“ล้มเหลว” แต่ไม่ “ล้มเลิก"
วัฒนธรรมที่เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้จริงนั้นต้องเริ่มต้นจาก “ความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะลงมือทำ และกล้าที่จะผิดพลาด” เพื่อที่จะ “เรียนรู้” จากความผิดพลาดนั้น
บนผนังที่ห้องโถงใหญ่ของบริษัท Apple ที่เมือง Cupertino รัฐ California ใกล้ๆกับมหาวิทยาลัย Stanford มีภาพของ Steve Jobs แขวนอยู่หลายภาพ ทั้งภาพสมัยหนุ่มๆที่เริ่มก่อตั้งบริษัท จนถึงภาพในช่วงหลังๆก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 2011
คงไม่เกินความจริงหากจะกล่าวว่า Steve Jobs และบริษัท Apple ที่เขากับ Steve Wozniak ร่วมกันก่อตั้ง ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในการนำเอาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ที่ล้ำยุคมาใช้ในชีวิตประจำวันด้วยรูปแบบที่ง่าย ลงตัว และดีไซน์ที่เรียบ หรู มีรสนิยม ผลิตภัณฑ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น Macbook, iPod, iPhone หรือ iPad ล้วนได้รับความนิยมและมีผลสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมหาศาล ส่งผลให้เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
ปรากฏการณ์ของ Apple ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากวิสัยทัศน์ และความรอบรู้ทั้งด้านเทคโนโลยี ศิลปะการออกแบบ และความเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค ตลอดจนความเพียรพยายามเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย
และผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวก็คือ Steve Jobs นั่นเอง
แม้จะถือได้ว่า Steve Jobs เป็นหนึ่งใน “สัญลักษณ์ของความสำเร็จ” ที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี แต่เบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขามีที่มาจาก “ความล้มเหลว” ครั้งแล้วครั้งเล่าของชีวิตก่อนหน้านั้น
Steve Jobs ไม่ได้มาจากครอบครัวที่เพียบพร้อมเลยตั้งแต่แรกเกิดเขาก็ถูกขึ้นทะเบียนเพื่อหาผู้รับเป็นบุตรบุญธรรม เขาเรียนไม่จบ ต้องถูกให้ออกกลางคัน แม้ต่อมาเขาจะประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆของการก่อตั้งบริษัท Apple ด้วยผลงานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล Apple I และ Apple II ในช่วงต้น ‘80 แต่ด้วยความเป็น perfectionist ของเขาทำให้เขามีปัญหามากในการทำงานร่วมกับคนอื่น และในที่สุดในปี 1985 เขาถูกบีบบังคับให้ออก หรือ “ไล่ออก” จากบริษัทที่เขาเองเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
Steve Jobs มาเปิดเผยในการปาฐกถาในพิธี Commencement ของ Stanford เมื่อปี 2005 ว่าการถูกไล่ออกจากบริษัทที่เขาตั้งขึ้นมาเองกับมือในครั้งนั้นมีผลกระทบทางจิตใจเป็นอย่างมาก เขาเกือบเลิกล้มความตั้งใจที่จะทำธุรกิจด้านนี้ต่อไป และเคยคิดที่จะย้ายออกจาก Silicon Valley เพื่อไปให้ไกลจากความอับอายและผิดหวังจาก “ความล้มเหลว” ของเขา
แต่หลังจากคิดไตร่ตรองทบทวนเหตุการณ์ เขาเปลี่ยนใจเพราะเริ่มเห็นมุมบวกของ “ความล้มเหลว”
“ความล้มเหลว” ได้ผ่อนคลายภาระจากความคาดหวังใน “ความสำเร็จ” ที่เขาต้องแบกอยู่ออกไป ทำให้เขาสามารถ “เริ่มต้นใหม่” ได้โดยปราศจากความกดดัน
ช่วงนั้นเขาว่างพอที่จะทบทวนเรียนรู้จากความผิดพลาด ความล้มเหลวยังทำให้เขาได้ไปเรียนวิชา “ศิลปะการออกแบบตัวอักษร” (calligraphy) ซึ่งส่งผลสำคัญให้อย่างใหญ่หลวงต่อทักษะและมุมมองด้านการออกแบบคอมพิวเตอร์และผลิตภัณฑ์ต่างๆของ Apple ในโอกาสต่อมา เมื่อเขาได้กลับมาเป็น CEO อีกครั้งในปี 1997 และนำ Apple ไปสู่ยุครุ่งเรือง
ว่ากันว่าหากเขาไม่ได้มีโอกาสเรียนวิชานี้ ทุกวันนี้หน้าจอคอมพิวเตอร์อาจจะยังคงเป็นตัวอักษรสีเขียว สีเหลืองที่มีไฟกระพริบๆอยู่ ไม่มี Icon น่าใช้อย่างที่เป็นอยู่ ที่ Apple นำมาปฏิวัติวงการก็เป็นได้!
……
ปาฐกถาเรื่อง “ความล้มเหลว” ที่นำมาสู่ “ความสำเร็จ” ของ Steve Jobs สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงวัฒนธรรม Entrepreneurial Spirit ของ Stanford และ Silicon Valley
วัฒนธรรมที่เชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้จริงนั้นต้องเริ่มต้นจาก “ความกล้าที่จะคิด กล้าที่จะลงมือทำ และกล้าที่จะผิดพลาด” เพื่อที่จะ “เรียนรู้” จากความผิดพลาดนั้น
ความจริงอาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้ที่จะ “เปิดใจรับความล้มเหลว” หรือ “Embracing Failures” เป็นคุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งของผู้แสวงหาความสำเร็จ และเป็นสิ่งที่อยู่ใน DNA ของ Stanford แต่ด้วยเหตุที่ผมคงจากไปนานจนความรู้สึกนี้เริ่มเลือนหายไป
เมื่อย้อนคิดกลับไปสมัยเรียนที่นี่ใหม่ๆ ผมรู้สึกว่าบรรยากาศของ Stanford ต่างจากสถาบันการศึกษาอื่นๆ ความแตกต่างนี้เป็นความรู้สึกที่สัมผัสได้ชัดเจน เพียงแต่ยากที่จะอธิบายให้เข้าใจ
ตอนแรกผมเข้าใจว่าคงเป็นเพราะบรรยากาศที่เป็นกันเอง ไม่มีพิธีรีตอง คณบดีและอาจารย์ใส่กางเกงยีนส์มาสอน ประกอบกับแสงอาทิตย์อันอบอุ่น ท้องฟ้าสวยสดใส และอากาศที่เย็นสบายเกือบตลอดปี ทำให้ที่นี่แตกต่าง แต่เมื่อพิจารณาแล้วไม่ใช่แค่บรรยากาศภายนอกเท่านั้นที่ทำให้ผ่อนคลาย ที่สำคัญยิ่งกว่าคือทัศนคติของผู้คนทั้งหลายที่พร้อมจะรับฟังและส่งเสริมให้กล้าที่จะคิดและแสดงความเห็นโดยไม่ต้องกลัวความผิดพลาด ทำให้สถาบันแห่งนี้ปราศจากรังสีอำมหิต ไม่ว่าที่ห้องเรียน ห้องสมุด หรือที่ใด
ความรู้สึก “ไม่ต้องรักษาฟอร์มให้ดูฉลาด ผิดพลาดก็ไม่เป็นไร” ที่อยู่ในทุกอณูของบรรยากาศนี้เองที่เป็นเสน่ห์สำคัญของ Stanford
……
การเดินทางคราวนี้นอกจากผมจะได้มีโอกาสได้กลับมาที่ The Farm อีกครั้งแล้ว ยังมีโอกาสไปเยี่ยมบริษัทชั้นนำใน Silicon Valley เช่น Apple ด้วย ทำให้ความรู้สึกเก่าๆเหล่านี้เริ่มกลับคืนมา
เกือบ 30 ปีในการทำงานเพื่อปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของผมหลังจากกลับจาก Stanford แม้ในที่สุดแล้วผมจะไม่สามารถจะระบุแม้สักเรื่องหนึ่งที่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าประสบความสำเร็จ แต่ผมสามารถยืนยันได้แน่นอนว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ “ลงมือทำ” มากที่สุด
ในแง่หนึ่งแม้จะ “ล้มเหลว” แต่ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มี “ประสบการณ์จริง” และ “บทเรียน” ว่าทำไมความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแต่ละเรื่องถึงล้มเหลว
ในช่วงแรกของการทำงานผมเน้นที่การปรับปรุงกฎหมาย ผมเข้าไปเป็นกรรมการและกรรมาธิการในการร่างกฎหมายหลากหลายชุดจนจำไม่หมด ได้มีโอกาสร่างตั้งแต่รัฐธรรมนูญ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาจนถึงกฎหมายปฏิรูปตำรวจ และผมยังเป็นผู้จัดการโครงการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของธนาคารโลก และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อีกด้วย แต่ในที่สุดผมก็พบว่าการมีกฎหมายที่ดีไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่ดีด้วย
ในเรื่องการจัดโครงสร้างระบบยุติธรรมที่กระจัดกระจายและไม่บูรณาการ ผมเข้ามามีส่วนพอสมควรในการปรับโครงสร้างกระทรวงยุติธรรม โดยยอมลดเงินเดือนเกือบครึ่ง โอนย้ายจากอัยการเพื่อมาเป็นข้าราชการพลเรือน ซี 9 ในกระทรวงยุติธรรมหลังจากศาลย้ายออก ที่ตอนนั้นมีแค่สำนักงานปลัดกระทรวง และอีกแค่ 2 หน่วยงานคือกรมคุมประพฤติ และกรมบังคับคดี เพื่อมาสร้างกระทรวงยุติธรรมที่หวังว่าจะมีหน่วยงานครบถ้วนเป็นสากลและทำงานอย่างบูรณาการ แต่ก็พบว่าการที่จะเป็นเช่นนั้นได้ต้องการมากกว่าแค่การนำหน่วยงานมาอยู่ภายใต้โครงสร้างกระทรวงเดียวกัน เรื่องของ “คน” หรือ “mindset” ในการทำงานร่วมกันสำคัญไม่น้อยกว่า “โครงสร้าง”
ที่จริงแล้วผมพอทราบแต่แรกว่าเรื่อง “คน” และ “mindset” เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญไม่น้อยกว่า “กฎหมาย” และ “โครงสร้าง” ผมจึงทุ่มเทช่วงเวลาตอนเย็นๆหลังเลิกงานต่อเนื่องมากว่า 20 ปีในการบรรยายและกำกับการทำวิทยานิพนธ์ทั้งปริญญาโทและเอกในหัวข้อกฎหมายวิธีพิจารณาและกระบวนการยุติธรรมในมหาวิทยาลัยและสถาบันทางการศึกษาหลายแห่ง โดยหวังว่าจะมีส่วนช่วยเผยแพร่แนวคิดและสร้างแนวร่วมในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แต่ก็พบว่าไม่มีพลังที่พอเพียงในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ความล้มเหลวของระบบการเมืองและระบบธรรมาภิบาลของประเทศก็มีผลกระทบอย่างสำคัญกับความพยายามในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย และยังลุกลามไปถึงความน่าเชื่อถือของ “หลักนิติธรรม” ทั้งระบบอีกด้วย ทำให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นความริเริ่มและการผลักดันของรัฐไม่สามารถเกิดขึ้นและประสบผลสำเร็จ และแนวทางที่ผมเคยเชื่อและปฏิบัติมาตลอดว่าควรจะทำงานอยู่ในระบบยุติธรรมเพื่อคอย “เปิดประตู” รับการเปลี่ยนแปลงใช้ไม่ได้ผล
……
ตอนได้พบกับ Professor Barbara Babcock อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผมอีกครั้ง เราคุยกันสนุกมาก ผมเล่าให้ท่านฟังอย่างละเอียดว่าได้ไปทำอะไรมาบ้างและทำไมถึงล้มเหลว ดูเธอไม่มีทีท่าผิดหวังเลยที่ผมทำไม่สำเร็จ เธอกลับบอกว่าผมน่าจะมี “บทเรียน” จาก “ความล้มเหลว” ว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดในประเทศไทยคนหนึ่งด้วยซ้ำ
ก่อนจากกันผมบอก Barbara ว่าการมา Stanford คราวนี้ผมได้มีโอกาสพบกับอาจารย์รุ่นใหม่ๆ ที่ Law School และที่ Hasso Plattner Institute of Design หรือ Stanford d.School ทำให้ผมมีไอเดียแล้วว่าถ้าจะต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหม่ในยุค disruptive technology นี้ควรจะทำอย่างไร แม้จะไม่สามารถบอกได้ว่าจะล้มเหลวอีกหรือเปล่า แต่อย่างน้อยผมน่าจะเขียนวิทยานิพนธ์ดีๆได้อีก 1 เล่ม
ผมจำได้ว่า Barbara บอกกับผมคล้ายๆกับที่เคยพูดเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนว่า “อย่าเสียเวลาเขียนเลย ลงมือทำเลยดีกว่า...”
แล้วต่อด้วยประโยคสุดท้ายที่ทำให้ผมมีรู้สึกฮึกเหิมว่า...
“ล้มเหลวไม่เป็นไรหรอกนะ แต่ต้องไม่ล้มเลิก”
กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
28 ตุลาคม 2561
ที่มา : เฟซบุ๊ก JustWrite