ดร.มหาเธร์ เยือนไทยรอบล่าสุด กับสถานการณ์ชายแดนใต้
หากเราจะพูดถึงปัญหาความไม่สงบในชายแดน เมื่อต้นเหตุเริ่มต้นจาก การเมือง ก็ต้องใช้วิธีการแก้ไขโดยวิธีการทางการเมือง รูปแบบการปกครองเฉพาะพื้นที่ในลักษณะที่เป็นเขตปกครองพิเศษ ที่เข้าใจความต้องการอย่างแท้จริง ของคนมลายู-มุสลิมในพื้นที่ ที่ใช้ร่วมกับหลักการเบื้องต้นที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลเดชบรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” จึงเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุด
Tun Dr. Mahathir bin Mohamad นายกรัฐมนตรีวัย 93 ปีมีกำหนดการจะเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในระหว่างวันที่ 24 ถึง 25 ตุลาคม 2018 โดยเรื่องที่ทุกคนจับตามองการมาเยือนครั้งนี้ก็คือ เรื่องกระบวนการสร้างสันติภาพชายแดนใต้ซึ่งมาเลเซียทำหน้าที่เป็น Facilitator หรือเป็นตัวกลางการเจรจาระหว่างฝ่ายรัฐของประเทศไทย และกลุ่ม Mara Patani
นักวิเคราะห์หลายๆ ฝ่ายพิจารณาว่า การประชุมในครั้งนี้น่าจะเป็นการปลด Dead locked ที่เกิดขึ้นจากการเจรจาสันติภาพในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดย ดร.มหาเธร์มาเที่ยวนี้จะมาพร้อมกับการแนะนำ Facilitator ท่านใหม่ของฝ่ายมาเลเซียที่จะทำหน้าที่เป็นคนกลางของการเจรจาสันติภาพ โดยผู้ที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าของ Joint Working Group on Peace Dialogue Process (JWG-PDP) คือ Tan Sri Abdul Rahim Noor ซึ่งก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางของมาเลเซีย (Former Inspector-General Police) ซึ่งเขาจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างหัวหน้าคณะฝ่ายไทย คือ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พลเอก อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ซึ่งจะทำหน้าที่เป็น ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
นับจากปี 2004 จนถึงปัจจุบัน Deep South Watch รวบรวมตัวเลขแล้วพบว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ไปแล้วกว่า 6,500 คน ดังนั้นประเด็นการเจรจาสันติภาพชายแดนใต้จึงเป็นประเด็นเร่งด่วนที่มีความสำคัญสูงที่สุด และควรผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจากเป็นปัญหาที่สร้างความสูญเสียในทุกมิติให้กับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม
โดยกลุ่มที่เราเดินหน้าเจรจาสันติภาพด้วยอยู่ในขณะนี้เรียกว่า “Mara Patani” ซึ่งเป็นการรวมตัวแทนของ 6 กลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางภาคใต้ ซึ่งได้แก่
Barisan Revolusi Nasional - BRN Action Group
Barisan Islam Pembebasan Patani (BIPP)
Pertubuhan Persatuan Pembebasan Patani (PULO-P4)
Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-dspp)
Pertubuhan Pembebasan Patani Bersatu (PULO-mkp)
Gerakan Mujahidin Islam Patani (GMIP)
สิ่งที่ทุกฝ่ายคาดหวังเป็นอย่างยิ่งจากการเปิดการเจรจาครั้งใหม่ในรอบนี้คือ ผู้ประสานงานตัวกลางคนใหม่ซึ่งมีประสบการณ์ในพื้นที่จากฝั่งมาเลเซียซึ่งเป็นคนของฝ่าย Pakatan Harapan ผู้สนับสนุน Dr.Mahathir ซึ่งจะต่างจากตัวกลางเดิมคือ Datuk Seri Ahmad Zamzamin Hashim ซึ่งเป็นคนจากฝ่าย Barisan National หรือทีมรัฐบาลเก่าเป็นผู้เสนอชื่อเข้ามาทำงานตั้งแต่ปี 2014
และที่เราคาดหวังมากกว่านั้นคือ ทุกฝ่ายทราบดีว่ากองกำลังที่ทำการเคลื่อนไหวในพื้นที่ภาคใต้เป็นกลุ่มที่อาจจะมีชื่อเดียวกันแต่ก็มีโครงสร้างองค์กรซึ่งไม่ได้ทำงานสอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังที่จะเป็นได้ว่าใน 6 กลุ่มที่เข้ามาร่วมเป็น Mara Patani มี 3 กลุ่มที่ใช้ชื่อขึ้นต้นเหมือนกันคือ Pulo ซึ่งย่อมากจาก Patani United Liberation Organisation แต่ทั้ง 3 กลุ่มก็เป็นคนละกลุ่มซึ่งต่างคนต่างก็เคลื่อนไหวด้วยตนเองอย่างอิสระ นั่นทำให้ที่ผ่านมานักวิเคราะห์หลายๆ คน มองว่ากลุ่ม Mara Patani ยังไม่ใช่ตัวแทนในการเจรจาสันติภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก เนื่องจากขาดตัวแทนของ BRN Military Wing ซึ่งเป็นกลุ่ม BRN ที่ติดอาวุธ (คนละกลุ่มกับ BRN Action Group ซึ่งอยู่ใน Mara Patani) อยู่แล้ว นั่นทำให้ในการเจรจาสันติภาพรอบนี้ทุกฝ่ายจับตามองว่า จะสามารถโน้มน้าวใน BRN Military Wing เข้ามาร่วมกระบวนการเจรจาได้ด้วยดังที่ทุกคนคาดหวังหรือไม่
Eugene Mark นักวิเคราะห์อาวุโสแห่ง S.Rajaratnam School of International Studies พิจารณาว่าการที่ฝ่ายกองกำลังของ BRN ยังไม่ร่วมเข้ากระบวนการเจรจาสันติภาพมีเหตุผลมาจากการที่พวกเขาต้องการตัวกลางที่เป็นคนนอก (Neutral 3rd Party Mediator) ในขณะที่ฝ่ายรัฐไทยเองก็ไม่ได้เน้นในการ “Conflict Settlement” หากแต่เน้นการ ”Counterinsurgency” ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐไทยมองการเจรจาสันติภาพกับกลุ่ม Mara Patani เป็นเสมือนการทอดเวลา เพื่อให้เห็นว่ากระบวนการสร้างสันติภาพได้เกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีกองกำลังที่ยังสร้างความไม่สงบอยู่ ดังนั้นคนในพื้นที่ก็จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธและเลิกให้การสนับสนุนไปเอง ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐไทยก็จะเน้นการให้อภัยกับกลุ่มก่อความไม่สงบที่ยอมจำนนหรือยอมมอบตัว ซึ่งเป็นระบบของการซื้อใจ แต่กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งที่เป็นต้นตอของปัญหายุติลง
และหลายๆ ฝ่ายก็วิเคราะห์ว่า บางทีก็ดูเหมือนฝ่ายความมั่นคงเองก็ไม่ได้ต้องการให้สถานการณ์ความไม่สงบนี้ยุติลงอย่างรวดเร็ว เพราะต้องอย่าลืมว่าตราบใดที่ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบ นั่นหมายถึง การที่งบประมาณจำนวนมหาศาล อัตรา/ยศ/ตำแหน่งของผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ตลอดจนการขยายอิทธิพลของบางกลุ่มก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการปล่อยให้สถานการณ์ความไม่สงบยังคงเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นในระดับที่ไม่รุนแรงจนเกินไป หรือสามารถเข้าไปบริหารจัดการได้ในบางระดับน่าจะเป็นทางออกที่หลายฝ่ายพึงพอใจและทนกับสถานการณ์ได้มากกกว่า ตัวอย่างประเด็นที่แสดงออกในเรื่องนี้ เช่น ในระยะหลังภาครัฐนิยมใช้คำว่า “สันติสุข” มากกว่าคำว่า “สันติภาพ” แน่นอนว่าสำหรับประชาชนทั่วๆ ไป คำ 2 คำนี้มีความหมายแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าสันติสุข คือรูปแบบที่กล่าวไปข้างต้นนั่นคือ มีชีวิตทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่ปกตินั่นคือ มีงานทำ มีเงินใช้ แต่ในความแตกต่างกันก็คือ สันติภาพ ต้องประกอบไปด้วยความยุติธรรมทางสังคม กระบวนการสร้างความเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูญเสียจำนวนมากเรียกร้องตลอดช่วงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควรจากภาครัฐ
ทั้งที่ในความเป็นจริง หากเราจะพูดถึงปัญหาความไม่สงบในชายแดน เมื่อต้นเหตุเริ่มต้นจาก การเมือง (Politics) ก็ต้องใช้วิธีการแก้ไขโดยวิธีการทางการเมือง (Political Solutions) รูปแบบการปกครองเฉพาะพื้นที่ในลักษณะที่เป็นเขตปกครองพิเศษ (Political Concession/ Autonomy) ที่เข้าใจความต้องการอย่างแท้จริง (Insight) ของคนมลายู-มุสลิมในพื้นที่ ที่ใช้ร่วมกับหลักการเบื้องต้นที่ได้รับพระราชทานจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลเดชบรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา” จึงเป็นแนวทางที่สำคัญที่สุด
อย่างน้อยการเข้ามามีบทบาทของประเทศเพื่อนบ้าน และการเห็นผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง Dr.Mahathir เข้ามาดูแล แต่งตั้งคนเข้ามาเป็นผู้อำนวยความสะดวกเป็นตัวกลางในกระบวนการสร้างสันติภาพก็เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ดีอีกครั้ง หวังว่าการเดินทางมาเยือนของ ดร.มหาเธร์ในครั้งนี้เราจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการสร้างสันติภาพจากนายกรัฐมนตรีที่คิดนอกกรอบมากที่สุดคนหนึ่งของอาเซียน
สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจอยากจะไปฟัง ดร.มหาเธร์บรรยายสดๆ ด้วยตัวของท่านเอง หลังจากกำหนดการกับรัฐบาลไทยแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับเกียรติจากท่านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในการที่ท่านจะเดินทางมาบรรยายสด เป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลา 15.00 น. วันที่ 25 ตุลาคม 2561 สำหรับท่านที่สนใจคงต้องเดินทางไปเตรียมความพร้อมเรื่องความปลอดภัยในการเข้าสถานที่ตั้งแต่ช่วง 12.00 น. และต้องลงทะเบียนล่วงหน้า รวมทั้งต้องแสดงบัตรประชาชน โดยการลงทะเบียนล่วงหน้าและการติดตามข่าวสาร สามารถติดตามได้ทาง website ของ Chula International Communication Center
https://www.chula.ac.th/news/13827/
ที่มาภาพ: https://goo.gl/images/GEWs4c