คุยกับพระพม่า การตัดวงจรความรุนแรงและความเกลียดชัง
เริ่มจากทุกคนในชุมชนหมู่บ้านเด็กต้องถือศีลห้า เป็นวิถึชีวิต เพื่อให้เกิดความ”ปกติสุขของชีวิต” โดยการลดทอนอำนาจของผู้ใหญ่ลง ใช้ความเมตตาเป็นตัวจัดความสัมพันธ์ใหม่ และใช้หลักธรรมกัลยาณมิตตตา ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่
เข้านี้ ณ ป่าชุมชนหมู่บ้านเด็ก ได้มีโอกาสต้อนรับพระพม่ากับแม่ชี 16 ท่าน ที่มาดูงานโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก เวียนกันมาเป็นประจำทุกปี จัดโดย SEM-Spirit in Education Movement ที่ทำงานในพม่า ในลาว มานับ 10 ปี โดยมูลนิธิเด็กได้ร่วมงานมาตลอด เพื่อเผยแพร่แนวคิดการศึกษาทางเลือก ให้ชนเผ่าต่างๆของพม่า และพระสงฆ์ในลาว
ในคณะพระสงฆ์ชุดนี้มี 3 รูป ที่คงความจงเกลียดจงชังพี่น้องมุสลิมในรัฐยะไข่ โดยเฉพาะเพื่อนมนุษย์”โรฮิงยา”
ผมเลยขึ้นต้นคำบรรยายว่า “การตัดวงจรความเกลียดชังกับความรุนแรง ที่หมู่บ้านเด็ก” ซึ่งเราทำงานกับเด็กยากจน มา 38 ปี ที่เด็กมากกว่าครึ่งมาจากครอบครัวที่ติดยาเสพติด มีความรุนแรง และมีความเกลียดชัง
เราจึงมีหน้าที่ลดความเกลียดชังและความรุนแรงในตัวเด็ก ที่ติดมาจากการเลี้ยงดูในครอบครัว
ผมบอกว่าเราตั้งใจตัดทอนความรุนแรงและความเกลียดชัง ไม่ให้มีการส่งต่อ (ตัวอย่างกรณีเยอรมันนี ก็ทำอยู่มาได้ 72 ปีแล้ว ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำเรื่องการศึกษา ที่เรียกว่า “Civic Education” )
และเพื่อไม่ให้มีการส่งต่อความรุนแรงและความเกลียดชังไปยังคนรุ่นต่อไป เราใช้หลักธรรมในพุทธศาสนา เริ่มจากทุกคนในชุมชนหมู่บ้านเด็กต้องถือศีลห้า เป็นวิถึชีวิต เพื่อให้เกิดความ”ปกติสุขของชีวิต” โดยการลดทอนอำนาจของผู้ใหญ่ลง ใช้ความเมตตาเป็นตัวจัดความสัมพันธ์ใหม่ และใช้หลักธรรมกัลยาณมิตตตา ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่
ผมพยามไม่พูดถึงความขัดแย้งเรื่อง”โรฮิงยา” แต่พูดเฉพาะชุมชนหมู่บ้านเด็ก โดยชี้ให้เห็นว่านี่ก็เป็นวิถีพุทธที่พระพุทธองค์ทรงสร้างชุมชนสงฆ์ขึ้นมา เพื่อดึงคนออกจากครอบครัวเดิม มาใช้ชีวิตใหม่ ในวิถีของพรหมจรรย์ จนกลายเป็นชุมชนสงฆ์ที่แตกต่างจากชุมชนฮินดูที่ครอบงำสังคมอินเดียในสมัยนั้นอยู่
พระท่านถามว่าการจะให้ชุมชนหมู่บ้านเด็กอยู่อย่างยั่งยืน ทำอย่างไร ผมบอกว่าสิ่งแรกคือ เราฟื้นผืนแผ่นดินให้กลับมาเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ก่อน ให้เกิดสิ่งแวดล้อมใหม่ที่เป็นธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะลดทอนความรุนแรงและความเกลียดชังได้ในเบื้องต้น โดยเฉพาะ”น้ำ” ในแม่น้ำ”แควใหญ่” หน้าโรงเรียน
2. เด็กและผู้ใหญ่ต้องมีความสุขในวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกัน แม้แต่เรื่องการเรียนหนังสือ ก็ให้เลือกตามวัยและความพร้อมของเด็กๆ
3. การสร้างอาหารเพื่อใช้กินอยู่ประจำวัน ด้วยการปลูกผักสวนครัวแบบเกษตรธรรมชาติ ต้องทำให้ได้ จนไม่ต้องซื้อจากตลาด โดยเฉพาะต้องมีรสชาติถูกปากเด็กๆ
4. การพึ่งพาพลังงานแสงแดด ต้องทำให้ได้เต็มร้อย
5. เด็กและผู้ใหญ่ต้องทำงานเพื่อชุมชนให้ช่วยตัวเองได้ อย่างน้อยก็อวดได้ว่า การสร้างที่อยู่อาศัย เราเด็กและผู้ใหญ่ ทำเองมาตั้งแต่สร้างบ้านและห้องเรียน มาเมื่อครั้งสมัยอยู่ไทรโยคน้อย จากบ้านไม้ไผ่ จนถึงบ้านไม้ที่ก่ออิฐถือปูนผสมกัน จนมาถึงวันนี้
6. การพัฒนาเด็กทุกด้าน ให้ทำไปพร้อมกับการพัฒนาผู้ใหญ่ จำแนกแยกแยะธรรมชาติของเด็กให้ชัดเจน
เมื่อพูดกับพระสงฆ์องคเจ้า ก็ต้องอ้างว่าทั้งหมดนี้เป็นไปตามหลักธรรมในพุทธศาสนา จากการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร จากปรโตโฆสะ สู่โยนิโสมนสิการ เป็นที่สุด
พระท่านถามถึงความขัดแย้งและความเกลียดชังในสังคมไทย ผมตอบว่ายังมีอยู่ แต่ติดขัดอธิบายความโดยละเอียดไม่ได้ เพราะต้องผ่านล่าม 2 ภาษา จากไทยสู่อังกฤษ สู่ภาษาพม่า
แต่ผมฉวยโอกาสพูดถึงความเกลียดชังระหว่างไทยกับพม่า ว่าสามารถแก้ไขได้โดยเรียนประวัติศาสตร์เพื่อเข้าถึงความจริงใหม่ ที่เขียนโดยทั้งฝ่ายไทย ฝ่ายพม่า และฝ่ายฝรั่ง ผมแสดงหนังสือที่ผมกำลังอ่านอยู่ ชื่อ “โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้” เขียนโดยชาวพม่า ชื่อ Myint Hsan Heart - มิคกี้ ฮาร์ท ให้ดูด้วย
เมื่อเข้าถึงความจริงทางประวัติศาสตร์ในหลายๆด้าน ความเกลียดชังก็จะค่อยๆลดลงไปได้เอง (ประเทศในยุโรปหลายประเทศก็กำลังทำอยู่ ซึ่งล้วนมีประวัติศาสตร์แห่งความเกลียดชังและความรุนแรงในอดีตมายาวนาน ยังแก้ได้)
เขียน ณ วันที่ 14 ต.ค. 16 เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของวีรชน ไปในขณะเดียวกันด้วย
และจบในยามดึกสงัด ที่มีเสียงจั๊กจั่นลั่นป่าหมู่บ้านเด็ก
พิภพ ธงไชย
FB : Pibhop Dhongchai
ย่ำรุ่ง 26 องศา C*
14 Oct. 2560