ทางเลือกทางรอดคนสื่อ ยุค 4.0
สิ่งสำคัญที่จะป้องกันตัวเองได้คือเรื่องความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือสามารถอ้างอิงข้อมูลได้ทุกเรื่อง มีเอกสารประกอบ เป็น Data Journalism นำข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาเล่าแบบใหม่ในแพลตฟอร์มต่างๆ เทรนด์การทำข่าวต่อไปไม่สามารถทำแบบเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ทั้งหมด ต้องเน้นความเฉพาะด้านเฉพาะทาง
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561 หัวข้อ “ทางเลือกทางรอดคนสื่อ ยุค 4.0” ณ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ช่วงหนึ่งมีเวทีเสวนาเรื่อง “ทางเลือกฝ่าวิกฤตวารสารศาสตร์”
น.ส.บุญลาภ ภูสุวรรณ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวไทยพับลิก้า กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการออกมาสำนักข่าวไทยพับลิก้า ขณะนั้นทำงานที่หนังสือพิมพ์ โดยส่วนตัวชอบงานเชิงวิชาการอยากทำข่าวเศรษฐกิจหนักๆ เชิงข้อมูลใช้อ้างอิงได้ จุดยืนของสำนักข่าวไทยพับลิก้า จึงเน้นทำเรื่องข่าวเจาะทั้งเรื่อง สังคมเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม เป็นภาพใหญ่ไม่ต้องแบ่งเป็นโต๊ะข่าว จนทุกวันนี้ก็ยังมีนักข่าว 6 คนและไม่คิดว่าจะขยายใหญ่ไปมากกว่านี้ เพราะเรื่องอื่นๆ ที่เฉพาะทางสามารถหาเอาท์ซอร์สได้จากนักข่าวในสนาม
"จากเริ่มต้นที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักก็พัฒนามาเรื่อย เน้นทำเรื่องตรวจสอบความไม่โปร่งใส การทุจริต คอรัปชั่น สิ่งสำคัญที่จะป้องกันตัวเองได้คือเรื่องความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือสามารถอ้างอิงข้อมูลได้ทุกเรื่อง มีเอกสารประกอบ เป็น Data Journalism นำข้อมูลที่มีอยู่มากมายมาเล่าแบบใหม่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเทรนด์ต่อไปไม่สามารถทำแบบเข้าถึงคนส่วนใหญ่ได้ทั้งหมด ต้องเน้นความเฉพาะด้านเฉพาะทาง"น.ส.บุญลาภ กล่าว และว่า ที่ผ่านมาไทยพับลิก้า ไม่ได้แค่เสนอข่าวเฉยๆ แต่ผลักดันไปสู่การแก้ปัญหา เช่น เรื่องข่าวหวยที่ใช้เครื่องมือขอข้อมูลพบว่า มีมาเฟียเยอะแยะไปหมด จนต่อมานำไปสู่การรื้อปรับโครงสร้างใหม่ซึ่งยังต้องเกาะติดต่อไป ฉะนั้น เราไม่เน้นทำเป็นสื่อใหญ่ คิดเล็ก ทำเล็กเจาะเฉพาะทาง สำหรับนักข่าวแล้วเนื้อหาก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องแพลตฟอร์มก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามรูปแบบ
ด้านนายนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร เดอะ แสตนดาร์ด กล่าวว่า เดอะแสตนดาร์ดเกิดจากโอกาสและช่องว่างทางการตลาดซึ่งกลุ่มผู้อ่านรอข่าวลักษณะนี้ ในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยถือเป็นจุดบรรจบระหว่างความน่าเชื่อถือ และ ความสร้างสรรค์ มีการนำเสนอข่าวด้วยอินโฟกราฟฟิคย่อยข้อมูลยากๆ ให้เข้าใจง่าย คนชอบอ่านอะไรสั้นๆ มีโมชั่นกราฟฟิก เพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
"ปัจจุบันเดอะแสตนดาร์ด มีพนักงาน 80 คน มีนักข่าวประมาณ 20 คน ซึ่งได้พิสูจน์ตัวในการเป็นสำนักข่าวออนไลน์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสื่อ เราจะไม่เรียกตัวเองว่านักข่าว แต่เป็น “CONTENT CREATOR” นำเสนอหลายแพลตฟอร์ม ไขว้กันไปหมด ซึ่งต้องมีพื้นฐานทางด้านวารสารศาสตร์ อย่างนักข่าวต้องไลฟ์ เปิดหน้า จัดรายการ ทำได้หลายแพลตฟอร์ม สิ่งที่สถาบันการศึกษายังต้องให้ความสำคัญในการสอนคือศาสตร์ของการเล่าเรื่องด้วย
ขณะที่นายอภิรักษ์ โรจน์อำพร บรรณาธิการบริหารไทยรัฐออนไลน์ กล่าวถึงการพัฒนามาจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายสิ่งที่ถูกถ่ายทอดมาทางดีเอ็นเอ แต่อีกด้านก็ดูมีอายุทำให้ต้องปรับกันขนานใหญ่ ทั้งวิธีการทำงาน และเรื่องอื่นๆ ดังนั้น ทั้งทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์มีโอกาสรอดยาก ถ้าไม่ปรับตัว ยกตัวอย่างวิธีคิดเรื่องรายได้ เช่น จากเดิมหนังสือพิมพ์แยกการทำข่าวและการหาโฆษณา แต่ระบบใหม่ออนไลน์ทุกอย่างเป็นเงิน ฉะนั้น เรื่องมาร์เก็ตติ้งจะใช้แบบเดิมไม่ได้ต้องปรับตัวเพื่อรองรับผู้บริโภค โดยต้องหาว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ถือเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยาก
"จากบิ๊กดาต้า ทำให้เรารู้ว่าเราจะไปทางไหน บอกได้ว่าอนาคต จะเกิดอะไรขึ้น แต่ด้วยความเป็นองค์กรข่าว อย่างไรก็ต้องคงคุณค่าความเป็นข่าวให้ได้"
ส่วน นายนิกร จันพรม ผู้ก่อตั้ง เว็บไซต์ 77kaoded.com กล่าวว่า นักข่าวหากไม่คิดปรับตัวก็ตาย เวลานี้ต้องสามารถทำงานโดยมีทักษะที่หลากหลายได้ และจากที่เปิดเว็บไซต์มาทำให้เห็นว่า เดินทางมาถูกทางเป็นการปรับโครงสร้างฝ่าวิกฤติ ยุคนี้หาคนทำสื่อยาก สิ่งสำคัญคือเรื่องเนื้อหา ส่วนรูปแบบการนำก็สามารถเปลียนแปลงไปได้ เชื่อว่า แนวทางนี้จะโตขึ้นไปเรื่อยๆและเป็นชุมชนที่ยึดโยงสังคเข้าไว้ด้วยกัน
สุดท้ายนายนิรันดร์ศักดิ์ บุญจันทร์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์วรรณกรรม the paperless กล่าวถึงการเริ่มต้นทำเว็บไซต์ด้วยเงิน 7,000 บาท ด้วยต้นทุนสมัยที่เคยทำงานในองค์กรเก่า ขณะที่บ้านก็มีหนังสือมากเหมือนเป็นบิ๊กดาต้า โดยครั้งแรกชวนนักเขียนใหญ่มาร่วมงานทั้ง อาจินต์ ปัญจพรรค์ แดนอรัญ แสงทองมาร่วมเขียน
“จากที่ได้เปลี่ยนมาทำเว็บไซต์ ทำให้เห็นว่าทำนิตยสารยากกว่าเหนื่อยกว่าเพราะมีหลายขั้นตอน มีภาพ มีคอนเทนต์ แต่พอปรับมาทำเว็บไซต์ก็ไม่ได้ทำแค่เนื้อหา มีทั้ง แต่งเพลง วิจารณ์หนังสือ ซึ่งให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ระหว่างการทำเว็บไซต์ กับเนื้อหาในสิ่งพิมพ์ เพราะเว็บไซต์ลงออนไลน์ ก็จะรู้ปฏิกิรยาตอบรับทันที ทำไปก็จะรู้ว่าบางเรื่องเหมาะกับทำพ็อคเก็ตบุ้ค บางเรื่องเหมาะกับทำออนไลน์ บางเรื่องที่คิดว่าคนไม่สนใจแต่กลับสนใจได้และมีเสียงตอบรับกลับมาอย่างรวดเร็ว”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เทคโนโลยี 4.0 ข่าวแห่งอนาคต ผอ.เนคเทค ชี้ไม่เกิน 5 ปี สื่อไทยใช้AI ในเลือกเนื้อหา-ประเด็น