มหาธีร์เยือนไทย จุดเปลี่ยนไฟใต้ กับทฤษฎี "แพ้พ่าย" เพื่อสันติสุข
24 ต.ค.61 ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมภริยา เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล โดยมีพิธีต้อนรับและตรวจแถวกองเกียรติยศ ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล อย่างสมเกียรติ
การเดินทางเยือนไทยของ ดร.มหาธีร์ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ภายหลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองมาเลเซียด้วยการพาพรรคร่วมฝ่ายค้านพลิกชนะพรรคร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบ 61 ปี โดยผู้นำมาเลเซียได้หารือข้อราชการกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะ ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาลด้วย
หนึ่งในหัวข้อหารือระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ คือ การเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่ยืดเยื้อมาเกือบ 15 ปี และรัฐบาลมาเลเซียให้ความช่วยเหลือในฐานะ "ผู้อำนวยความสะดวก" กระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาตั้งแต่ปี 2555 ฉะนั้นการเดินทางเยือนไทยของผู้นำมาเลเซียครั้งนี้จึงถือว่าน่าจับตาอย่างยิ่ง และน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสถานการณ์ไฟใต้ได้เลยทีเดียว
เพราะ ดร.มหาธีร์ เพิ่งตั้งผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยฯคนใหม่ เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ขณะที่รัฐบาลไทยก็เปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ จาก พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็น พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4
โต๊ะพุดคุยดับไฟใต้น่าจะถูกเปลี่ยนโฉมหน้าไปพอสมควร รวมถึงองค์ประกอบของฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐที่กลุ่ม "มารา ปาตานี" เคยมีบทบาทนำอยู่ด้วย
หลายฝ่ายคาดหวังว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากตัวแทนขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนกลุ่มนี้ และไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจาก ดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ปอเนาะญิฮาด อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งทางการไทยเชื่อว่าเป็นผู้นำขบวนการบีอาร์เอ็นคนปัจจุบันว่าจะเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยหรือไม่ มีเพียงข่าวจากฝ่ายความมั่นคงที่อ้างว่า ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยคนใหม่ เชิญ นายดูนเลาะ ซึ่งพำนักอยู่ในมาเลเซีย เข้าหารือถึงกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข แต่นายดูนเลาะไม่ได้เดินทางไป
แม้โฉมหน้าโต๊ะพูดคุยจะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน แต่ก็ยังไม่มีหลักประกันอะไรว่าข้อตกลงสันติภาพและบรรยากาศสันติสุขจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ เหมือนกับผลการพูดคุยกับ "มารา ปาตานี" ที่ใช้เวลามาประมาณ 2 ปีเศษ แต่ก็ไม่สามารถบรรลุข้อตกลง 2 ฝ่ายในเรื่องการสร้าง "พื้นที่ปลอดภัย" นำร่องอำเภอแรกร่วมกันอย่างสมบูรณ์ หนำซ้ำเส้นทางของการพูดคุยก็ลุ่มๆ ดอนๆ อย่างในช่วงเปลี่ยนผ่านการเมืองมาเลเซียที่มีการเลือกตั้งใหญ่ โต๊ะพูดคุยก็หยุดชะงักไปนานหลายเดือน
ที่ผ่านมาจึงมีความเห็นจากบางฝ่ายให้ "ภาคประชาสังคม" ที่เป็นตัวแทนจากคนในพื้นที่จริงๆ มีบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพมากยิ่งขึ้น แต่รูปแบบและวิธีการที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่ชัดเจนนัก
ในมุมมองของผู้รับผิดชอบฝั่งรัฐ ทฤษฎีที่ชอบพูดถึงกัน คือ winning hearts and minds คือเอาชนะจิตใจประชาชน บ้างก็อ้างถึงวาทกรรมในสงครามการต่อสู้ เช่น "มวลชนยืนอยู่ข้างไหน ข้างนั้นคือผู้ชนะ" ผลก็คือเม็ดเงินงบประมาณและโครงการพัฒนามากมายถูกลำเลียงลงไปในพื้นที่ แต่รูปธรรมแห่งความสำเร็จก็ยังไม่ปรากฏอยู่ดี หนำซ้ำยังมีข้อครหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ บ้างก็หักหิวคิวกันหน้าด้านๆ จนกลายเป็นเงื่อนไขให้ชาวบ้านเบื่อหน่ายคนของรัฐมากขึ้นไปอีก
ช่วงที่ผ่านมามีนักวิชาการด้านสันติวิธีคนหนึ่ง แม้จะสอนอยู่ไกลถึงมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เชียงราย จังหวัดเหนือสุดของประเทศ แต่เขาเสนอแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ
นักวิชาการคนนี้ชื่อว่า ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร เขาบอกว่าในวังวนของการหาทางออกจากความขัดแย้ง ส่วนใหญ่คนมักมองไปที่เรื่องของการเอาชนะ เช่น เอาชนะจิตใจประชาชนบ้าง หรือไม่ก็ "win-win theory" บ้าง ซึ่งไม่ได้ผิด และเป็นเรื่องที่ดี แต่บางทีก็ยังเหมือนติดกับดักของการเอาแพ้เอาชนะกันอยู่
ความเป็นจริงในบางมิติที่หลายคนอาจไม่ได้มอง ก็คือความขัดแย้งและความรุนแรงได้นำมาสู่ความพ่ายแพ้ เป็นความพ่ายแพ้ของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐที่ต้องสูญเสียงบประมาณ สูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่, ฝ่ายขบวนการต่อสู้ที่ต้องสูญเสียกำลังคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและของชุมชนที่อาศัยอยู่, ฝ่ายประชาชนเองก็สูญเสียโอกาสจากความรุนแรง โอกาสของการทำมาหากิน โอกาสทางการศึกษา และโอกาสของการพัฒนา บางคนต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเพราะถูกลูกหลงจากความรุนแรงก็มี
ดร.นิชานท์ ชี้ว่า เมื่อทุกฝ่ายล้วนพ่ายแพ้ ก็น่าจะใช้บทเรียนจากความพ่ายแพ้เป็นตัวขับเคลื่อนสันติภาพ ผ่านคนตัวเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ ที่ล้วนได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 1 ทศวรรษ จัดวงพูดคุยให้ผู้ได้รับผลกระทบแต่ละฝ่ายได้รับฟังกัน ได้แบ่งปันความรู้สึกเศร้าและสูญเสียจากอีกฝ่าย
เช่น เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ไปร่วมงานศพของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม แล้วจัดกระบวนการรับฟังความเห็นของอีกฝ่ายอย่างสงบและเข้าใจซึ่งกันและกัน ขณะที่ผู้ก่อเหตุรุนแรงในกลุ่มที่ถูกจับกุม ก็อาจมีกระบวนการไปเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุรุนแรงบ้าง ไปงานศพผู้ที่ต้องสังเวยชีวิตจากปัญหาความไม่สงบ หรือไปเยี่ยมครอบครัวของผู้สูญเสีย โดยจัดกระบวนการที่รัดกุม เน้นการสร้างความเข้าใจในลักษณะของการ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข"
วิธีการคล้ายๆ กันนี้เคยถูกใช้และประสบความสำเร็จมาแล้วที่ไอร์แลนด์เหนือ ทั้งอดีตตำรวจและอดีตผู้สนับสนุนขบวนการไออาร์เอก็เคยมาถ่ายทอดประสบการณ์บนเวทีของสถาบันพระปกเกล้า
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลุ่มประชาสังคมเล็กๆ ที่ใช้ชื่อว่า "กลุ่มร่วมด้วยช่วยกันชายแดนใต้" ได้จัดกิจกรรมพานักเรียนมุสลิมล้วนจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแห่งหนึ่ง ไปเยี่ยมอาการบาดเจ็บและให้กำลังใจ วิภาวรรณ ปลอดแก่นทอง หญิงสาวไทยพุทธที่ถูกระเบิดในสวนยางพาราจนขาขาด และตาข้างขวาบอดสนิท ที่ ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา
เด็กๆ เกือบทุกคนไม่เคยเห็นความสูญเสียจากความรุนแรงในพื้นที่แบบใกล้ชิดขนาดนี้ อย่างมากก็เคยดูจากข่าวในทีวี จึงมีความรู้สึกเกินบรรยาย มีแต่กำลังใจเปี่ยมล้นที่มอบให้กับวิภาวรรณ ขณะที่สาวไทยพุทธก็ฮึดสู้ แม้ต้องเสียขาเสียดวงตา โดยเฉพาะเมื่อได้รับรู้ถึงความเข้าใจจากเด็กๆ ต่างศาสนา ในบรรยากาศ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข" อย่างแท้จริง
การสร้างเครือข่ายสันติภาพด้วยการถักทอความเข้าใจในระดับ "บุคคล" และ "ชุมชน" ย่อมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกระบวนการสันติภาพในระดับรัฐ แน่นอนว่า winning hearts and minds รวมไปถึงงานพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความกินดีอยู่ดีก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป เพียงแต่กระบวนการระดับบุคคลและชุมชนไม่มีวันหยุด ไม่ต้องรอเลือกตั้ง หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง รวมทั้งไม่ต้องรอโต๊ะพูดคุยด้วย
วิธีคิดนี้สอดรับกับแนวทางที่ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยฯคนใหม่ เสนอเรื่องการสื่อสารเชิงบวก และเปลี่ยน "สนามรบ" เป็น "สนามความร่วมมือ" ในลักษณะพหุวัฒนธรรม ยกเรื่องศาสนาไว้บนหิ้ง
เพราะจุดเปลี่ยนไฟใต้แท้ที่จริงแล้ว...อยู่ที่พลังของคนในพื้นที่เอง!
----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เด็กๆ มุสลิมจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ไปเยี่ยมสาวไทยพุทธที่ถูกระเบิดขาขาด ตาบอด ที่ ต.ตาชี อ.ยะหา จ.ยะลา
2 ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร