เสี้ยวชีวิต พอล อัลเลน : บุรุษผู้ร่ำรวยความคิด
"...การเสียชีวิตของ พอล อัลเลน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทำให้ บิล เกตส์ ซึ่ง อัลเลน เคยพูดว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดจากซีแอตเติล ออกมากล่าวแสดงความเสียใจว่า “ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มี พอล อัลเลน” บางคนยกย่องเขาว่าเป็นนักบุญแห่งเมืองซีแอตเติล เทียบได้กับ เดล คาร์เนกีร์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญแห่งพิตส์เบิร์ก..."
ถ้าพูดถึงพ่อมดแห่งวงการคอมพิวเตอร์ใครต่อใครมักนึกถึงชื่อ บิล เกตส์ แห่งบริษัทไมโครซอฟ หรือไม่ก็ สตีฟ จ็อบส์ แห่ง บริษัท แอปเปิล แต่ถ้าเอ่ยนาม พอล อัลเลน(Paul Allen) คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆอาจไม่รู้จักหรืออาจไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไปทั้งๆที่เขาคือคู่หูของ บิล เกตส์ ที่ช่วยกันก่อตั้ง บริษัท ไมโครซอฟ มาด้วยกันตั้งแต่เริ่มต้นจนประสบความสำเร็จและครองโลกแห่งซอฟแวร์มาจนถึงทุกวันนี้ ชื่อของเขากลับมาให้ผู้คนได้ยินอีกครั้งเมื่อเขาเสียชีวิตลงไม่กี่วันที่ผ่านมาด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในวัย 65 ปีหลังจากได้ต่อสู้กับโรคร้ายมาตั้งแต่ 36 ปีก่อน
เขาเล่าเรื่องราวของเขาไว้ในหนังสือชื่อ “ Paul Allen : Idea Man ” ที่เขาเขียนขึ้นและตีพิมพ์เมื่อปี 2011 ว่า “เขาโชคดีที่ได้เกิดมาในยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ หากเขาเกิดก่อนหน้านี้ห้าปี เขาอาจจะไม่มีความอดทนที่จะทำงานกับระบบการประมวลผลคอมพิวเตอร์รุ่นเก่าหรือหากเขาเกิดช้ากว่านี้สักห้าปีเขาก็อาจจะพลาดโอกาสในการทดลองสิ่งใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นเพราะระบบการประมวลผลที่เรียกว่าระบบแบ่งเวลา(Time – sharing) ได้ถูกนำมาใช้ในคอมพิวเตอร์แล้ว” นี่คือช่วงเวลาอันประจวบเหมาะที่ทำให้เขาได้สนุกสนานและใช้ความคิดกับคอมพิวเตอร์จนกลายเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา
มิใช่ พอล อัลเลนเท่านั้นที่ได้เกิดมาในช่วงเวลาอันเหมาะสม ทั้ง บิล เกตส์ และ สตีฟ จ็อบ ต่างเป็นบุคคลที่เกิดร่วมยุคกัน ผนวกกำลังกับนักเทคโนโลยียุคแรกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ของสหรัฐอเมริกาและของโลกให้ก้าวหน้ามาจนถึงบัดนี้
เมื่ออายุ 12 ปี อัลเลน ได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนเลคไซด์ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนที่มีชื่อเสียงของเมืองซีแอตเติล ด้วยความสนับสนุนของพ่อแม่ แม้ว่าค่าเทอมที่นี่ค่อนข้างแพงสำหรับครอบครัวของเขาก็ตาม เพราะพ่อและแม่ของเขาเห็นว่าโรงเรียน เลคไซด์คือโอกาสที่ดีของลูกในการเรียนรู้สิ่งที่ดีจากโรงเรียนแห่งนี้
พอล อัลเลน เล่าถึงชีวิตในโรงเรียนเลคไซด์ว่า เพื่อนร่วมชั้นของเขาจำนวน 48 คนนั้น มาจากครอบครัวที่มีฐานะ หลายคนเป็นลูกนายธนาคาร นักธุรกิจ นักกฎหมายและลูกศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย แห่งวอชิงตัน ซึ่งพวกนักเรียนเหล่านี้มักรู้จักกันมาก่อนจากโรงเรียนภาษาหรือไม่ก็จากสโมสรเทนนิสของเมืองซีแอตเติล นักเรียนที่นี่จึงเป็นพวกมีทักษะและความรอบรู้หลายอย่างที่ตัวเขาไม่มี
เมื่อพูดถึงครู อัลเลน เล่าว่า ครูที่นี่เป็นครูที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้นและมีความมุ่งมั่นในการถามคำถามครั้งแล้วครั้งเล่า เว้นแต่ครูสอนภาษาฝรั่งเศสที่ค่อนข้างไม่ปกติเพราะเมื่อใครก็ตามที่ผันคำภาษาฝรั่งเศสด้วยความไม่ระมัดระวังจะได้รับการตอบโต้ด้วยแท่งชอล์กหรือไม่ก็แปรงลบกระดานซึ่งไม่ต่างจากโรงเรียนบางแห่งและครูบางคนของเมืองไทยในยุคเดียวกัน
ในช่วงปี 1967 คำว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังอยู่ในกระแสของนิยายวิทยาศาสตร์ อัลเลน ได้เก็บเกี่ยวความรู้และจินตนาการจากนิยายวิทยาศาสตร์ เช่น I, Robot ของ Isaac Asimov และ Colossus นิยายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ขนาดมหึมาของอังกฤษที่กำลังจะครองโลก นอกจากนวนิยายต่างๆแล้วหนังสือพิมพ์ในช่วงนั้นยังเต็มไปด้วยข่าวพาดหัวเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น “ คอมพิวเตอร์กำลังจะครองโลก” หรือไม่ก็ “ยุคของรัฐบาลอัตโนมัติได้มาถึงแล้ว” เป็นต้น
นอกจากกระแสของคอมพิวเตอร์ที่อยู่รอบตัวแล้ว ครูที่โรงเรียนเลคไซด์ยังมีส่วนทำให้ พอล รู้จักกับคอมพิวเตอร์ เพราะครูบางคนเห็นว่าการเรียนในตำราโดยปราศจากประสบการณ์จริงในโลกนั้นไม่เพียงพอและครูยังเห็นความสำคัญของคอมพิวเตอร์และเห็นว่านักเรียนควรได้เรียนรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก่อนที่จะเรียนต่อระดับสูงด้วย
แรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นเมื่อวันหนึ่งครูได้นำคู่มือภาษา Basic มาให้เขาพร้อมโจทย์สองสามข้อ ในชั่วโมงแรกที่เขาสัมผัสกับภาษา Basic เขารู้สึกว่าเป็นภาษาที่แปลก เขาใช้เวลาราวสองวันในการทำความเข้าใจและในที่สุดเขาก็เข้าใจภาษา Basic อย่างทะลุปรุโปร่งและเห็นว่าภาษาคอมพิวเตอร์ง่ายกว่าภาษาฝรั่งเศสเสียอีก
จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งเกิดขึ้นขณะที่เขาเดินเพื่อไปเข้าชั้นเรียน เขาต้องหยุดมองเมื่อเห็นเด็กชายสามคนอยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยหนังสือคู่มือ กระดาษโน้ตและม้วนเทปกระดาษสีเหลืองกระจัดกระจายอยู่ในห้อง พวกเด็กๆกำลังสาละวนอยู่กับเครื่องโทรพิมพ์ซึ่งต่อเชื่อมเข้ากับคอมพิวเตอร์แบบเมนเฟรมยี่ห้อ GE ซึ่งตั้งอยู่อีกสถานที่หนึ่ง ความรู้สึกของ อัลเลนในตอนนั้นเหมือนกับถูกตรึงอยู่กับที่ด้วยความประหลาดใจ เขารู้สึกได้ในทันทีว่าสามารถที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างมายจากเครื่องจักรชิ้นนี้และภายหลังเมื่อได้คลุกคลีกับเครื่องโทรพิมพ์อย่างเอาเป็นเอาตายและการได้เขียนโปรแกรมง่ายๆทำให้ อัลเลน ค้นพบตัวเองว่า เขาคือ “โปรแกรมเมอร์”
ที่โรงเรียน เลคไซด์ อัลเลน ได้พบกับหนุ่มน้อยผมบลอนด์ ชื่อ บิล เกตส์ ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเขาสองปี อัลเลน เล่าว่า บิล เกตส์ มีบุคลิกโดดเด่นอยู่สามอย่าง คือ ฉลาดหลักแหลม มุ่งมั่นสู่ความสำเร็จและเสมอต้นเสมอปลาย ทั้งคู่ต่างสนใจการทำงานของเครื่องโทรพิมพ์ของโรงเรียนและบ่อยครั้งที่ภายในห้องโทรพิมพ์เหลือพวกเขาทำงานอยู่แค่สองคน พอล อัลเลน และ บิล เกตส์ จึงกลายเป็นคู่หูกัน การเรียนและประสบการณ์ที่โรงเรียนเลคไซด์จึงเป็นเสมือนรากฐานสำคัญต่ออาชีพของคนทั้งสองในเวลาต่อมา
บิล เกตส์ เป็นหนุ่มน้อยที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะดี เขามักชอบอ่านนิตยสาร Fortune ที่ครอบครัวเขาเป็นสมาชิกอย่างไม่รู้จักเบื่อ ครั้งหนึ่งเมื่อ อัลเลนไปเที่ยวบ้านหลังใหญ่ของบิล เกตส์ บิล เกตส์ ซึ่งมีอายุเพียง 13 ปี ถามเขาว่า “ คิดอย่างไรถ้าเราได้เป็นเจ้าของบริษัท Fortune 500 ” และพูดต่อว่า “ สักวันหนึ่งเราสองคนเราอาจมีบริษัทเป็นของตัวเอง “ ในตอนนั้นเขาพูดอะไรไม่ออกได้แต่พูดว่า “ I had no idea”
ปี 1968 ถือเป็นจุดหักเหสำคัญของคอมพิวเตอร์เพราะเครื่องมือทางดิจิทัลหลายชิ้นได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นเกือบจะเป็นเวลาเดียวกัน เช่น บริษัท Hewlett-Packard สร้างเครื่องคำนวณตั้งโต๊ะแบบโปรแกรมได้สำเร็จ อีกไม่กี่เดือน Robert Dennard ได้รับสิทธิบัตรจากการประดิษฐ์ DRAM(Dynamic Random Access Memory) ในเดือนถัดมา Robert Noyce เจ้าของฉายานายกเทศมนตรีแห่งซิลิกอน วัลเลย์ กับ Gordon Moore เจ้าของกฎของมัวร์ (Moore’s Law) ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัท Intel ขึ้นและในปลายปีนั้นเอง นักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสตนฟอร์ด ชื่อ Douglas Engelbart ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้ประดิษฐ์เมาส์ ได้นำเมาส์ที่สร้างขึ้นมาแสดง ในนิทรรศการของเมือง ซาน ฟรานซิสโก พร้อมกับการสาธิตการใช้ word processor e-mail และ Hypertext ในคราวเดียวกัน
พอล อัลเลน เห็นว่าปรากฏการณ์ของการนำเสนออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นแทบจะเป็นเวลาเดียวกันนั้น ถ้าใครสามารถใช้โอกาสในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆเข้าด้วยกันได้ก็จะสามารถมองเห็นอนาคตของคอมพิวเตอร์ที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้ในไม่ช้า มุมมองของ อัลเลน ต่ออนาคตของคอมพิวเตอร์จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้เขากับ บิล เกตส์ สามารถสร้างอาณาจักรคอมพิวเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกขึ้นสำเร็จภายในเวลาไม่กี่ปี
หลังจากจบโรงเรียนมัธยมที่เลคไซด์ทั้ง พอล อัลเลน และบิล เกตส์ ต่างเข้าสู้รั้วมหาวิทยาลัย แม้ว่า อัลเลน เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งวอชิงตันและบิล เกตส์ ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย ฮาวาร์ด ซึ่งอยู่คนละฝั่งของประเทศ แต่ทั้งคู่ยังติดต่อและทำงานด้วยกันอยู่เป็นบางครั้ง สิ่งสำคัญคือพวกเขาไม่เคยหยุดคิดถึงโอกาสในทำธุรกิจ บิล เกตส์มักจะชวน พอล อัลเลน ให้ไปเยือนบอสตันอยู่เสมอเพื่อสานฝันที่จะสร้างอะไรที่ยิ่งใหญ่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ให้เป็นความจริง
ในที่สุด อัลเลน จึงตัดสินใจย้ายไปบอสตันเพื่อหางานทำและได้ร่วมงานกับ บิล เกตส์ อย่างจริงจัง สิ่งที่ทั้งคู่รวมทั้งเพื่อนที่ชื่อ Monte Davidoff พัฒนาขึ้นก็คือ ภาษา Basic ที่ใช้สำหรับคอมพิวเตอร์ยี่ห้อ Altair รุ่น 8800 ซึ่งใช้ Microprocessor ของ Intel รุ่น 8080 และประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ถือเป็นจุดสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นหุ้นส่วนกันตั้งแต่นั้นมา
ครั้งหนึ่งเขาคิดอยากจะออกนอกกรอบด้วยการสร้างคอมพิวเตอร์ที่สามารถรองรับหน่วยประมวลผลของ Intel รุ่นใหม่ซึ่งยังไม่มีคอมพิวเตอร์ที่ดีพอรองรับ แต่ บิล เกตส์ ได้เตือนสติเขาว่า “พวกเราไม่ใช่กูรูทางฮาร์ดแวร์ สิ่งที่เรารู้คือ ซอฟแวร์” คำเตือนสติของ บิล เกตส์ ทำให้ทั้งคู่มุ่งมั่นสู่ธุรกิจซอฟแวร์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะชีวิตของพวกเขาคือ การเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ ( Coding )
หลังจากเซ็นสัญญาการใช้โปรแกรม Basic กับบริษัทที่ผลิตคอมพิวเตอร์ ทั้งคู่จึงเริ่มตั้งบริษัทและต้องตั้งชื่อบริษัท ครั้งแรกพวกเขาคิดกันว่าน่าจะตั้งชื่อบริษัทว่า Allen & Gate แต่ดูไปดูมาแล้วชื่อนี้เหมือนกับบริษัทกฎหมายมากเกินไป อัลเลน เกิดความคิดว่า ถ้าเอาคำว่า Microprocessors ผสมกับคำว่า Software จะดูเข้าท่ากว่า บริษัทของทั้งสองจึงได้ชื่อว่า Micro-Soft (ก่อนจะเป็น Microsoft ในภายหลัง)
อัลเลน เล่าถึงการแบ่งสัดส่วนความเป็นเจ้าของในบริษัทตั้งใหม่ เขาคิดว่าส่วนแบ่งของทั้งสองคนควรเป็น 50-50 เท่ากัน แต่ บิล แย้งว่าตอนที่มาบอสตันนั้น อัลเลน มีงานอื่นทำอยู่ด้วยแล้ว ส่วนเขาทำงานเกือบทุกอย่างเกี่ยวกับภาษา Basic ดังนั้นเขาควรได้ส่วนแบ่งมากกว่าและสัดส่วนที่เหมาะสมควรจะเป็น 60-40 อัลเลน เห็นว่าเหตุผลของ บิล เกตส์ รับฟังได้และเขาเห็นว่าตัวเลข 60-40 น่าจะยุติธรรมแล้ว
แต่ความโลภของมนุษย์มักไม่มีวันสิ้นสุด อัลเลน เล่าต่อไปว่า ครั้งหนึ่ง เกตส์ ชวนเขาไปเดินเล่นเขานึกอยู่ในใจว่า เกตส์ จะมาไม้ไหนอีกและเป็นจริงอย่างที่เขาคาด เกตส์ พูดขึ้นมาลอยๆว่า เขาทำงานกับภาษา Basic มากกว่า อัลเลน และเขาสละทุกอย่างแม้กระทั่งต้องออกจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด เขาจึงควรได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ และได้เสนอว่า สัดส่วนที่เหมาะสมคือ 64-36 อัลเลน เองถึงกับนิ่งอึ้งด้วยความประหลาดใจเพราะเขาเองก็มุ่งมั่นและอุทิศตัวรวมทั้งเครื่องไม้เครื่องมือมากมายให้กับงานนี้อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะความคิดของเขาในเรื่องการจับคู่ Microprocessor กับภาษาคอมพิวเตอร์ระดับสูง รวมทั้งความคิดดีๆอีกมากมายนั้นหากประเมินเป็นมูลค่าก็คงมากโขอยู่และบิล เกตส์อาจไม่ได้คำนึงถึงเรื่องนี้ แต่เขาก็ตอบตกลงเพราะทั้งหมดคือการเริ่มต้นวางรากฐานของบริษัท
ในขณะที่ใครต่อใครมีแรงบันดาลใจจากการทำงานเพื่อ ต้องการเป็นที่รู้จัก เพื่อเป้าหมายทางสังคมหรือเพื่อทรัพย์สินเงินทอง แต่ อัลเลน มักจะกล่าวอยู่เสมอว่า เขาเป็นคนที่รัก “ความคิด” และนำความคิดเหล่านั้นไปทำให้เป็นความจริง พร้อมกับดูว่าจุดหมายปลายทางของสิ่งที่ทำนั้นนำไปสู่อะไรบ้าง ดังนั้นในระหว่างการทำงานเขาจึงมีความคิดสร้างสรรค์มากมายจนถูกเรียกว่าเป็นนักสร้างความคิด (Idea man) ในขณะบิล เกตส์ ถูกเรียกว่า นักปฏิบัติ (Action man)
พอล อัลเลน ลาออกจากไมโครซอฟ มีผลในปี 1983 หลังจากการบำบัดอาการมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่ยังคงเป็นกรรมการบริษัทและถือหุ้นบริษัทไมโครซอฟอยู่ หลังจากออกจากบริษัท ไมโครซอฟ เขาได้จัดตั้งบริษัทเพื่อธุรกิจ การวิจัย องค์กรกีฬา รวมทั้งองค์กรการกุศลอีกมากมาย ในปี 2007และปี 2008 นิตยสาร Time ยกให้เขาเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อโลกมากที่สุดและเขาได้รับการจัดอันดับว่าเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดอันดับ 44 ของโลก
การเสียชีวิตของ พอล อัลเลน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทำให้ บิล เกตส์ ซึ่ง อัลเลน เคยพูดว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดจากซีแอตเติล ออกมากล่าวแสดงความเสียใจว่า “ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะไม่เกิดขึ้นหากไม่มี พอล อัลเลน” บางคนยกย่องเขาว่าเป็นนักบุญแห่งเมืองซีแอตเติล เทียบได้กับ เดล คาร์เนกีร์ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักบุญแห่งพิตส์เบิร์ก
บทเรียนจากการเสียชีวิตของผู้มีอิทธิพลของโลกหรือของประเทศ แสดงให้เห็นถึงชีวิตมนุษย์ที่ไม่มีความจีรังยั่งยืนเกิดขึ้นแล้วต้องจากไปและไม่มีศาสตร์ใดที่จะทำให้ชีวิตมนุษย์อยู่คู่โลกได้ทุกคนไม่ว่าวันนี้หรือวันข้างหน้า แม้ว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองหรือมีอิทธิพลต่อโลกนี้มากมายเพียงใดก็ตาม
อ้างอิงจาก : Paul Allen : Idea Man โดย พอล อัลเลน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.thsport.com