One Belt One Road เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
การขับเคลื่อน One Belt, One Road ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำ ที่จะตระหนักถึงประโยชน์ของการพึ่งพาซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆ ในโลก การขับเคลื่อนโครงการต่างๆ อย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม เน้นการแบ่งปันผลประโยชน์ การมองข้ามปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เราอาจไม่สามารถนำเอาประโยชน์จาก One Belt, One Road มาใช้ได้อย่างที่ตั้งใจ
วันที่ 25 ตุลาคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาพิเศษก้าวเข้าสู่ 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ:"เส้นทางสายไหมของจีนกับการเดินหน้ากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT)" ณ ห้อง LA107 ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยรศ.ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวรายงานถึงการพัฒนา One Belt One Road เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ช่วยให้เกิดการพัฒนาในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง
จากนั้น รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเส้นทางสายไหมของจีน หรือ Silk Road ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเส้นทางการค้า เส้นทางวัฒนธรรมของชาวจีน ที่ผ่านจากภูมิภาคเอเชียเพื่อเชื่อมต่อกับภูมิภาคอื่นๆของโลกมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ในศตวรรษที่ 14 เหตุที่มีชื่อเรียกว่าเส้นทางสายไหม เพราะชาวจีนจำนวนมากสามารถสร้างกำไรจากการค้าผ้าไหมตลอดเส้นทางนี้
อย่างไรก็ตามเส้นทางสายไหมไม่เพียงแต่ถูกใช้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังถูกใช้เพื่อเผยแพร่วัฒธรรม ปรัชญา และแนวคิดของจีนอีกด้วย
วันนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน พยายามยกระดับความสำคัญของ Silk Road ให้ครบวงจรให้เกิดการเชื่อมโยงทั้งทางบก และทางทะเลอย่างสมบูรณ์แบบ ภายใต้โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือเส้นทางสายไหมใหม่ ที่เรารู้จักกันในชื่อ One Belt, One Road Initiative (BRI) ที่ได้เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2560 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งทางบกก็จะเป็นทางถนน และทางรถไฟ เริ่มจากซีอานของจีน มุ่งหน้าไปทางประเทศทิศตะวันตก แต่ One Belt, One Road ทางทะเล ก็จะเป็นเส้นทางทางทะเล จากอู๋โจวของจีน มุ่งหน้าลงใต้ และเข้าสู่ทิศทางตะวันตกเชื่อมโยงเอเชีย แอฟริกา และยุโรป และเส้นทางสองเส้นก็จะไปบรรจบกันที่เวนิส ประเทศอิตาลี
One Belt, One Road เป็นอภิมหาการลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เกือบตลอด 10 ปี เกี่ยวข้องกับ 65 ประเทศ ครอบคลุมเกือบร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวมทั้งโลก เกี่ยวข้องกับประชาชนเกือบร้อยละ 62 ของประชากรโลก เกี่ยวข้องกับแหล่งพลังงานกว่า 3 ใน 4 ของแหล่งพลังงานรวม (ข้อมูลจากธนาคารโลกปี 2018)
รศ.เกศินี กล่าวว่า เมื่อโครงการ One Belt, One Road สำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ย่อมส่งผลอย่างมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจของโลก ลดต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศ การเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างประเทศต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และทำให้ประเทศต่างๆ ได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวดังกล่าว
"ประเทศต่างๆ พยายามไปมีส่วนร่วมในเครือข่ายความเชื่อมโยงที่พัฒนาขึ้นโดย One Belt, One Road ของจีน กรณีของไทย แม้จะไม่ได้อยู่ในเส้นทางหลักของ One Belt, One Road ก็ตาม แต่ประเทศไทยเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในระเบียงเศรษฐกิจจีน คาบสมุทรอินโดจีน ที่เชื่อมระหว่างเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล(Pearl River Delta) กับประเทศในอนุภูมิภาค ลุ่มแม่น้ำโขง และได้พัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมกรุงเทพ นครราชสีมา และขยายไปยังหนองคาย เชื่อมโยงกับประเทศลาว ที่เป็นส่วนหนึ่งของรถไฟสายคุณหมิง สิงคโปร์ โดยระยะแรก 250 กิโลเมตรแรกนั้น คาดว่าเปิดให้บริการได้ปี 2564 ที่เหลือเชื่อมไปยังหนองคายและลาวอีก 623 กิโลเมตร"
อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนให้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นเรื่องที่ท้าทาย ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ ถนน ท่อส่งก๊าซ ประเทศต่างๆกว่า 65 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับ One Belt, One Road มีการพัฒนาที่แตกต่างกัน อาจทำให้โครงการ One Belt, One Road มีปัญหา และความท้าทายที่แตกต่างกัน ไม่ได้มีปัญหาการขาดแคลนเงินทุนเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณามิติอื่นๆ ร่วมด้วย
ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนาที่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยังมีจำกัด การเข้าไปมีส่วนร่วมใน One Belt, One Road ต้องการเงินลงทุนมหาศาล และการบริหารจัดการเงินทุนให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การลงทุนดังกล่าวประสบความสำเร็จไม่กลายเป็นภาระหนี้สาธารณะในระยะยาวของประเทศ
การขับเคลื่อน One Belt, One Road ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศที่จะตระหนักถึงประโยชน์ของการพึ่งพาซึ่งกันและกันของประเทศต่างๆ ในโลก ที่โลภาภิวัฒน์ได้เชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกันอย่างไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้นการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างโปร่งใส เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม มุ่งเน้นไปที่การแบ่งปันผลประโยชน์ การมองข้ามปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้เราอาจไม่สามารถนำเอาประโยชน์จากโครงการ One Belt, One Road มาใช้ได้อย่างที่ตั้งใจ
ขอบคุณภาพจาก:https://www.facebook.com/tcjapress/