#MenForChange ยุติทำร้ายผู้หญิง! ‘นพ.ประกิต’ ชี้สูบบุหรี่ในบ้านเป็นความรุนแรง
ชูโครงการ #MenForChange ยุติทำร้ายผู้หญิง ‘นพ.ประกิต’ ชี้ บุหรี่-เหล้า ต้นเหตุทำร้ายจิตใจภรรยา แบกรับภาระรักษาป่วย เผยกม.ฟิลิปปินส์ กำหนดสูบในบ้านเป็นความรุนแรง ฟ้องร้องได้ ด้านนักวิชาการนิติศาสตร์สะท้อนสังคมวัฒนธรรมไทย สร้างกรอบความไม่เท่าเทียมชาย-หญิง
วันที่ 27 ต.ค. 2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการ #MenForChange #เราไม่ทำร้ายผู้หญิง ร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล ณ สวนปาล์ม ศาลาภิรมย์ (ศาลาแปดเหลี่ยม) สวนลุมพินี กรุงเทพฯ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า กฎหมายในประเทศฟิลิปปินส์กำหนดให้การสูบบุหรี่ในบ้านเป็นความรุนแรงรูปแบบหนึ่งในครอบครัว ซึ่งภรรยาสามารถฟ้องร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งห้ามสสามีสูบบุหรี่ในบ้านได้ ถือเป็นความก้าวหน้าทางกฎหมาย
“จากสถิติประเทศไทยมีผู้หญิงไม่สูบบุหรี่ 8 ล้านคน แต่ได้รับควันบุหรี่มือสอง และยังพบว่า สามีติดสุราและบุหรี่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ ข้อมูลยังระบุ สามีสูบบุหรี่อย่างเดียว 10 ล้านคน ขณะที่ทั้งกินเหล้าและสูบบุหรี่ 3.8 ล้านคน”
ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวต่อว่า การสูบบุหรี่ถือเป็นการทำร้ายร่างกายรูปแบบหนึ่ง โดยระยะยาว ผู้สูบจะเป็นโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง เส้นเลือกในหัวใจ ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจ โดยภรรยาจะเป็นห่วงสุขภาพของสามี อนาคตของครอบครัว และกังวลว่า ลูกจะติดบุหรี่ด้วย
“สถิติพบว่า หากพ่อสูบบุหรี่ในบ้าน เด็กจะติดบุหรี่เพิ่มมากกว่าพ่อที่ไม่สูบบุหรี่ในบ้านถึง 3 เท่า และเมื่อเจ็บป่วยจะสร้างภาระกับครอบครัว”
ศ.นพ.ประกิต ระบุถึงข้อมูลอีกว่า มีชายไทยรายได้ 6,000 บาท/เดือน จำนวน 6 แสนคน ต้องเสียค่าบุหรี่ 700 บาท/เดือน เกินร้อยละ 10 ของเงินเดือนที่ได้รับ ส่วนคนจนที่สุด รายได้ 2,000 บาท/เดือน เสียค่าบุหรี่ 500 บาท/เดือน สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมนำมาสู่วงจรทำให้เกิดความเครียด เรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง เกิดปัญหาทุบตี สุดท้าย ภรรยากลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบเสมอ ฉะนั้นวิธีแก้ปัญหาต้องไม่สูบบุหรี่และดื่มสุรา
“เราต้องสูญเสียผู้ชายจากบุหรี่ปีละกว่า 5 หมื่นคน แต่ละคนที่เสียชีวิตมีอายุสั้นกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 18 ปี และก่อนเสียชีวิตต้องป่วยหนัก 3 ปี กลายเป็นภาระแก่ภรรยาต้องดูแล” ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กล่าวถึงการรณรงค์หยุดทำร้ายผู้หญิง ในแง่กฎหมาย เกิดขึ้นจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมกับพื้นฐานทางสังคม โดยให้สังเกตบางประเทศที่มีวัฒธรรมยึดถือความเท่าเทียมกัน เวลาทำสิ่งใดมักจะเป็นไปในแนวเดียวกันกับวัฒนธรรม ผู้หญิงจึงมีความเท่าเทียมกับผู้ชาย ดังนั้นวัฒนธรรมและสังคมจึงเอื้อให้ออกกฎหมายออกมาได้ง่าย เช่นกรณีการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน
“สมมติเหตุเกิดในไทย หรือแม้กระทั่งประเทศมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างญี่ปุ่น ซึ่งมีวัฒนธรรมทางสังคมแตกต่างจากยุโรป ฉะนั้นการคุกคามทางเพศในที่ทำงานอาจถูกมองแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง กรณีผู้บังคับบัญชาผู้ชายจับไหล่ผู้ใต้บังคับบัญชาผู้หญิง เมื่อผู้หญิงเล่าเหตุการณ์ให้ใครฟัง ในวัฒนธรรมสังคมไทยอาจบอกว่า อย่าไปคิดอะไร ผู้ใหญ่เอ็นดู กลายเป็นการมองเรื่องความเอ็นดู แม้กระทั่งบางครั้งไปปรึกษาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง อาจได้รับคำปรึกษาว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ไม่เป็นไร เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ อยู่ห่าง ๆ ไว้”
นักวิชาการนิติศาสตร์ กล่าวต่อว่า เมื่อวัฒนธรรมและสังคมเป็นเช่นนี้ หากกลับไปดูกฎหมาย จะเห็นว่า ไทยยังขาดกฎหมายในลักษณะดังกล่าวที่เข้มงวด เพราะวัฒนธรรมและสังคมพร้อมจะปล่อยให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น ทั้งนี้ เห็นด้วยที่มูลนิธิเพื่อนหญิงเรียกร้องให้ผู้ชายเป็นผู้ออกมาเปลี่ยนไม่ทำร้ายผู้หญิง ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมก่อนออกกฎหมาย .
ขณะที่ นางธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวเสริมว่า ได้รณรงค์กับผู้ชายให้ลดทำร้ายผู้หญิง เพราะที่ผ่านมารณรงค์ผู้หญิงให้ปกป้องตนเองมาตลอด แต่กลับพบว่า ความรุนแรงยังไม่ลดลง อย่างไรก็ตาม จากสถิติปี 2560 ของมูลนิธิเพื่อหญิงและมูลนิธิพิทักษ์สิทธิสตรี เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกับผู้หญิงกว่า 1,500 กรณี โดยร้อยละ 80 ผู้หญิงถูกสามีทำร้ายทุบตี ร้อยละ 30 ถูกคุกคามทางเพศ ลวนลามอนาจาร ทั้งในที่ลับและเปิดเผย รวมถึงในสื่อออนไลน์ .