มท.รับลูก ก.คลัง สั่งเอกชนทำสัญญาเกิน 500 ล.ต้องมีแนวทางป้องโกง-ไม่ทำขาดคุณสมบัติ
ถึงคิวเอกชน! มท. ทำหนังสือด่วนที่สุดเวียนทุกจังหวัดรับลูก กก.ร่วมมือป้องทุจริต ก.คลัง ให้ผู้ประกอบการที่จัดซื้อจัดจ้างเงินเกิน 500 ล้านขึ้นไป ต้องมีแนวทางป้องทุจริต-ห้ามช่วยเหลือทางการเมือง-ใช้เงินเอื้อธุรกิจ-ค่าของขวัญ-ต้อนรับลูกค้า กำหนดบทลงโทษ-ตั้งหน่วยงานภายในป้องทุจริตด้วย หากทำไม่ครบถือว่าไร้คุณสมบัติ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดทุกจังหวัด ให้ดำเนินการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไปถือปฏิบัติ
โดยกรณีนี้สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 19 บัญญัติให้มีการตั้งคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (ค.ป.ท.) ภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง กำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในประเภทหรือมีวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ต้องจัดให้มีนโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างที่เหมาะสม และระบุเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน
นโยบายและแนวทางการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องครอบคลุมถึง กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ โดยจะต้องห้ามมิให้กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนบุคคลที่ 3 ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ มีการติดสินบน ไม่ให้ หรือเสนอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือจูงใจให้ร่วมดำเนินการใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการให้ประโยชน์ในการเสนอราคา สมยอมกันในการเสนอราคา หรือนำมาซึ่งความได้เปรียบและได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการจัดซื้อจัดจ้าง
นอกจากนี้ยังห้ามมิให้เกิดการทุจริตในรูปแบบต่าง ๆ ประกอบด้วย การช่วยเหลือทางการเมือง การบริจาคเพื่อการกุศล เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของตน เงินสนับสนุนมีวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบต่อธุรกิจของตน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่อาจเป็นช่องทางให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกระทำการทุจริต เช่น ค่าของขวัญ ค่าต้อนรับลูกค้า ซึ่งทำให้เกิดการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ การให้ของขวัญหรือบริการ การให้เงินสดหรือสิ่งของแทนเงินสด และการสมยอมกันในการเสนอราคา
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องกำหนดบทลงโทษ หรือข้อบังคับสำหรับผู้กระทำการทุจริต และกำหนดให้หน่วยงานภายในที่ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการป้องกันการทุจริตที่ชัดเจนด้วย
มีการระบุด้วยว่า ผู้ประกอบการจะต้องมีการดำเนินการตามแบบตรวจสอบข้อมูลครบถ้วนทุกข้อ จึงจะผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคา
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก http://amphos.go.th