แพทย์จุฬาฯ ผลิตยาต้าน ‘มะเร็ง’ เเทนนำเข้า ลดค่ารักษาเหลือคนละไม่ถึง 1 ล้าน
แพทย์จุฬาฯ รุดหน้า พัฒนานวัตกรรมรักษามะเร็ง หลังไทยนำเข้ายาจาก ตปท. ผู้ป่วยแบกภาระ 8 ล้านบาท/ราย ผลิตยา 5 เฟส หวังลดราคา ทุกคนเข้าถึง เชื่อสำเร็จ รบ.ดันเข้าหลักประกันสุขภาพชาติ
วันที่ 24 ต.ค. 2561 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดแถลงข่าว “แพทย์จุฬาฯ ก้าวไกล...สร้างนวัตกรรมการรักษามะเร็ง” สู่การวิจัยผลิตยาต้านมะเร็งจากภูมิคุ้มกันตัวเอง เพื่อคนไทย ณ ห้องประชุม 1201 ชั้น 12 อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเหตุผลต้องสร้างยา Biologics เพื่อสร้างภูมิต้านทานมะเร็ง เนื่องจากปัจจุบันไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ 100% โดยผู้ป่วยต้องรักษาต่อเนื่องนาน 2 ปี มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 8 ล้านบาท/ราย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึง ดังนั้นจึงต้องผลิตยาใช้เองในประเทศ มีคุณภาพและควบคุมราคาค่ารักษาให้ต่ำกว่า 1 ล้านบาท/ราย เพื่อให้อยู่ในระดับที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าถึงได้ แต่จะทำได้จริงหรือไม่ ต้องดูอนาคตอีกครั้ง
นอกจากโครงการนี้จะช่วยคนไทยด้วยกันแล้ว ยังช่วยให้เกิดผลดีด้านต่าง ๆ ของประเทศด้วย ยกตัวอย่าง ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อยาจากต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่าหลักหมื่นล้าน (กรณีมะเร็งปอด =2.2 หมื่นล้านบาท) ได้พัฒนาเทคโนโลยี คน องค์ความรู้ต่าง ๆ และหากรักษาให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น จนกลับไปทำงานได้ จะไม่เป็นภาระของสังคม เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น เป็นต้น
“โครงการฯ คิดค้นขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน โดยผ่านการรับรองและปรึกษาหารือจากบุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และภายนอก” หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ กล่าว และยืนยันเราคิดไตร่ตรองถี่ถ้วนและแม้จะยาก แต่จะพยายามทำให้เกิดขึ้นจริง
สำหรับแผนการผลิต Biologics นพ.ไตรรักษ์ ระบุแบ่งเป็น 5 เฟส ได้แก่
เฟสที่ 1 จุฬาฯ จัดสรรงบประมาณให้ 100 ล้านบาท ในการผลิตยาแอนติบอดี้ต้นแบบจากหนู ซึ่งประสบความสำเร็จตัวแรก และยังทำต่อไป เพื่อให้ได้หลายต้นแบบ ใช้เวลา 24 เดือน
เฟสที่ 2 ปรับปรุงแอนติบอดี้ให้มีความคล้ายของมนุษย์ และเพิ่มประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งขอการสนับสนุนให้คนไทยบริจาคเงิน ใช้เวลา 12 เดือน
เฟสที่ 3 การผลิตยาให้ได้ในปริมาณสูงจากโรงงาน ขั้นตอนนี้ใช้งบประมาณสูงถึง 200 ล้านบาท คาดว่าใช้เวลาผลิต 1 ปีครึ่ง-2 ปี ใช้เวลา 18 เดือน
เฟสที่ 4 ทดลองฉีดในหนูและลิง งบประมาณ 100-200 ล้านบาท เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของยาว่าดีหรือไม่ ใช้เวลา 20 เดือน
เฟสที่ 5 ทดลองในมนุษย์ ซึ่งจะเปิดรับอาสาสมัครผู้ป่วยเข้ามาศึกษาวิจัย ราว 300-400 ราย งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ใช้เวลา 48 เดือน
“ต้นทุนในการผลิตยา กรณีคิดเพียงค่าวัตถุดิบ ค่าบริหารจัดการ ค่าคน ค่าน้ำ ค่าไฟ จะอยู่ในหลักหมื่นต้น ๆ ฉะนั้นเรามีความมั่นใจจะทำให้ยามีราคาลดลง ซึ่งตั้งเป้า 10% จาก 200,000 บาท แต่เรายังไม่รู้ว่าในอนาคตอาจมีตัวแปรอื่นเข้ามาประกอบหรือไม่ แต่คงไม่สามารถให้ยามีราคาอยู่ในหลักร้อยได้ เพราะเทคโนโลยีมีราคาสูง” หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศฯ
ด้าน ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญและสนใจโครงการฯ อย่างไรก็ดี สมมติผลิตยาและลดต้นทุนได้จริง ถ้ายาคุ้มค่าในการรักษา แน่นอนว่า รัฐบาลย่อมให้ยานี้เข้าไปอยู่ในหลักประกันสุขภาพของชาติ ส่วนปัจจุบันทำไม่ได้ เพราะยามีค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าที่รัฐบาลจะนำเข้ามาให้คนเข้าถึงได้
ส่วนข้อมูลการบริจาคเงินล่าสุด เพื่อสมทบทุนงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันฯ ยังไม่ทราบ เนื่องจากข้อมูลอยู่กับฝ่ายการเงิน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ประชาชนสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนงานวิจัยได้ที่เลขบัญชี 408-004443-4 (ออมทรัพย์) หรือ 045-304669-7 (กระแสรายวัน) ชื่อบัญชี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย และหากต้องการออกใบเสร็จ กรุณาส่ง ชื่อ -สกุล ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อมาทางเฟซบุ๊ก CUCancerIEC ไลน์ rse2573i .