มหาธีร์ มูฮัมหมัด: ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่าง ไทย -มาเลเซีย ในบริบทของอาเซียน
"...ประเทศมาเลเซียไม่เคยมองว่าการที่ประเทศไทยใหญ่กว่าเป็นอุปสรรคของความสัมพันธ์แต่อย่างใด หลังจากที่ประเทศมาเลเซียได้ดิ้นรนจนได้รับเอกราชมาจากอังกฤษและต้องต่อสู้กับภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่คอยช่วยเหลือมาเลเซียมาโดยตลอด เช่นเดียวกับปัญหาในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซียรู้สึกว่าเป็นหน้าที่และเราก็ได้ช่วยเหลือประเทศไทยแก้ปัญหาความไม่สงบมาโดยตลอดเช่นกัน โดยใช้วิธีพูดคุยกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบ เพื่อหวังจะให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งเหตุผลที่เราต้องมีความร่วมมือระหว่างกันนั้น ก็เป็นเพราะว่าทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซียต่างก็ล้วนเป็นประเทศที่ใหญ่ที่และมีอิทธิพลภูมิภาคอาเซียน..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 25 ต.ค. เวลา 15.00 น. ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.มหาธีร์ มูฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Malaysia – Thailand Bilateral Relations in the context of ASEAN” หรือแปลเป็นไทยว่า ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่าง ไทย และมาเลเซีย ในบริบทของอาเซียน
โดย ดร.มหาธีร์ ได้กล่าวตอนหนึ่งว่า แม้ว่าประเทศมาเลเซียจะเริ่มเป็นประเทศอย่างแท้จริงในปี 2500 แต่จริงๆ แล้วประเทศมาเลเซียมีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาตั้งแต่ยังเป็นนครรัฐมาเลย์ และประเทศไทยยังใช้ชื่อว่าสยาม ซึ่งที่ผ่านมาทั้ง 2 ประเทศต่างก็มีความเคารพในอธิปไตยของกันและกันมาโดยตลอด แม้ว่าจะมีช่วงเวลาที่ทั้ง 2 ประเทศมีประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่บ้าง
ประเทศมาเลเซียไม่เคยมองว่าการที่ประเทศไทยใหญ่กว่าเป็นอุปสรรคของความสัมพันธ์แต่อย่างใด หลังจากที่ประเทศมาเลเซียได้ดิ้นรนจนได้รับเอกราชมาจากอังกฤษและต้องต่อสู้กับภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่คอยช่วยเหลือมาเลเซียมาโดยตลอด เช่นเดียวกับปัญหาในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซียรู้สึกว่าเป็นหน้าที่และเราก็ได้ช่วยเหลือประเทศไทยแก้ปัญหาความไม่สงบมาโดยตลอดเช่นกัน โดยใช้วิธีพูดคุยกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบ เพื่อหวังจะให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งเหตุผลที่เราต้องมีความร่วมมือระหว่างกันนั้น เป็นเพราะว่าทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซียต่างก็ล้วนเป็นประเทศที่ใหญ่ที่และมีอิทธิพลภูมิภาคอาเซียน
ทั้งประเทศไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และต่อมาก็รวมถึงอินโดนีเซีย ต่างก็มีเจตจำนงค์ในแผ่นดินของตัวเองร่วมกัน และนี่ก็คือเหตุผลที่ทั้งหมดรวมตัวกันตั้งประชาคมอาเซียนขึ้นมา เพื่อจะสร้างความตกลงร่วมกันอย่างสันติในการแก้ปัญหาต่างๆ และในเวลาต่อมา ก็มีอีกหลายประเทศในเข้ามาร่วมในอาเซียน จนตอนนี้มี 11 ประเทศแล้ว ซึ่งบริบทการทำงานของอาเซียนนั้นก็ประสบความสำเร็จด้วยดีตลอด และสามารถแสดงตัวอย่างให้ชาวโลกให้เห็นได้แล้วว่าการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นสามารถทำได้ด้วยความสันติ มากกว่าการใช้ความรุนแรง
เช่นเดียวกับกรณีการแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากร ประเทศไทยกับมาเลเซียนั้น ก็มีความตกลงกันว่าจะมีการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ได้มาในพื้นที่พัฒนาร่วมกันอย่างเหมาะสม โดยมีการก่อตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Authority) มีวัตถุประสงค์ เพื่อการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย โดยมีหลักการที่สำคัญคือ บรรดาค่าใช้จ่ายขององค์กรร่วมที่จ่ายไป และผลประโยชน์ที่องค์กรร่วมได้มา จากกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รัฐบาลทั้งสองจะแบ่งปัน โดยเท่าเทียมกัน (50:50)
หรือในกรณีประเทศสิงคโปร์เอง ที่ผ่านมาประเทศมาเลเซียก็ได้ให้ความเคารพในการตัดสินใจและในอธิปไตยของสิงคโปร์มาโดยตลอด และไม่เคยมองว่าเป็นแค่ประเทศเกาะเล็กๆเท่านั้น
*****************
"...การลดความเหลื่อมล้ำก็คือการสร้างนโยบายให้คนยากจนได้พัฒนาตัวเอง ให้มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง อาทิ ครอบครัวคนจนถ้าไม่สามารถส่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ลูกก็จะไม่ได้เรียนสูงๆและจะไม่ได้ทำงานดีๆ ในที่สุดเขาก็จะกลับไปสู่ความยากจน ไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนนี้ไปได้ ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้เขาเข้าถึงการศึกษาตรงนี้ให้ได้..."
*****************
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ต่อมามีการเปิดให้ผู้ที่ร่วมงานได้ตอบข้อซักถามต่างๆ
โดยมีคำถามหนึ่งถามว่า ในประเทศไทยนั้นไม่เห็นนโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ถ้าเป็นมาเลเซียจะมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง
ดร.มหาธีร์กล่าวว่าการลดความเหลื่อมล้ำก็คือการสร้างนโยบายให้คนยากจนได้พัฒนาตัวเอง ให้มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง อาทิ ครอบครัวคนจนถ้าไม่สามารถส่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ลูกก็จะไม่ได้เรียนสูงๆและจะไม่ได้ทำงานดีๆ ในที่สุดเขาก็จะกลับไปสู่ความยากจน ไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนนี้ไปได้ ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้เขาเข้าถึงการศึกษาตรงนี้ให้ได้
ต่อคำถามเรื่องมุมมองของ ดร.มหาธีร์กับเพศที่ 3 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดร.มหาธีร์ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าความเชื่อดังกล่าวนั้นขัดต่อความเชื่อท้องถิ่นอย่างไรบ้าง ประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้นรับค่านิยมต่างๆของตะวันตกเข้ามามากมายรวมถึงค่านิยมในเรื่องเพศที่ 3 ด้วย แต่เราก็ต้องดูว่าบางอย่างนั้นเหมาะสมกับประเทศในภูมิภาคหรือไม่ เช่นต่างประเทศสามารถเดินแก้ผ้าได้ แล้วเราล่ะควรจะสามารถเดินแก้ผ้าได้บ้างหรือไม่
ประเทศมาเลเซียในขณะนี้มีประเด็นในเรื่องค่านิยมท้องถิ่น ศาสนา และความเชื่อต่างๆที่เป็นของดั้งเดิม ดังนั้นการจะเอาค่านิยมการยอมรับต่อเพศที่ 3 ของตะวันตกมาใช้กับประเทศมาเลเซีย ก็คงจะทำไม่ได้ คงจะต้องประยุกต์ให้เข้ากับวัฒนธรรมของประเทศมาเลเซียด้วย
เมื่อมีคำถามถึงปัญหาของกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา ซึ่งสร้างปัญหาก่อการร้ายไปทั่วโลก รวมไปถึงปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย ดร.มหาธีร์กล่าวว่าปัญหาเรื่องความขัดแย้งความไม่สงบนั้น รากเหง้าไม่ได้เกิดมาจากเนื้อหาของศาสนา แต่เกิดมาจากผู้ที่ได้รับความอยุติธรรม เช่นประเทศที่ถูกฝั่งตะวันตกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เขาก็ต้องต่อสู้เพื่อแสดงออก ซึ่งจะให้เขาไปต่อสู้แบบปกติก็คงไม่ได้ เพราะว่าคุณภาพอาวุธสู้ผู้ที่กดขี่เขาไม่ได้ ดังนั้นเขาก็ต้องหาแนวทางต่อสู้อื่นๆเพื่อแสดงความไม่พอใจที่เขาได้รับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาเรื่องความแตกแยกในโลกนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องศาสนา แต่เป็นเพราะว่าผู้ที่โกรธแค้นจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
เมื่อมีคำถามว่าในปีหน้า ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน คาดหวังอย่างไรกับประเทศไทยในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนบ้าง ดร.มหาธีร์กล่าวว่า หากดูจากข้อมูลจะพบว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้นต้องนำเข้าสิ้นค้าโดยเฉพาะจากประเทศจีนเป็นหลัก แต่ก็หวังว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้นจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อการบริโภค ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ผลิตสินค้า มากกว่าที่จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าเพียงอย่างเดียว
"อาเซียนนั้นมีประชากรเป็นจำนวนมากขึ้น 6 ร้อยกว่าล้านคน ถ้าเราผลิตสินค้าเองได้ก็มั่นใจเลยว่าจะมีตลาดอาเซียนที่เปรียบเสมือนว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่มารองรับสินค้าอย่างแน่นอน และก็จะเป็นการพัฒนาศักยภาพของเราด้วย ยกตัวอย่างเช่นรถของประเทศญี่ปุ่น เขาก็ผลิตเองตั้งแต่เมื่อก่อนแต่คุณภาพไม่ค่อยดี แต่ในเวลาต่อมา ญี่ปุ่นก็ยังผลิตรถยนต์ออกมาเรื่อยๆ จนในที่สุดรถยนต์ญี่ปุ่นก็พัฒนามากขึ้น จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ดังนั้นถ้าหากประชาคมอาเซียนสามารถเป็นผู้ผลิตได้แล้วนั้น เราก็จะมีโอกาสร่วมกันที่จะพัฒนาไปได้เหมือนกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือว่าประเทศจีน" ดร.มหาธีร์ระบุ