รวมความเคลื่อนไหวในบริบทชายแดนใต้ช่วงผู้นำมาเลย์เยือนไทย
ภารกิจเดินทางเยือนไทยของผู้นำมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด ระหว่างวันที่ 24-25 ต.ค.61 ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้เกี่ยวข้องทั้งในและนอกพื้นที่
จึงไม่น่าแปลกใจว่านับตั้งแต่ก่อนเดินทางถึงประเทศไทยของ ดร.มหาธีร์ กระทั่งคล้อยหลังกลับไป มีกิจกรรมหลากหลายที่เกี่ยวกับชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นในและนอกพื้นที่ ทั้งอาศัยจังหวะเวลาช่วงนี้ และเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกันพอดิบพอดีอย่างลงตัว
เริ่มจากวันอังคารที่ 23 ต.ค. ก่อนผู้นำมาเลเซียเดินทางถึงไทย ผู้นำสององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต คือ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ กลุ่มด้วยใจ ได้ส่งจดหมายถึง ดร.มหาธีร์ เรียกร้องให้สองประเทศร่วมกันนำพาสันติภาพสู่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมุ่งเคารพสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม เพราะจะช่วยรักษาชีวิตผู้บริสุทธิ์
"ในห้วงเวลา14 ปีที่มีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ กล่าวคือพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีข้อกล่าวหาเรื่องการทรมาน การควบคุมตัวโดยพลการ การฆ่านอกระบบกฎหมาย ร้องเรียนต่อองค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง ประชาชนในพื้นที่ประสบกับสภาวะทางจิตใจที่เกิดจากความรุนแรง หดหู่ ซึมเศร้า และความเครียดอย่างหนัก การพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนที่สุด"
"ในโอกาสที่ท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐมาเลเซียได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เราเชื่อว่าการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนนั้นเริ่มต้นด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ความตั้งใจจริงของทั้งสองประเทศจะคุ้มครองปกป้องชีวิตผู้บริสุทธิ์ซึ่งสำคัญมากในสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และจะนำพาให้ภาคใต้สุดของไทยและภาคเหนือสุดของมาเลเซียนั้นแปรเปลี่ยนเป็นสันติภาพให้กับประชาคมอาเซียนได้อย่างแท้จริง" แถลงการณ์ระบุตอนหนึ่ง
ต่อมาในช่วงคืนวันที่ 23 ต.ค.ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 24 ต.ค. มีความเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมีกลุ่มบุคคลลึกลับตระเวนพ่นสีบนถนน คอสะพาน และหลักกิโลเมตร เป็นคำภาษามาเลย์ อ่านว่า "เมอร์เดก้า" แปลว่า "อิสระ" หรือ "เอกราช" โดยจุดที่มีการพ่นสี ก็เช่น หลักกิโลเมตรใน ต.สุวารี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส, คอสะพาน ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา เจ้าหน้าที่คาดว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่ต้องการประกาศตัวตนให้เป็นข่าวในช่วงที่ผู้นำมาเลเซียเดินทางเยือนไทย
อีกด้านหนึ่ง ที่หน้าสถานกงสุลมาเลเซียประจำประเทศไทย จ.สงขลา กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ภาคประชาชนชาวไทยพุทธ-มุสลิม" ได้ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือ พร้อมถือป้ายเรียกร้องให้ประเทศมาเลเซียดำเนินการกดดันและเลิกให้การช่วยเหลือหรือให้สถานที่พักพิงแก่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ก่ออาชญากรรมในพื้นที่ภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทย เพื่อรักษาความเป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการเดินทางเยือนไทยของผู้นำมาเลย์ แต่มาเกิดเรื่องในช่วงนี้พอดี ก็คือ เหตุการณ์อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) นายหนึ่ง ล่วงละเมิดเด็กหญิงชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนบ้านค่าย ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี แม้เมื่อเรื่องแดงขึ้น อส.ทพ.รายนี้ได้ถูกสั่งปลดและสั่งให้ออกจากราชการไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ต.ค. พร้อมดำเนินคดีอาญาที่ สภ.หนองจิก แต่ล่าสุดชาวบ้านในชุมชนบ้านค่ายยังไม่พอใจ จึงได้รวมตัวกันในวันที่ 25 ต.ค. ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ เพราะกลัวเกิดเหตุร้ายซ้ำรอยเดิมอีก
นอกจากนั้นยังเรียกร้องให้แม่ทัพภาคที่ 4 แถลงขอโทษต่อประชาชนในหมู่บ้านให้ได้รับรู้โดยทั่วกันด้วย!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ร่องรอยการพ่นสีเป็นคำว่า MERDEKA หรือ "เอกราช"
2 ภาคประชาชนชาวไทยพุทธ-มุสลิม เรียกร้องให้มาเลเซียหยุดให้ที่พักพิงผู้ก่อเหตุรุนแรง
3 ชาวชุมชนบ้านค่ายแถลงการณ์เรียกร้องให้ถอนทหารพ้นชุมชน
อ่านประกอบ : 2 เรื่องร้องเรียน จนท.ชายแดนใต้ในกระแส ผบ.ทบ.กำชับวินัยกำลังพล