวิจัยได้ เสพและครอบครองได้ก็ต่อเมื่อ ป.ป.ส.กำหนดเขตพื้นที่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ยาแผนปัจจุบันทุกวันนี้มีประสิทธิภาพจำกัด มีขีดจำกัดเรื่องการคุมอาการ หรือบรรเทา อีกทั้งประชาชนยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียง ยกตัวอย่าง การแก้ปวด พาราเซตามอล ยาแก้อักเสบ อาจทำให้หัวใจวาย ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ชาติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยาต่างๆที่ใช้อยู่ประชาชนเข้าถึงไม่ได้ เช่น ยามะเร็งคือยามุ่งเป้าเสียค่าใช้จ่าย 1.2 ล้านบาท ซึ่งไม่มีทางประชาชนใช้ได้ จึงเสนอกัญชาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เลย เชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ... ยังเรียกว่า ปลดล็อกไม่ได้ เพราะยังทำไม่สำเร็จ แต่เป็นการหาทางออกที่ติดขัดหลายประการจากกฎหมายประมวลยาเสพติด
“จากการเคลื่อนไหวกัญชา กระท่อม ไม่ใช่ยาเสพติดให้เป็นพืชเสพติดนั้น ได้ทำให้ความคิดคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป สนช.ทำร่างกฎหมายออกมาเพียงชั่วคราว เชื่อว่า จะเป็นคุณูปการกับประเทศอย่างใหญ่หลวง ซึ่งที่มาเลเซียไม่ถือกระท่อมเป็นยาเสพติด นี่คือสิ่งที่เราคิดต่อไปในอนาคตด้วยว่า อย่าทำให้กัญชา กระท่อมเป็นพืชเสพติดอีกเลย”
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา กล่าวว่า การแก้ไขเฉพาะหน้าของสนช. ก็ควรมีการเขียนไว้ในเหตุผลแห่งการแก้ไขกฎหมายด้วยว่า เพื่อให้มีการทำวิจัยราบรื่น ให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ป้องกันการผูกขาด การควบคุมดูแลให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เป็นของเถื่อนแบบเหล้าเถื่อน เพราะจะเป็นอันตราย และอนาคตกัญชา กระท่อมต้องไม่ใช่พืชเสพติดอีกต่อไป
“การปลดล็อกที่ผ่านมา ทางกระทรวงสาธารณสุข พยายามทำเรื่องของกัญชง และมีการให้มาขออนุญาต แต่เวลาเขียนกฎกระทรวงขึ้นมา ขั้นตอนการขออนุญาตยุ่งยากที่สุดในโลก และยังมีความผิดอยู่ ดังนั้น ขอความกรุณาอย่าเอาเรื่องของความผิดเป็นตัวตั้ง บ้านเราเราเขียนกฎหมายขึ้นจากคนเลว เขียนเพราะมีคนเลว จึงต้องควบคุม เมื่อไหร่เราจึงจะเขียนกฎหมายเพื่อคนดี คนที่ต้องการใช้บ้าง”
ขณะที่พลเรือเอกชาญชัย เจริญสุวรรณ นายกสภาการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก ให้โอกาสการแพทย์ประจำชาติ โดยเฉพาะสมุนไพรที่ใช้มากว่า 100 ปี ไม่ต้องวิจัยในสัตว์ทดลอง แต่บ้านเราเหมือนกับกีดกันการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาชาติเป็นสิ่งที่เราต้องรักษาไว้
"สิ่งถึงปลดล็อกทางการแพทย์ต้องปลดล็อกจริงๆ หากฎหมายออกมาเปิดโอกาสตรงนี้จริงหรือไม่ เพื่อความมั่นคงทางยา ตำรับยาไทยและสมุนไพรไทย"
นายไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงพืชกระท่อมนั้นอยากให้นำออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งจะเป็นมิติใหม่เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ต้องไปจับคนเล็กคนน้อย
สุดท้ายนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวแสดงความห่วงใย เมื่อกัญชา กระท่อมถูกปลดล็อก เพื่อใช้วิจัยทางการแพทย์ได้นั้น อาจจะมีการผูกขาดเกิดขึ้น โดยใช้มาตรการ และออกกฎเกณฑ์ขึ้นมามากมาย ดังนั้นต้องทำให้มีกฎเกณฑ์ออกมาน้อยที่สุด และนำมาใช้ได้เลย
"วันนี้มีคนแอบใช้เต็มเลยประเทศไทย ผมเสนอว่า ต้องปลดล็อกความผิดในอดีต คนที่ผลิตและใช้จริงด้วย" นายปานเทพ กล่าว และว่า ม.รังสิต ทำวิจัยกัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี ข่าวดีคือขณะนี้ทดลองในสัตว์ทดลองอยู่ และสามารถแยกสารสำคัญออกได้ 100% แล้ว แต่เมื่อไปขอจดอนุสิทธิบัตรปรากฎว่า ไม่สามารถจดได้เพราะเป็นยาเสพติด ขณะที่ประเทศอื่นจดไปหมดแล้ว ยิ่งเมื่อขอปลูกกัญชาเพื่อทดลอง เพื่องานวิจัย และนำไปพัฒนาต่อ ปรากฎว่า ปลูกไม่ได้ อ้างว่า ไม่มีระเบียบ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อแยกกัญชาและใบกระท่อม ให้ใช้ทางการแพทย์ก่อน อาจเป็นฉบับยั่งยืนก็เป็นได้
ขอบคุณภาพจาก:http://click.senate.go.th/?p=66188