นิสิต ป.เอก มก.คิดเครื่องเตือนภัยน้ำท่วมชุมชน-แนะรัฐทำหลักสูตรภัยพิบัติอนุบาล
นิสิตป.เอก เกษตรศาสตร์ เปิดตัวนวัตกรรมเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่มฉับพลัน ราคาถูกใช้ง่ายชุมชนจัดการได้เอง นำร่องสุราษฎร์ธานี-อุตรดิตถ์ แนะรัฐทำหลักสูตรสอนภัยพิบัติอนุบาลยันมหา’ลัย
จากปัญหาภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น นายสุเทพ จันทร์เขียว นิสิตปริญญาเอก สาขาการจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ เปิดเผยกับ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าปัญหาน้ำท่วมดินโคลนถล่มที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินชาวบ้าน มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแลงการใช้ที่ดินทำให้ดินไม่สามารถอุ้มน้ำได้ จึงคิดค้นระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มสำหรับชุมชนขึ้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และความรู้ด้านทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้เข้ามาผสมผสาน และทำให้ชุมชนสามารถดูแลบริหารจัดการระบบเฝ้าระวังได้เอง และยังราคาถูก ตรวจสอบซ่อมแซมเองได้
“เครื่องเตือนภัยที่มีราคาสูงใช้งาน ยากชุมชนไม่สามารถเข้าถึงได้ แต่เครื่องที่ผมคิดค้นขึ้นประมาณ 3 หมื่นบาท ติดตั้งที่ไหนก็ได้ในพื้นที่เสี่ยง สัญญาณเสียงสามารถรับรู้ได้ในระยะทางไม่น้อยกว่า 2 กิโลเมตร สามารถคำนวนได้ว่าน้ำมันจะไหลมาจริงๆใช้เวลานานแค่ไหน การเตือนภัยใช้ระบบอัตโนมัติ กลางคินคนพักแต่เครื่องไม่ได้พัก ถ้าน้ำป่าดินถล่มก็สามารถรับรู้ได้ ระบบใช้ง่าย หากเครื่องเสียหรือขัดข้องชาวบ้านสามารถซื้ออะไหล่มาซ่อมเองได้”
นายสุเทพ กล่าวต่อว่า มีโครงการจะเข้าไปร่วมกับทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาระบบเตือนภัยนี้ไปสู่การใช้งานในชุมชน โดยจะเริ่มที่ จ.สุราษฎร์ธานี และอุตรดิตถ์ที่เกิดปัญหาดินถล่มน้ำท่วมมาต่อเนื่อง โดยจะนำร่องใน 2-3 หมู่บ้านทดลองใช้ โดยให้ชุมชนบริหารจัดการเอง
"ปัจจุบันภัยพิบัติเป็นสิ่งใกล้ตัว ประชาชนต้องให้ความสนใจเข้าใจกับมัน ซึ่งรัฐเองก็ต้องให้การสนับสนุนจริงจัง รวมทั้งนำเรื่องภัยพิบัติเข้าไปในระบบศึกษา ควรมีวิชาเรียนด้านนี้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพื่อปลูกฝังให้เด็กเข้าใจและมีความตื่นตัวเตรียมพร้อมตลอดเวลา”
สำหรับการทำงานของระบบเตือนภัยดังกล่าว คือเมื่อเกิดน้ำฝนต่อเนื่องวัดปริมาณรวมกันในรอบ 24 ชั่วโมงรวมกันมากกว่า 100,125และ 150 มิลลิเมตร ระบบจะส่งสัญญาณเตือนเป็นเสียงและไฟสัญญาณที่ 3 ระดับคือ เขียว เหลือง แดง นอกจากนี้หากระดับน้ำเต็มตลิ่งหรือดินมีความอิ่มตัวด้วยน้ำแม้ปริมาณน้ำฝนจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องเตือน ระบบก็จะส่งสัญญาณเตือน 3 ระดับเช่นกัน
โดยชาวบ้านสามารถนำเครื่องเตือนภัยดังกล่าว ออกมาติดตั้งในช่วงที่มีประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาว่าจะมีฝนตก การติดตั้งใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง โดยใช้คน 2 คน ซึ่งระบบดังกล่าวมีข้อได้เปรียบอยู่ที่ราคาถูก ดูแลรักษาง่าย และใช้โซลาร์เซลล์เป็นแหล่งพลังงาน ชุดอุปกรณ์ประมวลผลประกอบด้วยชุด PLC ชุดอุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนประกอบด้วยไฟสัญญาณและไซเรน นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อกับเครือข่ายสื่อสารได้ รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบสื่อสารของราชการได้