นายกฯชาวนา คุยยิ่งลักษณ์เดินหน้า พ.ร.บ.สวัสดิการชาวนา-โอดจำนำข้าว
นายกสมาคมชาวนา ขอยิ่งลักษณ์เร่งคลอด พ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนา โอดปัญหาจำนำข้าว-ประกันพืชผล วอนสร้างคุณภาพชีวิตกระดูกสันหลังชาติสู้เออีซี
วันที่ 5 มิ.ย.55 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ภายหลังนำผู้นำชาวนาเข้าพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี2555 ว่าสิ่งที่ชาวนาเป็นห่วงคือเรื่องสวัสดิการความเป็นอยู่ ชาวนาไทยแสดงออกถึงพลังในการพัฒนาขับเคลื่อน สร้างคุณภาพชีวิตเตรียมความพร้อมต้อนรับเออีซี การขับพบนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารผู้นำประเทศ ผู้กำหนดนโยบายต่างๆโดยเฉพาะเรื่องชาวนาก็เพื่อต้องการความชัดเจนว่าชาวนาต้องได้รับพัฒนาอย่างจริงจัง ซึ่งชาวนาอยากรู้แนวทางบริหาร แนวทางแก้ไขปัญหาชาวนาว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่อยากเห็นความชัดเจนคือเรื่องสวัสดิการชาวนาหรือพ.ร.บ.กองทุนสวัสดิการชาวนาที่มีการยื่นไปแล้วหลายรัฐบาลแต่ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไรจึงอยากให้รัฐบาลเร่งรัดให้สำเร็จ โดยให้นำเข้าครม.และประกาศใช้โดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมองว่าเป็นกองทุนซ้ำซ้อนกองทุนการออมแห่งชาติ ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องเกี่ยวโยงกัน เพราะนี่เป็นเรื่องของชาวนา ควรมองต่างมุมมองอื่นจะดีกว่า
“รัฐต้องตระหนักว่าสวัสดิการชาวนาก็เพื่อช่วยชาวนา คนละเรื่องกับกองทุนการออมแห่งชาติ จึงฝากว่าจะช่วยยังไงให้เกิดประโยชน์กับชาวนาทั่วประเทศ ถ้านำมาแก้ใหม่ต้องเอาเข้าครม.อีกหรือเปล่า ถ้าเอาเข้าครม.อีกเรื่องก็ยิ่งจะยืดยาวออกไป ชาวนาอยากให้รัฐบาลชุดปัจจุบันเร่งดำเนินการแต่เสียดายเวลามีน้อย ท่านนายกรัฐมนตรีติดภารกิจจึงยังไม่ได้คุยในปัญหาชาวนาอีกหลายเรื่อง”
นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ยังกล่าวกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชนฯอีกว่า นอกจากนี้ชาวนายังเป็นห่วงเรื่องการรับจำนำข้าวที่ยังมีปัญหาใบประทวน การสวมสิทธิ์ โกดังไม่พอ การกำหนดเขตการรับจำนำ ขั้นตอนการขออนุญาตยุ่งยาก กว่าจะผ่านคณะอนุกรรมการกขช. ข้าวมันสุกแล้วมันต้องรีบเร่ง ต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่อยากให้รัฐบาลแก้ไขแค่ปัญหาเฉพาะหน้า รวมทั้งการประกันพืชผล ประกันความเสี่ยงในพืชผลการผลิต รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง รีบเร่งทำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ซึ่งยังมีบางประเด็นไม่ชัดเจน หาหลักเกณฑ์กันอยู่ ซึ่งจะได้ติดตามรายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งต่อไป
“ถ้ามองในเรื่องการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรของรัฐ มองว่าชาวนายังไม่พอใจ ยังไม่มีอะไรออกมาชัดเจน ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตก็ยังไม่ชัดเจน งบประมาณที่จะลงมาช่วยชาวนาก็ไม่มีเท่าที่ควร อยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญ เข้ามาดูแลให้มากกว่านี้อีก 2 ปีข้างหน้าที่ต้องไปต่อสู้กับประชาคมอาเซียนเป็นเรื่องที่หนักหนาพอสมควร แต่ชาวนาก็ไม่ได้กำหนดขีดเส้นตายว่ารัฐบาลจะทำเสร็จเมื่อไหร่ เพียงแต่ขอให้รับปากว่าจะดำเนินการก็พอ” นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าว
อนึ่ง เว็บไซต์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า วันที่ 12 เม.ย.54 คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการชาวนา พ.ศ..... มีสาระสำคัญคือ ให้มีกฎหมายว่าด้วยกองทุนสวัสดิการชาวนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา 2. ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับความเห็นของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน สำนักงาน ก.พ. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ที่เห็นควรให้กรมการข้าวบริหารจัดการภารกิจกองทุนสวัสดิการชาวนา โดยไม่จำเป็นต้องจัดตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่ ซึ่งสอดคล้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 เรื่อง การขยายระยะเวลาของมาตรการระงับการขอจัดตั้งหน่วยงานใหม่ หรือขยายหน่วยงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินสมทบของชาวนา (ร้อยละ 3 ของการขายข้าวในแต่ละปี)
การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่ง การกำหนดให้สมาชิกต้องมีพื้นที่เพาะปลูกไม่เกิน 15 ไร่ เงินบำเหน็จบำนาญที่จ่ายให้สมาชิกต่อเดือนและระยะเวลาการเริ่มได้สิทธิรับเงินบำเหน็จบำนาญเพื่อให้ชาวนาได้รับประโยชน์ที่คุ้มค่า มีแรงจูใจในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก และมีความสามารถในการจ่ายเงินสมทบของทั้งชาวนาและรัฐบาลตลอดจนมีแนวทางในการบริหารจัดการกองทุนที่ชัดเจนในกรณีที่ชาวนาเป็นสมาชิกในหลายกองทุน นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ควรมีมาตรการและกลไกด้านอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้ชาวนามีผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และลดต้นทุนการทำนา ตลอดจนเข้ามาดูแลกลไกตลาดข้าวเปลือกเพื่อให้ชาวนาได้รับความเป็นธรรมไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง และข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติกองทุนสวัสดิการชาวนา พ.ศ. .... อาจซ้ำซ้อนกับร่างพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ....ในบางประเด็น
จึงควรให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับไปตรวจพิจารณาไม่ให้ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับมีความซ้ำซ้อนกัน และควรพิจารณากำหนดเงื่อนไขการจ่ายเงินสมทบ เพดานการเก็บเงินเข้ากองทุน สิทธิประโยชน์ และการบริหารจัดการกองทุน โดยให้คำนึงถึงข้อดีข้อเสียในการมีกองทุนสวัสดิการเป็นการเฉพาะ ไปประกอบการพิจารณาด้วยแล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป และ
3. ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาด้วยว่า หากผู้ประกอบอาชีพทำนาซึ่งไม่มีรายได้ประจำได้ประสงค์จะเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่เพียงใด
ที่มาภาพ : http://www.isranews.org/comm/index.php?option=com_content&task=view&id=214&Itemid=2