ยกฟ้องขับรถประมาท เพราะ ตร.แยกฟ้องเมาแล้วขับ ใครรับผิดชอบ?
"...ผลเสียจากการที่ศาลยกฟ้องในคดีขับรถประมาทนี้ ประการแรก ผู้กระทำผิดจะไม่ถูกพิจารณาคดี ผู้กระทำผิดจะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย แม้ที่สุดจะเป็นเพียงโทษปรับก็ตาม ประการที่สอง ผู้เสียหายเสียอำนาจต่อรองการเรียกค่าสินไหมทดแทน ปกติการเรียกค่าสินไหมทดแทนจะเรียกไปพร้อมกันในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ซึ่งผู้เสียหายก็จะมีอำนาจต่อรองเยอะ เพราะศาลก็มักจะนำประเด็นเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมาประเมินในการกำหนดโทษจำเลยด้วย..."
กรณี ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีคนขับรถบรรทุกพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ขับขี่รถโดยประมาทในขณะขับรถเข้าสู่ทางโค้ง เป็นเหตุให้ตู้คอนเทนเนอร์ล้มทับ รถยนต์โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ที่นายวรวุฒิ อยู่ญาติมาก ขับขี่มา รอดตายอย่างปาฏิหาริย์ แต่ก็ยังคงได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้าย เพราะถูกเหล็กหลังคารถ กดทับ
ซึ่งการยกฟ้องดังกล่าว เป็นการยกฟ้องโดยเหตุฟ้องซ้ำอันเป็นการยกฟ้องในทางเทคนิคเนื่องจากความผิดพลาดในการทำสำนวนของพนักงานสอบสวน
ในวันเกิดเหตุ พนักงานสอบสวนได้ทดสอบผลแอลกอฮอล์ของคนขับรถบรรทุก ผลปรากฏว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฏหมายกำหนด จึงได้แยกคดีส่งสำนวนให้พนักงานอัยการฟ้องเฉพาะข้อหานี้ไปก่อน ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ได้ดำเนินการสอบสวนต่อไป ไม่ได้ส่งสำนวนมาเป็นคดีเดียวกัน
ต่อมาพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนคดีขับรถประมาทฯ ส่งพนักงานอัยการเพียงข้อหาเดียว เมื่อพนักงานอัยการฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้น ทนายจำเลยยกปัญหาข้อกฏหมายขึ้นต่อสู้ว่าคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา39(4) กับคคีเมาแล้วขับในคดีแรก เนื่องจากเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุดังกล่าว
ปกติคดีที่มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั่งปรับ หากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพจะต้องฟ้องต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง แต่ต้องเป็นกรณีรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ไม่ใช่รับสารภาพเพียงบางข้อหา
การทำสำนวนที่ถูกต้องคือต้องแจ้งข้อหาในคราวเดียวกันทั้ง 2 ข้อหา แล้วรวมเป็นสำนวนเดียวกัน โดยไม่ต้องแยก แล้วนับผัดฟ้องเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกัน คดีนี้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าในส่วนเมาแล้วขับแยกส่วนกับขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสารหัสฯรับสารภาพ ต้องฟ้องต่อศาลภายใน 48 ชั่วโมง
คดีนี้ไม่ใช่ความผิดของพนักงานอัยการ เพราะโดยสภาพพนักงานอัยการจะไม่ทราบข้อเท็จจริงในสำนวนเมาแล้วขับสำนวนแรก เพราะในสำนวนคดีแรกที่พนักงานสอบสวนส่งมานั้นเป็นบันทึกคำให้การรับสารภาพเพื่อฟ้องวาจา ไม่มีรายละเอียดข้อเท็จจริงใดๆ แนบมากับใบบันทึกผลตรวจแอลกอฮอล์เท่านั้น ในใบตรวจก็มีแค่ข้อมูลชื่อ ชื่อสกุล วันเวลา ปริมาณแอลกอฮอล์ที่พบเท่านั้น
หลักการห้ามฟ้องคดีอาญาซ้ำสอง (double jeopardy หรือ non bis in idem) เป็นหลักกฏหมายที่มีแนวคิดมาจากการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีว่า ไม่ควรถูกดำเนินคดีซ้ำสองครั้ง จากการกระทำเดียว ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ควรต้องได้รับความลำบากเนื่องจากการพิจารณาเพื่อลงโทษถึงสองครั้งในการกระทำเพียงครั้งเดียว หลักการดังกล่าวอยู่ในกฏหมายไทยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) วางหลักไว้ว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง
หมายความว่าการกระทำอันเดียวในครั้งเดียว กรรมเดียว แม้จะเป็นความผิดต่อกฏหมายกี่บท กี่มาตราก็ตาม ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษหรือการพิจารณาคดีเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ตามหลักว่าการกระทำที่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดบทใดบทหนึ่งไปแล้ว ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จะนำการกระทำกรรมเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ แม้จะฟ้องคนละฐานความผิดกันก็ตาม
เช่น คำพิพากษาศาลฎีกา 4067/2550 วางหลักว่าเมาแล้วขับกับขับรถประมาทเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน กล่าวคือ การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถโดยประมาทแซงรถที่อยู่ข้างหน้าไปในหน้าไปในช่องเดินรถขวามือในขณะที่ผู้ตายขับสวนมา เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของผู้ตายเสียหายและทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 นั้น เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องและเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียว ต้องลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
แต่ทั้งนี้จะต่างกับกรณี คดีแรกเป็นเพียงการเปรียบเทียบปรับในชั้นพนักงานสอบสวน แม้จะมีการนำคดีกรรมเดียวกันมาฟ้องต่อศาลอีก อย่างนี้สามารถทำได้ เพราะการเปรียบเทียบปรับได้กระทำไปโดยผิดหลง เช่น คดีแรกเป็นเพียงขับรถฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ผู้ต้องหา รับสารภาพพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจึงเปรียบเทียบปรับที่สถานีตำรวจ ส่วนคดีหลังกลายเป็นขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้ถือว่าการเปรียบเทียบปรับที่ทำโดยพนักงานสอบสวนนั้น เป็น การเปรียบเทียบปรับที่ไม่ชอบ พนักงานอัยการก็ยังสามารถฟ้องเป็นคดีหลังต่อไปได้ เพราะการเปรียบเทียบปรับไม่ใช่คำพิพากษาของศาล
เช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2540 วางหลักว่าคดีแรกเปรียบเทียบปรับโดยพนักงานสอบสวนไม่ชอบ ไม่มีผลต่อการที่ศาลจะพิพากษาในคดีหลัง กล่าวคือจำเลยขับรถในขณะเมาสุราและโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(4),157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเพื่อให้ความผิดทั้งหมดเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้ แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วก็ไม่ชอบ คดีไม่เลิกกันศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2),160 วรรคสาม ตามฟ้องได้
ผลเสียจากการที่ศาลยกฟ้องในคดีขับรถประมาทนี้
ประการแรก ผู้กระทำผิดจะไม่ถูกพิจารณาคดี ผู้กระทำผิดจะไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย แม้ที่สุดจะเป็นเพียงโทษปรับก็ตาม
ประการที่สอง ผู้เสียหายเสียอำนาจต่อรองการเรียกค่าสินไหมทดแทน ปกติการเรียกค่าสินไหมทดแทนจะเรียกไปพร้อมกันในคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 ซึ่งผู้เสียหายก็จะมีอำนาจต่อรองเยอะ เพราะศาลก็มักจะนำประเด็นเรื่องการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมาประเมินในการกำหนดโทษจำเลยด้วย
นอกจากนี้คดีนี้ไม่ว่าพนักงานสอบสวนจะบกพร่องจากความไม่รู้หรือเหตุอื่นใดก็ตาม แต่ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดบอดของกระบวนการยุติธรรม ในเรื่องของการถึงรู้ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีของพนักงานอัยการว่ามีอยู่อย่างจำกัด และรับรู้เฉพาะที่พนักงานสอบสวนอยากให้รู้เท่านั้น
และด้วยความเคารพต่อศาลยุติธรรม ผู้เขียนเห็นว่าการที่มีแนวคำพิพากษาที่ยึดมั่นอย่างเคร่งครัดเกินไปในรูปแบบ ก็อาจจะเกิดผลกระทบต่อความรู้สึกถึงความยุติธรรมของประชาชนได้เช่นกัน