สุทธาสินี แก้วเหล็กไหล: วิพากษ์ปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในอุ้งมือ 'ผู้มีอิทธิพล-นายหน้า'
"...แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เนื่องจากเขายินดีที่จะรับค่าจ้างที่ถูกกว่าแรงงานคนไทย ก็เลยมีผู้มีอิทธิพล มีนายหน้ารับเงิน แล้วก็หักเงินในส่วนที่แรงงานควรจะได้ เอาไปเป็นกำไรของตัวเอง พอแรงงานต่างชาติพวกนี้เขาไม่ยอม กลุ่มผู้อิทธิพลก็จะไปแจ้งความให้มาจับกุมแรงงานเหล่านี้ โดยอ้างว่าเขาเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก คนที่ไม่ได้ทำงานด้านสิทธิแรงงานนั้นอาจจะไม่มีทางเข้าใจได้ในเวลาสั้นๆ..."
ในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสื่อมวลชน ครั้งที่ 1/61 ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ณ โรงแรมแกรนด์ อินเตอร์ โฮเทล จ.สมุทรสาคร เมื่อเร็ว ๆ นี้
น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network - MWRN) กล่าวถึงสถานการณ์การใช้แรงงานที่ผิดกฎหมายของไทย ที่ปรากฎข้อมูลถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานต่อแรงงานข้ามชาติว่า “แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เนื่องจากเขายินดีที่จะรับค่าจ้างที่ถูกกว่าแรงงานคนไทย ก็เลยมีผู้มีอิทธิพล มีนายหน้ารับเงิน แล้วก็หักเงินในส่วนที่แรงงานควรจะได้ เอาไปเป็นกำไรของตัวเอง พอแรงงานต่างชาติพวกนี้เขาไม่ยอม กลุ่มผู้อิทธิพลก็จะไปแจ้งความให้มาจับกุมแรงงานเหล่านี้ โดยอ้างว่าเขาเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนี่เป็นปัญหาที่ซับซ้อนมาก คนที่ไม่ได้ทำงานด้านสิทธิแรงงานนั้นอาจจะไม่มีทางเข้าใจได้ในเวลาสั้นๆ"
น.ส.สุธาสินี ยังระบุด้วยว่า "แรงงานเหล่านี้ เวลาเขาเข้ามาในเมืองไทย ถ้าเขามีครอบครัว มีลูกมีเมีย แต่ถ้าเด็กบ้านเขาเกิดมา ตามกฎหมายเมืองไทย เขาก็จะต้องมีการจดทะเบียนการเกิด ต้องมีที่อยู่ที่เป็นหลักเป็นแหล่ง ถ้าหากเป็นบริษัทใหญ่ๆที่ดูแลดีมีสวัสดิการให้ครอบครัว เขาก็ยินดีที่จะให้เด็กที่เกิดมาไปเข้าชื่อในโรงงานของนายจ้าง"
"แต่มีกรณีหลายแห่งเขาก็ไม่ยอมให้ลูกของแรงงานไปเข้าชื่อในบ้านของนายจ้าง ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวพันไปถึงเรื่องการบริการสุขภาพด้วย เพราะถ้าเขาไม่มีทะเบียนบ้าน ตามกฎหมายเขาก็ต้องไปเข้าทะเบียนบ้านกลาง ซึ่งตอนนี้มีผู้อยู่ในทะเบียนบ้านกลางเกือบ 2 แสนคน ซึ่งตามระเบียนของกระทรวงมหาดไทยระบุว่าถ้าต้องไปเข้าทะเบียนบ้านกลาง ก็จะคัดทะเบียนบ้านไม่ได้ พอคัดทะเบียนบ้านไม่ได้ ก็จะไปขอใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของแรงงานไม่ได้"
"แม้ในปัจจุบันจะมีคำสั่งของกระทรวงมหาดไทยระบุว่าให้ลูกของแรงงานข้ามชาติมีสิทธิ์เข้าถึงการศึกษาได้ แต่พอเอาเข้าจริง หลายโรงเรียนก็ยังต้องการทะเบียนบ้าน ถ้าไม่มีทะเบียนบ้านก็เรียนหนังสือไม่ได้"
นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ รายนี้ ยังระบุด้วยว่า แม้ว่าจะมีศูนย์การเรียนรู้เกิดขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทำให้เด็กมีความรู้ได้เท่าเทียมกับที่เด็กไทยได้เรียนในโรงเรียน ไม่สามารถเอาความรู้ไปต่อยอดได้ หากกลับไปที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนแล้ว หรือในเรื่องสิทธิการลาคลอดของแม่
"บางโรงงานก็ไม่ได้ให้สิทธิเหล่านี้กับแรงงานข้ามชาติ หรือไม่มีศูนย์เลี้ยงดูเด็กเล็กให้ ดังนั้นเมื่อเด็กเกิดมาก็ต้องเอาไปฝากเลี้ยง เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง ไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องส่งลูกไปอยู่กับครอบครัวที่ประเทศต้นทาง ทำให้ครอบครัวไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้"
"ประเทศไทยประกาศมาตลอดว่าต้องการที่จะเป็นแชมป์ในด้านของธุรกิจกับสิทธิมนุษย์ชน เรากำลังจะมีแผนปฏิบัติการณ์ชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ธุรกิจต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ดังนั้นหากมีการละเมิดในเบื้องต้นแล้ว ภาครัฐก็ควรที่จะมีการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นด้วย” นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวย้ำ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุภาพประกอบ น.ส.สุธาสิณีจากเว็บไซต์ https://www.thailandplus.tv/?p=10958