กำจัดจุดเสี่ยงบนถนน ทำไมอุบัติเหตุในไทยถึงไม่ลด!
เเก้ไขจุดเสี่ยงบนถนน ลดอุบัติเหตุ! นักวิชาการชี้ ไทยขาดระบบติดตามประเมินผล วิเคราะห์สาเหตุน้อย เเนะใช้ CMF คาดการณ์
ทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายบนถนน ถามว่า ปัจจุบันขั้นตอนที่ปรับปรุงมีอะไรบ้าง และดำเนินการถูกต้องหรือไม่
ที่ผ่านมาที่เห็นเด่นชัดมี 2 มาตรการ คือ การลดอุบัติเหตุ ซึ่งเป็นวิธีการเชิงรับ และป้องกันอุบัติเหตุ เป็นวิธีการเชิงรุก อย่างไรก็ตาม การวางแผนให้ถนนในไทยปลอดภัย จำเป็นต้องอาศัยเรื่องการประเมินความเสี่ยงเข้ามาช่วยในการวางแผนด้วย
หากเจาะจงเฉพาะการลดอุบัติเหตุ พบว่า ขาดการติดตามและประเมินผลการปรับปรุงแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงบนถนน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุในไทยไม่ลดลง
มีคำตอบจากกิจกรรม Big Talk 3 นโยบายพรรคการเมืองบนทาง 3 แพร่ง “ลดความสูญเสียบนถนน 3 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม นโยบาย” ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย พ.ศ. 2561-2564 แผนงานความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ณ รร.แกรนด์ ฟอร์จูน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย บอกว่า การดำเนินการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายบนถนนต้องตั้งเป้าหมาย กำหนดหลักเกณฑ์ และจุดเสี่ยง ซึ่งทำได้ดีในขั้นตอนนี้ ในขณะที่การวิเคราะห์จุดเสี่ยงยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะข้ามขั้นตอนไปปรับปรุงแก้ไขเลย โดยไม่มีการวิเคราะห์สาเหตุว่า เกิดจากอะไร ทำให้สิ่งที่ปรับปรุงแก้ไขไม่ตรงกับปัญหา
ตัวอย่างเช่น กรณี “สี่แยกวัดใจ” มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หน่วยงานเกี่ยวกับการทาง จะกระโดดข้ามขั้นตอนไปแก้ไขเลย ด้วยการติดตั้งไฟกระพริบหรือสัญญาณไฟเขียวไฟแดง ซึ่งถือว่าข้ามขั้นตอน โดยไม่มีการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาก่อน ทำให้ไม่รู้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจุดเสี่ยงดังกล่าวเกิดจากสาเหตุใด
นอกจากการขาดวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาอุบัติเหตุก่อนแล้ว ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานเกี่ยวกับการทางขาดการติดตามและประเมินผลด้วย ทำให้ไม่รู้ว่า สิ่งที่ทำไปนั้นช่วยแก้ไขอุบัติเหตุได้จริงหรือไม่ ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาว่า ปัจจุบันนี้ทำไมอุบัติเหตุยังเกิดขึ้นสูง ทั้งที่มีการปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด เพราะเราไม่ได้ติดตามและประเมินผลว่าสิ่งที่ทำไปปลอดภัยแล้วหรือยัง?
“การติดตามและประเมินผลจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลก่อนและหลัง เพื่อให้ทราบว่าหลังจากนั้นได้ผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะทำให้เราได้รู้ว่าวิธีการหรือมาตรการไหน สามารถแก้ไขจุดเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำไปใช้กับจุดเสี่ยงคล้าย ๆ กันในจุดเสี่ยงอื่นได้ สุดท้าย สามารถนำไปเสนอในระดับนโยบายได้ด้วย”
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ มาตรการหนึ่งที่จะช่วยในการคาดการณ์จำนวนอุบัติเหตุลดลงได้ คือ crash modification factors (CMF) หรือค่าสัมประสิทธิ์ร้อยละของอุบัติเหตุ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ อธิบายว่า CMF เป็นตัวเลขมีไว้บ่งบอกว่า ถ้าใส่มาตรการแต่ละประเภทลงไป จำนวนอุบัติเหตุสามารถลดลงได้มากน้อยเพียงใด เช่น สมมติต้องการเปลี่ยนทางแยกหนึ่งเป็นวงเวียน เพื่อพิสูจน์ว่า การใช้วงเวียนช่วยลดอุบัติเหตุได้กี่เปอร์เซนต์ ในต่างประเทศ จะมีเว็บไซต์ที่ระบุ CMF ทุกมาตรการทางวิศวกรรมไว้ทั้งหมด
“ตัวเลขสำเร็จรูปที่ใช้วางแผน ซึ่งประเทศไทยไม่มี เพราะเราไม่เคยประเมินผล ขณะที่ต่างประเทศได้ตัวเลขเหล่านี้มาจากการแก้ไขติดตามประเมินผลเพื่อมีตัวเลขเก็บไว้เป็นสถิติ”
เพราะฉะนั้นหากมีตัวเลขชุดนี้ จะสามารถคาดการณ์จำนวนอุบัติเหตุที่จะลดลงได้ และช่วยให้เราเลือกวิธีการที่เหมาะสม ราคาถูก และได้ผลดี แต่หากไม่มีข้อมูลอะไรเลย เราอาจตัดสินใจเลือกวิธีราคาสูง แต่ไม่ได้ผลก็ได้ ดังนั้น CMF จะช่วยคำนวณความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ได้ด้วย
รศ.ดร.กัณวีร์ ยกตัวอย่าง สี่แยกมีอุบัติเหตุรูปแบบชนด้านข้างบ่อย 100 ครั้ง/ปี ถ้าทำการแก้ไขทางวิศวกรรม โดยมีค่า CMF =0.80 จะสามารถประมาณการณ์ได้ว่า จะเกิดอุบัติเหตุ 80 ครั้ง/ปี หลังจากทำการแก้ไขจุดเสี่ยง (100x0.80=80) จะเห็นว่า มาตรการแก้ไขจุดเสี่ยงนี้สามารถลดอุบัติเหตุลงได้ 20 ครั้ง/ปี
สหรัฐฯ มีเว็บไซต์ สามารถเข้าไปดูได้เลย ว่าสมมติติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง จะลดอุบัติเหตุได้กี่เปอร์เซนต์ หรือสร้างวงเวียนลดได้กี่เปอร์เซนต์ จะมีสถิติเก็บไว้หมด
ขณะที่การแก้ไขจุดเสี่ยงของไทยยังไม่มีการอ้างอิงจากสถิติข้อมูลเหล่านี้ แต่จะใช้วิธีเคยทำก็ทำไป เคยติดไฟเหลืองกระพริบก็ติดไป ดังนั้น สิ่งที่ทำในไทยจึงไม่ช่วยลดอุบัติเหตุ
“มาตรการของกรมทางหลวงที่ใช้กันมา จากการสืบค้นพบว่า การแก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายบนถนน เช่น ติดตั้งไฟส่องสว่าง ราวกันอันตราย ปรับปรุงผิวทาง ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง วงเวียน ทำเครื่องหมายดักทาง ผิดกับต่างประเทศที่มีให้เลือกมากกว่านี้” ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ กล่าวในที่สุด .
เรื่องเกี่ยวข้อง:องค์การอนามัยโลก ชงโยก ศปถ. สังกัดสำนักนายกฯ แทนกรม เพิ่มบทบาททำงานลดอุบัติเหตุ