เทคโนโลยี 4.0 ข่าวแห่งอนาคต ผอ.เนคเทค ชี้ไม่เกิน 5 ปี สื่อไทยใช้AI ในเลือกเนื้อหา-ประเด็น
เทคโนโลยี 4.0 ข่าวแห่งอนาคต ผอ.เนคเทค ชี้ไม่เกิน 5 ปี คาดสื่อไทยใช้AI ในกระบวนการทำข่าว ระบุชัดวันนี้สื่อต่างชาติทำแล้ว ทั้งรวบรวมข่าว ประมวลและกระจายข้อมูล
วันที่ 19 ตุลาคม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561 หัวข้อ “ทางเลือกทางรอดคนสื่อ ยุค 4.0”
ช่วงเช้ามี บรรยายพิเศษ(TED TALK) หัวข้อ “เทคโนโลยี 4.0 ข่าวแห่งอนาคต”
นายชรัตน์ เพ็ชร์ธงไชย หัวหน้าธุรกิจ LINE TODAY, LINE ประเทศไทย กล่าวถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยใช้เวลาอยู่กับสมาร์ทโฟนถึง 216 นาที ในแต่ละวันและพบว่า มีอยู่ 3 แพลตฟอร์มที่ผู้บริโภคใช้มากสุด ได้แก่ ไลน์ เฟชบุ๊ค และกูเกิ้ล
สำหรับคนสร้างเนื้อหาข่าว นายชรัตน์ กล่าวว่า วันนี้มีช่องทางการปล่อยเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ แพลตฟอร์มไลน์ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ตัวข่าว เนื้อหาข่าวกระจายสู่สาธารณชนมากขึ้น ฉะนั้น สื่อไทยก็ต้องนำเนื้อหาข่าวไปอยู่ในที่ที่คนมองเห็น และอยู่เยอะๆ
"ความรวดเร็วของเนื้อหาข่าวจึงไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่คือความจริง และสร้างเนื้อหาข่าวให้มีคุณภาพ ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย" นายชรัตน์ กล่าว และว่าท่ามกลางข้อมูลมหาศาล ( Content overload) เราสามารถคัดกรองเนื้อหาข่าวได้ด้วย AI (ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence:AI)
ด้านดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค ในฐานะเชี่ยวชาญด้าน AI มากว่า 20 ปี กล่าวถึงอนาคตของข่าวยุค AI และข่าวดิจิทัลว่า ปัจจุบันสื่อมวลชนมีทางเลือกมีอิสระภาพมากในการใช้แพลตฟอร์มมากขึ้นกว่าเดิม รวมถึงเราจะเห็นวิถีใหม่ของการทำรายการทีวีที่ไม่ได้ใช้การผลิตแบบเดิมเพราะต้องลงทุนมหาศาล ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ Facrbook Live หรือ Youtube แทนได้ ถือเป็นการต่อสู้อย่างมากระหว่างสองค่าย
ขณะที่สื่อส่วนใหญ่ปัจจุบันก็เลือกใช้แพลตฟอร์ม Google Search และ Facebook มากสุด รองลงมา Twitter แต่ยังมีทางเลือกแพลตฟอร์มอื่นๆอีก ที่สื่อไทยสามารถใช้เป็นช่องทางกระจายข่าวได้อีก เช่น Pinterest Drudge Report LinkedIn Reddit เป็นต้น
ผอ.เนคเทค ยังกล่าวถึงโมเดลธุรกิจสื่อ สมัยก่อนรายได้มาจากโฆษณา หรือผู้สนับสนุนเป็นหลัก วันนี้ขยับสู่ User Pay จากจะเห็นว่า การรับสมัครติดตามข่าวสารแบบจ่ายเงิน แบบสมาชิก (subscription) เริ่มสูงขึ้น กำลังเติบโตขึ้นนำการโฆษณาที่ติดมากับวิดีโอ ผู้สนับสนุน และโฆษณาแล้ว
ขณะที่กระบวนการทำข่าว ในห้องข่าว ดร.ชัย กล่าวว่า มีการสำรวจของต่างประเทศพบว่า 59% เริ่มนำAIมาใช้ในการเลือกเนื้อหาข่าว แนะนำประเด็นข่าว และแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อสื่อมวลชนจะได้ไม่จมกับข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลในแต่ละวัน รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำสื่อทุกกระบวนการ
"จากAI ถูกนำมาใช้ในการเขียนข่าวกีฬา อนาคตอันใกล้ AI จะสามารถเขียนเรียงความ แต่งเพลงจนติดอันดับยอดฮิต เริ่มทำวิดีโอ และอีก 40 ปีข้างหน้า AI จะสามารถทำวิจัยได้ด้วย "ดร.ชัย กล่าว และว่า ในวงการข่าวต่างประเทศ AI ถูกนำมาใช้เยอะแล้ว สำหรับประเทศไทยคาดว่า จะเกิดขึ้นภายใน 5 ปี เราจะเริ่มนำAI เข้ามาใช้ในกระบวนการข่าวทั้งการรวบรวมข่าว ประมวลข้อมูล และกระจายข้อมูล
ช่วงท้ายผอ.เนคเทค กล่าวด้วยว่า สมัยก่อนเรามักจะมองว่า การเขียนข่าวคือศิลปะไม่มีทางที่ AI ทำได้ ซึ่ง เป็นมุมมองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หลังๆ AI เรียนรู้ศิลปะ เมื่อศิลปะของคนใส่เข้าไปเรื่อยๆ และข้อมูลที่มีมากขึ้น ทำให้AI เขียนข่าวในสไตล์เฉพาะตัวได้ ด้วยAI เรียนรู้จากข้อมูล AI จะเรียนรู้สำนวนของมนุษย์ รวมไปถึงการใช้ AI กระจายข่าวก็เกิดขึ้นเรียบร้อยแล้ว
ขอบคุณภาพจาก :https://www.facebook.com/banyong.suwanpong