ฮั้ว-เบิกจ่ายก่อนงานเสร็จ! เปิดผลวิจัย ป.ป.ช.พบ อปท.ทุจริตเรื่องงบประมาณมากสุด 81%
ล้วงผลวิจัยรูปแบบ-ปัจจัยเสี่ยงการทุจริตใน อปท. ฉบับ ป.ป.ช. พบส่วนใหญ่ทุจริตเรื่องการจัดการเงินมากถึง 81% นับเฉพาะจัดซื้อจัดจ้าง 292 คดีแล้ว เน้นเอื้อประโยชน์-ฮั้วเอกชน เบิกจ่ายก่อนงานเสร็จ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์วิจัยเพื่อต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ้งภากรณ์ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำโครงการวิจัยเรื่อง รูปแบบการทุจริตและปัจจัยเสี่ยงทีก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
เบื้องต้น ศูนย์วิจัยฯ สำนักงาน ป.ป.ช. สรุปข้อเท็จจริงว่า จากการศึกษาข้อมูล และคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยมีมติชี้มูลความผิด พบว่า ที่ผ่านมามีรูปแบบการทุจริต 5 รูปแบบ คือ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง การทุจริตในงานการเงินและบัญชี การทุจริตในการบริหารงานบุคคล การทุจริตในการบังคับใช้กฎหมายและการทุจริตในการบริการ
โดยรูปแบบการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ 1) การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง มีจำนวนทั้งสิ้น 159 คดี จากคดีทั้งหมด 292 คดี คิดเป็นร้อยละ 54 โดยพบรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด เป็นการทุจริตในขั้นตอนหาผู้รับจ้าง/ผู้ขาย เช่น การปกปิดประกาศสอบราคา/ประกวดราคา การเอื้อประโยชน์หรือกีดกันผู้เสนอราคาบางราย การเรียกรับเงินเพื่อเป็นค่าตอบแทนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการบางรายให้เป็นผู้ได้รับงาน เป็นต้น รองลงมาเป็นการทุจริตในขั้นตอนการเบิกจ่าย เช่น การเบิกจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้างทั้งที่งานยังไม่เสร็จ เป็นต้น
2) รูปแบบการทุจริตในงานการเงินและบัญชี มีจำนวน 79 คดี โดยพบรูปแบบการทุจริตที่พบมาก คือ การเบียดบังเงินหรือทรัพย์สินของหน่วยงานเป็นของตนหรือผู้อื่น เช่น ค่าภาษี ค่าธรรมเนียม เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ฯลฯ รองลงมาเป็นการทุจริตในการเบิกจ่ายเงิน เช่น การเบิกจ่ายเงินค่าเช่าบ้านเกินกว่าที่จ่ายไปจริง เป็นต้น
3) รูปแบบการทุจริตในการบริหารงานบุคคล พบว่า มีคดีทุจริตที่เกิดขึ้นจำนวน 37 คดี ซึ่งการทุจริตในการบริหารงานบุคคลนั้นจะเกิดขึ้นในทุกขั้นตอน เช่น การเรียกรับเงินของผู้มีอำนาจในการกำหนดตำแหน่งเพื่อรองรับบุคคลที่ตนใกล้ชิดหรือเสนอให้ผลประโยชน์ การสอบบรรจุ การเรียกตัวเพื่อแต่งตั้ง การโอนย้าย การต่อสัญญาจ้าง (กรณีลูกจ้างตามสัญญา) การประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี และการเรียกส่วนแบ่งจากเงินโบนัส เป็นต้น
4) รูปแบบการทุจริตในการบังคับใช้กฎหมาย พบว่ามีคดีทุจริตที่เกิดขึ้นจำนวน 9 คดี จากอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยและความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง การดำเนินการต่างๆ จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรหรือเจ้าหน้าที่ เช่น อำนาจการออกข้อบัญญัติงบประมาณประจำปี เป็นต้น การทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีการบังคับใช้กฎหมายนั้น มักจะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ รวมถึงกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ละเว้นการปฏิบัติการตามกฎหมายและมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหรือข้อบัญญัติโดยมิชอบ ซึ่งกรณีที่พบจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของสภาท้องถิ่นโดยมิชอบ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบัญญัติที่ผ่านสภาท้องถิ่นมาแล้ว
5) รูปแบบการทุจริตในการบริการ พบว่า มีคดีทุจริตที่เกิดขึ้นจำนวน 8 คดี ที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาตแบบต่างๆ งานทะเบียนราษฎร์ ซึ่งการทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีการบริการนั้น มักจะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ รวมถึงกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ละเว้นการปฏิบัติการตามกฎหมายและมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบหรือข้อบัญญัติโดยมิชอบ ซึ่งกรณีที่พบจะเป็นการดำเนินการออกใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคารโดยมิชอบ การอนุญาตให้ผู้รับเหมาก่อสร้างกระทำการอันมิชอบ และการย้ายเข้าหรือย้ายออกบุคคลจากทะเบียนราษฎรโดยมิชอบ
จากรูปแบบการทุจริตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดังกล่าวแล้วข้างต้น พบว่ามีข้อมูลสถิติที่น่าสนใจยิ่ง คือคดีที่ชี้มูลความผิด เป็นคดีที่เกี่ยวกับเงินหรืองบประมาณ (การจัดซื้อจัดจ้างและการเงินการบัญชี)มากถึงร้อยละ 81 ของคดีทั้งหมด อีกร้อยละ 19 เป็นคดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลการบังคับใช้กฎหมาย และการบริการ ซึ่งควรมีการจัดทำมาตรการเพื่อการแก้ไขและลดความเสี่ยงการทุจริตดังกล่าวเป็นลำดับแรก