ศาลจำคุก1ปีแกนนำโฉนดชุมชนลำพูนอีก2ยกฟ้อง พีมูฟจี้รัฐเร่งธนาคารที่ดิน
ศาลฎีกาตัดสินจำคุก1ปีแกนนำโฉนดชุมชนลำพูน อีก2ยกฟ้อง เครือข่ายปฏิืรูปที่ดินจี้รัฐเร่งสานต่อโฉนดชุมชน-ธนาคารที่ดิน
สืบเนื่องจากคดีพิพาทที่ดินระหว่างชาวบ้านบ้านพระบาท อ.ป่าซาง จ.ลำพูน นักพัฒนาเอกชนกับนายทุน ซึ่งมีข้อพิพาทกันมาตั้งแต่ปี 2545 โดยจำเลยในคดี 3 คน ประกอบด้วยนายประเวศน์ ปันป่า แกนนำชาวบ้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปีต่อมาศาลอุทธรณ์ยืนตามนั้น ขณะที่นายรังสรรค์ แสนสองแคว แกนนำชาวบ้านในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่ดินชุมชนโดยชุมชน ปัจจุบันเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซางจำกัด และนายสืบสกุล กิจนุกร เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน สังกัดสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ทั้ง 2 คนศาลชั้นต้นยกฟ้องต่อมาศาลอุทธรณ์พลิกคดีตัดสินลงโทษ 4 ปี
วันที่ 6 มิ.ย.55 ที่ศาลจังหวัดลำพูน ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาคดีบุกรุกทำให้เสียทรัพย์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้หรือคดีที่ดินลำพูนต่อผู้ต้องหาทั้ง 3 คนดังกล่าว โดยมีกลุ่มเครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.)จำนวนกว่า 1,000 คน นำโดย นายประยงค์ ดอกลำใย รวมทั้งนักวิชาการจำนวนหนึ่งเข้าร่วมให้กำลังใจ
ศาลฎีกาพิพากษาตัดสินนายประเวศ ปันป่าโทษฐานร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา358,365(2) จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา เนื่องจากเห็นว่ามีหลักฐานภาพถ่ายที่แสดงให้เห็นว่าอยู่ในที่เกิดเหตุจริง ส่วนนายสืบสกุล กิจนุกร และนายรังสรรค์ แสนสองแคว ศาลเห็นว่าเนื่องจากมีพยานเพียงคนเดียวและอยู่ห่างจากพื้นที่ 10 กิโลเมตร รวมถึงไม่เคยเห็นจำเลยทั้งสองเข้าไปในพื้นที่เพียงแต่ฟังชาวบ้านเล่าจึงไม่ใช่พยานเชิงประจักษ์นอกจากนี้การที่จำเลยทั้งสองไปร่วมเรียกร้องข้อเรียกร้องต่างๆเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินในช่วงนั้น จึงเป็นการกระทำที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมายพิพากษาให้ยกฟ้อง
นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขปส. กล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า ตนและชาวบ้านรู้สึกหนักใจหลังคำพิพากษาออกมา จริงๆแล้วนายประเวศน์ควรได้รับการรอลงอาญา เพราะหลักฐานพยานไม่ชัดเจน เป็นผู้สูงอายุ ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน สุขภาพไม่ดีมีโรคประจำตัวเกรงว่าจะเสียชีวิตในเรือนจำซึ่งจะเจรจากับกรมราชทัณฑ์ให้มีการดูแลเป็นพิเศษหรือย้ายเรื่อนจำที่มีการดูแลในเรื่องพยาบาลที่ดีพร้อมทั้งจะเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็ว
"ต่อจากนี้คงเป็นการดำเนินการต่อในเรื่องข้อเรียกร้องของชาวบ้านในสิทธิที่ทำกินโดยจะมีการประสานรัฐบาลให้มีการดำเนินการเรื่องของธนาคารที่ดินที่มีการนำร่องไว้แล้วโดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมาในเงินงบประมาณที่มีอยู่แล้วประมาณ 176 ล้านบาท แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ดำเนินการต่อ ชาวบ้านทั่วประเทศส่อเค้าจะถูกดำเนินคดี เพราะเจ้าของที่ดินที่เขาอยากขายก็มี แต่รัฐไม่ชัดเจน ไม่เข้ามาเป็นตัวกลางให้เกิดการดำเนินการ เขาก็อาจจะฟ้องร้องเอาได้ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ชาวบ้านเรียกร้องมานานกว่า 15 ปี"ที่ปรึกษาขปส. กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีพิพาทที่ดินลำพูนยืดเยื้อมากว่า 10 ปี โดยชาวบ้าน 109 รายถูกฟ้องร้องในปี 2544 แต่พวกเขาระบุว่าที่ดินที่ถูกทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์เกินกว่า 10 ปีสามารถเข้าไปครอบครองปรปักษ์ได้ตามกฎหมาย และก็ได้ใช้ประโยชน์จนกลายเป็นต้นแบบพื้นที่โฉนดชุมชนของประเทศ
ทั้งนี้ชาวบ้านเคยร้องขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เข้าไปตรวจสอบย้อนหลังก่อนที่ชุมชนจะเข้าไปใช้ประโยชน์ พบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบในปี 2532 แต่คดีหมดอายุความแล้วไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ และผ่านมากว่า 10 ปีกรมที่ดินก็ยังไม่ได้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว
และวานนี้ (5 มิ.ย.55) คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกขององค์กรพัฒนาเอกชนและบุคคลในไทยและนานาชาติ ที่ขอให้รัฐบาลและรัฐไทยยุติการฟ้องคดีต่อกลุ่มนักเคลื่อนไหวให้มีการปฏิรูปเกษตรกรรมเหล่านี้ และ ให้ความสำคัญเร่งด่วนต่อการปฏิรูปที่ดินด้วยการจัดสรรที่ดินอย่างเท่าเทียม และแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินอย่างเป็นธรรมเพื่อประกันการดำรงชีพอย่างยั่งยืน ของเกษตรกรรายย่อยหลายแสนชุมชนทั่วประเทศ .
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ในข่าว "คกก.สิทธิฯเอเชีย-เอ็นจีโอนานาชาติ ร้องรัฐไทยยุติคดีนักเคลื่อนไหวปฏิรูปที่ดิน" http://bit.ly/McUXGe