เลขาธิการ กสทช.เผยทั่วโลกกังวลเทคโนโลยี 5G ทำคนตกงานช่วงแรก 10-30%
เลขาธิการ กสทช.เผยแม้ทั่วโลกหนุนเทคโนโลยี 5G แต่กังวลทำคนตกงานช่วงแรก 10-30% ชี้สหรัฐ-อียูเริ่มคิดหาหามาตรการรองรับ AI-IoT แทนที่แรงงานคน
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ประเสริฐศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม พร้อมผู้บริหารและพนักงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) เข้าร่วมประชุม International Workshop on the Fifth Generation Mobile Communications Systems (5G) 2018 ซึ่งจัดโดยกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารแห่งประเทศญี่ปุ่น (Ministry of Internal Affairs and Communications: MIC) และองค์กร The Fifth Generation Mobile Communication Promotion Forum (5GMF) ณ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น
การประชุม International Workshop on the Fifth Generation Mobile Communications Systems (5G) 2018 ณ จังหวัด ชิบะ ประเทศญี่ปุ่น
สำหรับการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G และการทดสอบภาคสนามและการประยุกต์ใช้งานที่เกี่ยวข้องก่อนการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งร่วมกำหนดแนวทางการสร้างความร่วมมือภายในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้มีการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในประเทศญี่ปุ่น
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงเทคโนโลยี 5G ว่า จากการไปประชุมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เมื่อเดือนที่ผ่านมา ที่ประเทศฝรั่งเศส ในที่ประชุมมีการพูดถึงปัญหาที่แต่ละประเทศจะพบหากมีเทคโนโลยี 5G เข้ามา ส่วนใหญ่กังวลเรื่องคนในประเทศของตนเองจะตกงาน เมื่อ IoT (Internet of Things) หรือเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้งานแล้ว ช่วงแรก จะมีคนตกงานเฉลี่ยร้อยละ 10-30 ฉะนั้นการพัฒนาองค์ความรู้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในส่วนของรัฐบาลไทย นายฐากร กล่าวว่า ต้องคิดหาวิธีการแก้ปัญหานี้แล้ว จริงอยู่เทคโนโลยี 5G ช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่แรงงานที่เคยทำงานอยู่จะทำอย่างไร หรือมีมาตรการช่วยเหลืออย่างไรบ้างให้ได้ทำงานต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น
"เทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลกคิดว่า ปี 2563 เกิดขึ้นแน่ ๆ เราไม่สามารถหยุดยั้งได้ ซึ่งมาตรการรองรับผลกระทบที่จะตามมา คือโจทย์ที่โลกเริ่มคิดกันแล้ว รวมถึงไทยด้วย ต้องคิดถึงการพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศให้ทันการเปลี่ยนแปลง "
เลขาธิการ กสทช. กล่าวยกตัวอย่างสถาบันการเงิน ที่อาจได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยี 5G ที่กำลังจะเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้้ เช่น AI เข้ามาทำงานแทน เจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ ตำแหน่งงานแบบนี้ต้องหายไปจากระบบ รวมไปถึงภาคการผลิิต สาธารณสุข การรักษาพยาบาล การใช้เทคโนโลยีช่วยเรื่องผ่าตัด เป็นต้น
นายฐากร กล่าวว่า สำหรับ 5G ในประเทศญี่ปุ่นตั้งเป้าเอาไว้ปี ค.ศ.2020 ไทยเองต้องเร่งดำเนินการให้ทันญี่ปุ่น หรือไม่ก็หลังจากนั้น โดยภาครัฐจะเป็นผู้ผลักดันให้ 5G เกิดขึ้นในไทยไม่ใช่โอเปอเรเตอร์
"โอเปอเรเตอร์ตอนนี้เท่าที่คุยวันนี้ยังไม่มีใครสนใจ ขณะดียวกันประชาชนผู้ใช้ 3G 4G ก็ยังคงใช้งานได้ตามปกติ แต่ 5G เป็นเรื่องของความเร็วที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคการเงินที่จะได้ประโยชน์ ดังนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้ขับเข้ามาช่วยเหลือให้เทคโนโลยี 5G เกิดขึ้น"นายฐากร กล่าว และว่า กสทช.จะช่วยสนับสนุน คลื่นความถี่ให้มีราคาเริ่มต้นที่ถูกลง และเปิดประมูลคลื่นความถี่ในย่านต่ำ และสูงพร้อมกัน เพื่อนำมาใช้งานมากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระต้นทุน
นายก่อกิจ กล่าวเสริมถึงเทคโนโลยี 5G จะทำให้โลกเชื่อมกันชนิดที่หารอยต่อไม่เจอ 5G ไม่ใช่การมาแทน 3G หรือ 4G และไม่ใช่การสื่อสารอีกแล้ว แต่คือการส่งต่อข้อมูลจำนวนมหาศาล และเข้าไปอยู่ในทุกที่ ขณะที่ผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นตามมา จะไม่ใช่งานของกสทช.หน่วยงานเดียวแล้ว
ทั้งนี้ งานแสดงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น CEATEC (Combined Exhibition of Advavce Technologies) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคม 2561 ซึ่งผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และบริษัทในธุรกิจต่างๆ จะนำผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ที่นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น IOT ,โรบอต และAI (ปัญญาประดิษฐ์)มาใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ มาโชว์