บังคับใช้แล้ว!ระเบียบศาลฎีกาไต่สวนนักการเมือง-องค์กรอิสระผิดจริยธรรมร้ายแรง
บังคับใช้แล้ว! ประธานศาลฎีกาลงนามระเบียบไต่สวนการฝ่าฝืน-ไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมร้ายแรงผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง-ตุลาการศาล รธน.-องค์กรอิสระ-ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน-กก.ป.ป.ช.เข้าข่ายด้วย ถ้าศาลรับคำร้องต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2561 สำนักกฎหมายและวิชาการศาลยุติธรรม ระบุว่า ประธานศาลฎีกา (นายชีพ จุลมนต์) ได้ลงนามในระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง พ.ศ.2561 และได้นำเสนอต่อต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
หลักการสำคัญในการออกระเบียบดังกล่าวคือ เพื่อให้มีวิธีการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 219 และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
สาระสำคัญของระเบียบดังกล่าว ข้อ 11 ระบุว่า เมื่อผู้ร้องเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา โดยทำเป็นคำร้อง
คำร้องต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความที่เป็นการกล่าวหาว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมข้อใดอันมีลักษณะร้ายแรง และต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาเพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง พร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินกระบวนการพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ โดยให้ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือคณะผู้ไต่สวนอิสระ (คณะบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน ซึ่งประธานศาลฎีกาแต่งตั้งเพื่อทำหน้าที่ไต่สวน กรณีกล่าวหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง) แล้วแต่กรณีมาให้ศาลพิจารณา
ข้อ 12 เมื่อผู้ร้องดำเนินการครบถ้วนตามข้อ 11 แล้ว ให้ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาโดยเร็ว และให้ส่งสำเนาคำร้องพร้อมเอกสารประกอบแก่ผู้คัดค้านหรือมีคำสั่งแจ้งให้ผู้คัดค้านมารับสำเนาคำร้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องแล้ว ผู้คัดค้านต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น และให้ศาลแจ้งคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ
เมื่อผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำร้องและยื่นคำคัดค้านแล้ว หรือผู้คัดค้านไม่ยื่นคำคัดค้านภายใน 14 วันนับแต่รับสำเนาคำร้อง หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในเวลากำหนด ให้ดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อโดยเร็ว
นอกจากนี้ในข้อ 33 ระบุถึงการดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อประธานศาลฎีกาแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระตามมาตรา 236 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 แล้ว ให้แจ้งรายชื่อคณะผู้ไต่สวนอิสระไปยังประธานรัฐสภาภายใน 7 วันนับแต่วันแต่งตั้ง และให้ประกาศรายชื่อคณะผู้ไต่สวนอิสระไว้ที่ศาลฎีกาด้วย
ข้อ 38 ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการตรวจคำร้อง กำหนดประเด็น รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้ความว่า ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามข้อกล่าวหาหรือไม่
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะผู้ไต่สวนอิสระมีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช. โดยอนุโลม และมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลเพ่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่มอบหมายในการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้ไต่สวนอิสระ
ข้อ 41 ระบุด้วยว่า ห้ามมิให้ผู้ไต่สวนอิสระ ทำหรือจัดทำให้การใด ๆ ซึ่งเป็นการล่อลวงหรือขู่เข็ญหรือให้สัญญาแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือพยานเพื่อจูงใจให้เขาให้ถ้อยคำใด ๆ ในเรื่องที่กล่าวหานั้น
อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม ที่นี่
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก thaiPBS