ร้องผู้บริหารอินไซด์เดอร์ถูกเลิกจ้าง ชนะคดีในศาลแรงงานได้เพิ่ม9แสน-ก.ล.ต.สอบซ้ำนายจ้าง
การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หรือการถูกเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรนั้น นอกจากกฎหมายแรงงานจะได้ให้อำนาจศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้างหรือกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้แทนแล้วนั้น บรรดาลูกจ้างอาจจะต้องดูกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ด้วยว่าการเลิกจ้างนั้นเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่
ซึ่งในบางกรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมนั้นอาจเป็นความผิดซึ่งมีโทษทางอาญาเลยทีเดียว ดังเช่น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/2 กำหนดหลักเกณฑ์ว่าห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์เลิกจ้างลูกจ้างโดยเหตุที่บุคคลนั้นให้ข้อมูล ให้ความร่วมมือ หรือให้ความช่วยเหลือแก่คณะกรรมการก.ล.ต. ฯลฯ หากฝ่าฝืนได้มีการบัญญัติโทษไว้ในมาตรา 281/1 ว่า บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 89/2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท (วรรคสอง)ในกรณีที่บริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าการกระทำความผิดของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทนั้นเกิดจากการสั่งการ หรือการกระทำของบุคคลใด หรือไม่สั่งการหรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งต้องรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์หรือบริษัทนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ เมื่อช่วงประมาณเดือน เม.ย. 2561 อดีตลูกจ้างของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นฟ้องบริษัทต่อศาลแรงงานกลางในข้อหาเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
อดีตลูกจ้างหรือโจทก์ในคดีกล่าวอ้างว่า ได้ถูกนายจ้างกลั่นแกล้ง โดยการเลิกจ้างสืบเนื่องจากเมื่อประมาณเดือน เม.ย. 2559 โจทก์ได้รับการติดต่อจากสำนักงานคณะในกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. เพื่อเป็นพยานให้ข้อมูลกรณีผู้บริหารระดับสูงในบริษัทใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์หรือ Insider Trading ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จึงเป็นเหตุให้บริษัทไม่พอใจ กลั่นแกล้งและเลิกจ้างโจทก์ในเวลาต่อมา
คดีได้เข้าสู่กระบวนการสืบพยานโดยฝ่ายโจทก์ขึ้นเบิกความเองและฝ่ายบริษัทอ้างผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทเข้าเบิกความเป็นพยานประกอบเอกสาร
ศาลได้วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเลขานุการของผู้บริหารคนดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาประมาณ 14 ปี แต่เมื่อโจทก์ได้รับการประสานจากก.ล.ต. เพื่อขอข้อมูลกรณี Insider Trading และต่อมาก.ล.ต. ได้มีหนังสือเรื่องขอกำชับให้ระมัดระวังการซื้อขายหลักทรัพย์ แจ้งผู้บริหารระดับสูงคนดังกล่าวเพื่อทราบและถือปฏิบัติต่อไปโดยเคร่งครัด ปลายปี 2559 บริษัทจึงได้ประเมิลผลการทำงานของโจทก์ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ขอโอกาสแก้ไข แต่ผลการประเมินของโจทก์ปี 2560 ไม่ผ่านบริษัทจึงเลิกจ้างด้วยสาเหตุเข้างานสายกลับก่อนเวลา ประสานงานผิดพลาด บกพร่อมในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ปรากฏความผิดร้ายแรงและไม่มีการออกหนังสือตักเตือนโจทก์ กรณีเป็นการประเมินผลและเลิกจ้างต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่โจทก์ให้ความร่วมมือโดยให้ข้อมูลต่อก.ล.ต. เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมีมูลเหตุที่แท้จริงดังกล่าว จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 894,740.- บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (30 ม.ค. 2561) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ รายละเอียดปรากฏตามคำพิพากษาฉบับเต็ม
สำหรับในกรณีนี้ แม้ศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาว่าเป็นการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมและกำหนดค่าเสียหายที่บริษัทจะต้องชำระให้แก่อดีตลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวจะถือว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 89/2 ด้วยหรือไม่นั้น คงอยู่ในอำนาจการพิจารณาของก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งโจทก์ในคดีนี้ก็ได้ส่งข้อมูลไปยังก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นกรณีที่น่าติดตามอย่างมากเนื่องจากเป็นกรณีแรกในประเทศไทยที่ก.ล.ต. จะได้หยิบยกมาตรา 89/2 ขึ้นมาวินิจฉัย คงภายหลังจากนี้ก็คงจะต้องรอผลการดำเนินการจากทางฝั่งก.ล.ต. ว่าการกระทำดังกล่าวของบริษัทหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องจะถือเป็นความผิดตามมาตรา 89/2 ด้วยหรือไม่ และหากวินิจฉัยว่าเป็นความผิดแล้วจะได้มีการลงโทษประการใดอันจะเป็นสร้างมาตรฐานให้กับการบังคับใช้มาตรา 89/2 ต่อไป
-
file download