แก้กฎหมายขายฝาก คนจนเลือดเข้าตา - นักลงทุนส้มหล่น !
"...บ้านเรามาถึงจุดที่คนมีเงินมากกว่าหันมา 'ลงทุน' กับสภาวะ 'เลือดเข้าตา' ของคนขาดเงินอย่างโต้ง ๆ แล้วหรือ ดอกเบี้ยและที่ดินที่จะได้มาแบบส้มหล่นนั้นจะมีคราบน้ำตาของเพื่อนมนุษย์ที่ไร้ทางเลือกในชีวิตมันไม่มีความหมายบ้างเลยหรือ..."
เชื่อมั้ยว่าครับสำหรับคนมีเงินค่อนข้างเย็นอยู่ในมือ และต้องการลงทุนให้เกิดดอกออกผล การเข้าสู่ธุรกิจขายฝากเป็น 'การลงทุนทางเลือก' ประเภทหนึ่งที่ถือว่าให้ผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงต่ำ และมักจะบูมตอนช่วงเศรษฐกิจของคนฐานรากฝืดเคือง ทั้งนี้เพราะตัวบทกฎหมายเอื้อประโยชน์ต่อฝ่ายผู้ลงทุนค่อนข้างมาก
ผลตอบแทนไม่ใช่เพียงแค่ส่วนต่างของราคาขายฝากกับราคาไถ่ถอน แต่คือ 'ที่ดิน' ที่มีโอกาสหลุดการไถ่ถอนมาเป็นของผู้ลงทุน !
เดี๋ยวนี้เริ่มมีต่างชาติ ไม่ต้องบอกก็คงจะพอเดาได้นะว่าชาติไหน เอาเงินมาลงทุนในธุรกิจขายฝากกันบ้างแล้ว
ได้ที่ดินเอาไปขายต่อทำกำไรอีกรอบกันแล้ว
มีคนเล่าว่าต่างชาติที่ว่ามาเขาตกใจเลยนะเมื่อรู้ว่าบ้านเรามีกฎหมายแบบนี้อยู่ด้วย คนเล่าบอกว่าเขา amazing มาก เพราะเป็นข้อกฎหมายที่ฝ่ายผู้เอาที่ดินมาขายฝากนั้นเสียเปรียบแทบทุกประตู ทั้ง ๆ ที่สัญญานั้นต้องจดทะเบียนที่หน่วยงานของรัฐ เขาไม่ถึงกับพูดตรง ๆ แต่ผมอนุมานเอาจากนัยคำพูดว่าเขาอาจจะสงสัยว่าทำไมรัฐไม่คุ้มครองฝ่ายผู้เสียเปรียบ อาจจะตีความนัยผิดก็ได้ เพราะไม่ได้ฟังเองโดยตรง
ถามว่าผมฟังจากไหนหรือ ?
ตอบว่า ก็ฟังจากคลิปที่มีการเผยแพร่สู่สาธารณะจากผู้ประกอบการในธุรกิจขายฝากที่จัดคอร์สอบรมหรือ 'โค้ชชิ่ง' การเข้าสู่ธุรกิจขายฝากของนักลงทุนหน้าใหม่ !
แม้ผมจะพอมีความรู้ความหลังกับกฎหมายขายฝากมาบ้างในอดีตเมื่อกว่า 40 ปีก่อนสมัยเป็นนักกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยและมีส่วนร่วมรับฟังปัญหาของชาวนาชาวไร่ที่เข้ามาต่อสู้เรียกร้องและก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยขึ้นมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หมาด ๆ จนเมื่อปีที่แล้วเป็นผู้เสนอให้คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนชุดท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณหยิบยกเรื่องนี้มาปรับปรุงแก้ไข แต่เมื่อต้องมารับหน้าที่หัวหน้าคณะทำงานก็ต้องรื้อฟื้นกันใหม่ ศึกษาใหม่
จึงพบว่ายุค Thailand 4.0 วันนี้มีการโค้ชชิ่งอบรมการเป็น 'นายทุน' และ 'นายหน้า' ขายฝากกันเป็นเรื่องเป็นราว !!
"การลงทุนในการขายฝากถือว่ารายได้ดี และมีโอกาส 'ส้มหล่น' คือนอกจากรายได้จากดอกเบี้ยที่แฝงอยู่ในค่าไถ่ถอนแล้ว ยังโอกาสส้มหล่นค่อนข้างสูง คือที่ดินตกเป็นของเรา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น เพราะคนที่มาขายฝากส่วนใหญ่น่ะ 'เลือดเข้าตา' แล้วทั้งนั้น..."
หนึ่งในคลิปโค้ชชิ่งว่าไว้ทำนองนี้
มันค่อนข้างเจ็บจี๊ด !!
บ้านเรามาถึงจุดที่คนมีเงินมากกว่าหันมา 'ลงทุน' กับสภาวะ 'เลือดเข้าตา' ของคนขาดเงินอย่างโต้ง ๆ แล้วหรือ ดอกเบี้ยและที่ดินที่จะได้มาแบบส้มหล่นนั้นจะมีคราบน้ำตาของเพื่อนมนุษย์ที่ไร้ทางเลือกในชีวิตมันไม่มีความหมายบ้างเลยหรือ
หากวัดกันจากตัวบทกฎหมาย จะทำมาหากินโดยการเป็นนายทุน นายหน้า หรือแม้แต่เป็นโค้ชอบรม เป็นสิทธิ ไม่ผิดทั้งนั้น เพราะไม่ได้ทำผิดกฎหมายใด
โค้ชบางคนน่าชื่นชมด้วยซ้ำตรงที่มีหลักการประจำวิชาชีพ
ท่านแนะให้นักลงทุนเป็น 'นักลงทุนสายดี' !
เฉพาะตัวโค้ชเองท่านก็เล่าว่าจะไม่แนะนำหรือเป็นนายหน้าให้ลูกค้าผู้นำที่ดินที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยมาขายฝาก ลูกค้าแบบนี้มาหาก็จะให้กลับไป ไม่รับทำธุรกิจด้วย
แต่แน่ละ เมื่อมี 'นายทุนสายดี' ก็ต้องมี 'นายทุนสายดาร์ค' คู่กันเป็นธรรมดา !
และกลเม็ดของ '่นายทุนสายดาร์ค' คงไม่มีการนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ใครโค้ชชิ่งให้ก็คงไม่มาบอกกล่าวหรอก
การขายฝากถือเป็น 'การซื้อขาย' ประเภทหนึ่ง จ่ายค่าธรรมเนียมจดทะเบียนให้รัฐ ณ สำนักงานที่ดินเท่ากับการซื้อขายนะครับ ต่างกับจดจำนองที่ค่าธรรมเนียมถูกกว่า เพราะถือเป็นการกู้ยืม
นี่แหละที่ 'ไม่ถูก' มาแต่ต้น !
อย่างน้อยก็ในกรณีของผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าและมีอำนาจต่อรองต่ำ
หรือคนจน - ว่างั้นเถอะ !
เพราะเอาเข้าจริงแล้วคนจนผู้นำที่ดินมาขายฝากนั้น แทบจะร้อยทั้งร้อยไม่มีใครมีเจตนา 'ขาย' หรอก ล้วนมีเจตนา 'กู้ยืม' แต่นายทุนไม่ยอมให้กู้ยืมเฉย ๆ ให้เอาที่ดินมาขายฝาก
โค้ชท่านหนึ่งกล่าวไว้ในนาทีแรกของการโคชชิ่งเลยว่า....
"ขายฝากคือธุรกรรมกู้เงินอำพราง"
ความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ว่าจะแก้กันได้ง่าย ๆ และไม่ใช่ด้วยการแก้แค่กฎหมาย แต่ถ้าเป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากตัวบทกฎหมายเกือบจะโดยตรง ก็ไม่มีทางอื่นนอกจากต้องเริ่มต้นที่การแก้ไขกฎหมาย เรื่องขายฝากนี่คนที่รู้และเข้าใจกฎหมายทุกคนรู้เหมือนกันหมดมานานแล้วว่าคนจนเสียเปรียบมหาศาล
แต่ก็แปลกที่การออกกฎหมายเพื่ิอคนจนโดยตรงมักจะยากลำบากและใช้เวลานาน
แถมยังเกิดอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า
2524, 2528, 2535 และ 2537 คือปีที่เกิดอุปสรรคจนเดินหน้าไม่ได้
จะบอกว่าเกิดอุปสรรคเพราะผู้มีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่าและมีอำนาจต่อรองสูงหรือคนมีเงินเสียประโยชน์ออกมาขัดขวางก็พูดยาก เพราะหนึ่งในเหตุผลคลาสสิคที่เป็นตัวติดเบรคคือประเด็นที่บอกทำนองว่า...
"เกรงว่าจะเป็นการทำลายแหล่งเงินทุนสุดท้ายของคนจนที่ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว..."
เจ็บปวดตรงที่มันช่างเป็นตรรกะที่ย้อนแย้งเอาการพอสมควร และไม่ใช่ทุกคนที่เอ่ยอ้างเหตุผลนี้จะคิดอย่างนี้จริง ๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันมีส่วนจริงอยู่ไม่น้อย
เอาละ....
เอาเป็นว่า ณ วันนี้มาถึงจุดที่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่กำลังทำกันอยู่ คือจะไม่ยกเลิกหรือแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยการขายฝากในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 491 - 503) แต่จะให้รัฐเข้าไปคุ้มครองเฉพาะการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น ด้วยการออกกฎหมายพิเศษในเชิงมหาชนขึ้นมาใหม่ ดังที่กล่าวไว้ชัดเจนตรงไปตรงมาใน 'หลักการและเหตุผล' ของร่างฯดังนี้
"โดยที่การขายฝากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งอยู่ภายใต้หลักของความศักดิ์สิทธิ์และเสรีภาพในการแสดงเจตนาระหว่างเอกชนกับเอกชนที่มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ในทางปฎิบัตินั้นปรากฎปัญหาอันเนื่องมาจากการขายฝากเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ซื้อฝากที่มีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่ามักจะทำสัญญาที่มีลักษณะเอารัดเอาเปรียบผู้ขายฝากที่มีสถานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าและมีอำนาจต่อรองต่ำ ทำให้ประชาชนต้องสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก สมควรกำหนดมาตรการและกลไกพิเศษเพื่อคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้"
ให้รัฐโคชชิ่งคนจน - จะว่าอย่างนั้นก็พอได้นะ !
เมื่อกระบวนการทางกฎหมายในยุคนี้เดินหน้ามาถึงขั้นตอนกฤษฎีกา และได้คณะพิเศษภายใต้ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธ์ที่มีความรู้ความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง และเคยยกร่างกฎหมายหลักการใกล้เคียงกันนี้มาก่อน จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี
หวังว่าจะไม่มีอุปสรรคใดมาแผ้วพานเหมือนอดีตที่ผ่านมาสี่ห้าครั้งในรอบ 40 ปี
ผมแม้ไม่ใช่กรรมการ เป็นเพียงหนึ่งในผู้แทนหน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมาย (คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน) แต่ก็จะพยายามเข้าไปร่วมรับฟังการประชุม คิดเสียว่าเป็นการเข้าห้องเรียนทางกฎหมายภาคปฏิบัติที่ไม่มีเปิดสอนที่ใด
หากมีประเด็นที่น่าสนใจจะนำความคืบหน้ามาบอกเล่าด้วยภาษาชาวบ้าน เท่าที่ความรู้ความเข้าใจและความสามารถพอจะทำได้
ย้ำอีกครั้งว่า ถ้าทำได้สำเร็จในยุครัฐบาลและสภาชุดนี้ จะเป็นผลงานชิ้นเอกของพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชาทีเดียวเชียว
และจะเป็นการแก้ข้อวิพากษ์ที่ว่ารัฐบาลนี้ออกแต่กฎหมายเพื่อนักลงทุนได้ชงัดนัก
ด้วยการออกกฎหมายเพื่อคนจนที่ไม่มีรัฐบาลไหนทำสำเร็จมาก่อนในรอบหลายสิบปี
ที่มา :คำนูณ สิทธิสมาน