โลกนี้ยังต้องการผู้หญิง
"...ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา มีบริษัทที่จดทะเบียนราว 400 บริษัท และประมาณ 1 ใน 4 หรือราว 100 บริษัทไม่มีกรรมการเป็นผู้หญิง การขาดแคลนผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงของบริษัทต่างๆ ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียต้องนำร่องออกกฎหมายเพื่อเพิ่มกรรมการหญิงในบอร์ดของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสาระสำคัญของกฎหมายคือ “ภายในปี 2019 บริษัทจะต้องมีกรรมการบริษัทที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อยที่สุด 1 คนและภายในปี 2021 บริษัทที่มีกรรมการ 5 คนจะต้องมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 2 คน และบริษัทที่มีกรรมการ 6 คนหรือมากกว่าจะต้องมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 3 คน” ถ้าบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะมีโทษปรับในความผิดครั้งแรก 100,000 เหรียญดอลลาร์และความผิดครั้งที่สอง 300,000 เหรียญดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าตั้งแต่ปี 2019 กรรมการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของรัฐแคลิฟอร์เนียจะไม่ถูกผูกขาดโดยกรรมการผู้ชายอีกต่อไป..."
ข่าวเล็กๆที่สำนักข่าวรอยเตอร์และสำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักได้นำเสนอเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2561 ได้สร้างความสนใจให้กับผู้คนในวงการเทคโนโลยีและวงการรับสมัครงานอยู่พอสมควร เมื่อ บริษัท อเมซอนยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจออนไลน์ยกเลิกระบบคัดเลือกผู้สมัครงานแบบอัตโนมัติที่ได้พัฒนาขึ้น เพราะผู้เชี่ยวชาญพบข้อผิดพลาดสำคัญในอัลกอริทึม (ลำดับคำสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน) ของระบบการคัดเลือกผู้สมัครพนักงานอัตโนมัติรุ่นใหม่ เนื่องจากระบบอัตโนมัติที่ว่านี้ “ไม่ชอบผู้หญิง”
การที่ระบบการคัดเลือกผู้สมัครงานไม่ชอบผู้หญิงอาจเกิดจากอัลกอริทึมของระบบถูกสั่งให้ตรวจสอบใบสมัครที่ส่งเข้ามายังบริษัทในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาและระบบได้เรียนรู้ข้อมูลในใบสมัครซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้สมัครผู้ชายจึงเป็นไปได้ว่า อัลกอริทึมมีความเอนเอียงที่จะเลือกผู้สมัครเพศชายซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ส่งใบสมัคร ดังนั้นใบสมัครใดก็ตามที่มีคำว่า ผู้หญิง หรือข้อความที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงจะถูกระบบจัดลำดับความสำคัญต่ำกว่าผู้ชาย นอกจากนี้รายงานข่าวยังกล่าวว่า ระบบรับสมัครงานอัตโนมัติมีการกดคะแนนของผู้สมัครที่มาจากโรงเรียนที่มีนักเรียนหญิงล้วนอีกสองโรงเรียนด้วย
ความผิดพลาดของระบบรับสมัครงานอัตโนมัติ ทำให้บริษัทต้องปรับปรุงแก้ไขโปรแกรมเพื่อให้การคัดเลือกผู้สมัครเป็นกลางมากที่สุด อย่างไรก็ตามไม่มีใครรับประกันได้ว่าความผิดพลาดนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกกับอัลกอริทึมของบริษัทนี้หรือบริษัทอื่นๆ รวมทั้งองค์กรต่างๆที่ใช้อัลกอริทึมในการคัดเลือกผู้สมัครงานหรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นในอนาคต
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อใดก็ตามถ้าเครื่องมือนี้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างโดยขาดการตรวจสอบที่เข้มงวดก็เท่ากับว่าเป็น การซ้ำเติมความไม่สมดุลทางอาชีพระหว่างชายกับหญิงซึ่งมีมากอยู่แล้วให้มากขึ้นไปอีก เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้การใช้ระบบอัตโนมัติในการตัดสินใจแทนมนุษย์เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงานจะทำให้ลดความลำเอียงของมนุษย์ลงได้ในระดับหนึ่งก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้ Big data และอัลกอริทึมจะให้ผลลัพธ์ที่มีความเป็นธรรมเสมอไป หากผู้พัฒนาระบบยังไม่สามารถปิดจุดอ่อนของการออกแบบอัลกอริทึมเพื่อกำจัดความชอบหรือไม่ชอบในการคัดเลือกเพศของผู้สมัครได้
โลกนี้มีประชากรราว 7,600 ล้านคน มีจำนวนผู้ชายมากกว่าผู้หญิงไม่มากนัก หากคิดเป็นอัตราส่วนก็จะอยู่ราว 106 (ชาย) : 100(หญิง) ถ้าดูในรายละเอียดจะพบว่าแต่ละประเทศมีจำนวนประชากรชายและหญิงมากน้อยต่างกันไปหรือบางประเทศอาจมีจำนวนชายหญิงใกล้เคียงกัน เป็นต้นว่า สหรัฐอเมริกาและรัสเซียมีประชากรหญิงมากกว่าผู้ชาย อินเดียและจีนมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ประเทศไทยมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เป็นต้น
แม้ว่าจำนวนผู้ชายในโลกนี้จะมีจำนวนมากกว่าผู้หญิงไม่มาก แต่ดูเหมือนว่าอาชีพจำนวนมากยังถูกยึดครองโดยผู้ชาย จนทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมทางอาชีพระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้น แทบจะถูกผูกขาดโดยผู้ชายโดยสิ้นเชิง
จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ในข่าวชิ้นเดียวกันพบว่า บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เช่น Amazon Facebook Apple Google และ Microsoft ล้วนแต่มีพนักงานชายเกินกว่า 60 เปอร์เซ็นต์และจากข้อมูลที่เผยแพร่โดย World Economic Forum พบว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกนั้น มีผู้หญิงที่อยู่ในงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (Science-Technology-Engineering-Mathematics:STEM) ในภาพรวม น้อยกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ สถานภาพดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยต่างอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน
นอกจากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ยังมีพนักงานผู้หญิงจำนวนน้อยแล้ว คณะกรรมการบริษัทหรือเรียกกันว่าบอร์ด ในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ๆยังขาดความสมดุลระหว่างกรรมการบริษัทชายกับหญิง โดยมีสัดส่วนกรรมการบริษัท ชาย : หญิง แตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก เป็นต้นว่า Facebook (7:2) Apple (6:2) Cisco(8:3) Intel(7:2) Oracle(11:3) และ Netflix(8:4)
ปัจจุบันรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกา มีบริษัทที่จดทะเบียนราว 400 บริษัท และประมาณ 1 ใน 4 หรือราว 100 บริษัทไม่มีกรรมการเป็นผู้หญิง การขาดแคลนผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงของบริษัทต่างๆ ทำให้รัฐแคลิฟอร์เนียต้องนำร่องออกกฎหมายเพื่อเพิ่มกรรมการหญิงในบอร์ดของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีสาระสำคัญของกฎหมายคือ “ภายในปี 2019 บริษัทจะต้องมีกรรมการบริษัทที่เป็นผู้หญิงอย่างน้อยที่สุด 1 คนและภายในปี 2021 บริษัทที่มีกรรมการ 5 คนจะต้องมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 2 คน และบริษัทที่มีกรรมการ 6 คนหรือมากกว่าจะต้องมีกรรมการหญิงอย่างน้อย 3 คน” ถ้าบริษัทใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวจะมีโทษปรับในความผิดครั้งแรก 100,000 เหรียญดอลลาร์และความผิดครั้งที่สอง 300,000 เหรียญดอลลาร์ ซึ่งหมายความว่าตั้งแต่ปี 2019 กรรมการบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ของรัฐแคลิฟอร์เนียจะไม่ถูกผูกขาดโดยกรรมการผู้ชายอีกต่อไป
ประเด็นที่น่าเรียนรู้ที่ผู้เสนอใช้เป็นข้อมูลประกอบการเสนอกฎหมายฉบับนี้ได้แก่ข้อมูลรายงานการศึกษาที่สนับสนุนข้อได้เปรียบในการมีผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงขององค์กรซึ่งมาจากผลการศึกษาและวิจัยของสถาบันที่มีชื่อเสียง ได้แก่
ข้อมูลดัชนี MSCI (Morgan Stanley Capital International) ในปี 2017 รายงานว่า จากการศึกษาบริษัทต่างๆในสหรัฐอเมริกาที่มีกรรมการหญิงระหว่างปี 2011-2016 พบว่าบริษัทที่มีกรรมการผู้หญิง 3 คนหรือมากกว่าจะมีผลประกอบการ กำไรต่อหุ้น (Earningper share) สูงกว่าบริษัทที่ไม่มีกรรมการผู้หญิงราว 45 เปอร์เซ็นต์ ในระยะเริ่มต้นของช่วงปีดังกล่าว
จากการศึกษาของบริษัท Credit Suisse เมื่อปี 2014 พบว่าบริษัทที่มีกรรมการผู้หญิงอย่างน้อยที่สุด 1 คน จะมีอัตราตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on Equity) 12.2 เปอร์เซ็นต์
มากกว่าอัตราตอบแทนของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ไม่มีกรรมการผู้หญิงเลยซึ่งเท่ากับ 10.1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price-to-book value) ของบริษัทจะมีมูลค่า 2.4 เท่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่มีกรรมการหญิงซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 1.8 เท่า
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เมื่อปี 2012 พบว่าการมีกรรมการหญิงในบริษัทจำนวนที่มากขึ้นมีแนวโน้มที่จะสร้างความยั่งยืนในอนาคตให้กับบริษัท
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการวางรากฐานโครงสร้างการกำกับดูแลที่เข้มแข็งและมีความโปร่งใสระดับสูงให้กับบริษัทด้วย
จากการศึกษาของบริษัท Credit Suisse ในช่วงเวลา 6 ปี ตั้งแต่ 2006-2012 จากบริษัททั่วโลกมากกว่า 2,000 แห่ง พบว่าการมีกรรมการบริษัทที่เป็นผู้หญิงจะทำให้บริษัทมีผลการดำเนินงานดีขึ้นรวมถึงผลตอบแทนที่ดีจากหุ้นด้วย นอกจากผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้นแล้วยังมีประเด็นปลีกย่อยที่ได้นำเสนอประกอบการออกกฎหมายอีกหลายประเด็น เช่น บริษัทที่มีกรรมการผู้หญิงจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าบริษัทอื่นๆในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยบริษัทเหล่านี้มักมีความเสี่ยงต่ำ มีหนี้น้อยและ มีการเติบโตของรายได้สุทธิในช่วงเวลา 6 ปี ราว 14 เปอร์เซ็นต์ในขณะที่บริษัทที่ไม่มีกรรมการผู้หญิงมีการเติบโตของรายได้สุทธิราว 10 เปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นต้น
มิใช่รัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ให้ความสำคัญต่อเรื่องความไม่สมดุลของจำนวนกรรมการชายและหญิงของบริษัท ประเทศอื่นๆในทวีปยุโรปต่างให้ความสำคัญต่อเรื่องความไม่สมดุลของตำแหน่งกรรมการ ชาย-หญิง ในบริษัทเช่นกัน เป็นต้นว่า ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศแรกที่กำหนดโควตา 40 เปอร์เซ็นต์ให้ผู้หญิงนั่งในตำแหน่งกรรมการบริษัทประเทศเยอรมันกำหนดโควตา 30 เปอร์เซ็นต์ให้ผู้หญิงเป็นกรรมการบริษัท นอกจากสองประเทศดังกล่าวข้างต้นแล้ว ประเทศในทวีปยุโรปอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส สเปน ไอซ์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ต่างก็มีการกำหนดโควตาสำหรับกรรมการบริษัทแก่ผู้หญิงในทำนองเดียวกัน ถึงแม้การออกกฎหมายที่ดำเนินการโดยรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อแก้ปัญหาความไม่สมดุลของกรรมการบริษัทชายและหญิงโดยใช้ระบบโควตาจะมีผู้เห็นต่างและมีผู้คัดค้านอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นความพยายามในการลดช่องว่างระหว่างชายและหญิงบางอาชีพที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานและอาจขยายผลไปยังรัฐอื่นๆอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้นสัดส่วนจำนวนผู้ชายกับผู้หญิงที่เป็นกรรมการบริษัทยังมีความไม่สมดุลอยู่ค่อนข้างมาก เท่าที่ตรวจสอบบริษัทในตลาดหลักทรัพย์และรัฐวิสาหกิจพบว่า จำนวนกรรมการผู้ชายมีสัดส่วนที่สูงกว่ากรรมการผู้หญิงมากในทุกบริษัท เช่น บริษัท ปตท. (14:1) บริษัทการบินไทย (11:2) บริษัท ทีโอที (12:2) บริษัท กสท. โทรคมนาคม(10:1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (7:0) การประปานครหลวง (11:1) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (14:0) และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (11:1) เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรหญิงมากกว่าประชากรชายแต่ดูเหมือนว่าเรายังขาดความสมดุลด้านอาชีพระหว่างชาย-หญิงอยู่มากพอควรไม่ต่างจากประเทศอื่นๆหรือบางอาชีพอาจมากกว่าประเทศอื่นๆด้วย ดังนั้นการกำหนดนโยบายลดช่องว่างระหว่างชายกับหญิงในบางอาชีพจึงเป็นความท้าทายของผู้กำหนดนโยบายเพื่อยกระดับความไม่เท่าเทียมทางอาชีพระหว่างเพศของประเทศไทยให้สูงขึ้นและเป็นนโยบายที่น่าสนใจสำหรับฝ่ายบริหารซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนจากสุภาพสตรีไม่มากก็น้อย
อ้างอิงจาก : 1. https://www.reuters.com
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://www.yahoo.com