ใช้ร่างสัญญาเหมือน ทบ.! พลิกปูมสารพัดข้อสังเกต อสส.ปมซื้อสะพานหนุนมั่นจากจีน?
“…สำนักงาน อสส. ได้พิจารณาร่างข้อตกลงสัญญาการจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นของกองบัญชาการกองทัพไทยครั้งนี้ เหมือนกับร่างข้อตกลงสัญญาของกองทัพบก ที่สำนักงาน อสส. เคยตรวจพิจารณาแล้ว … ประเด็นสำคัญคือ ร่างข้อตกลงสัญญาของกองทัพบก ในการจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นจากจีนเมื่อปี 2558 วงเงิน 577 ล้านบาท สำนักงาน อสส. ได้ตั้งข้อสังเกตไว้จำนวนมาก…”
"การจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นครั้งนี้ เป็นการจัดซื้อยุทโธปกรณ์จากมิตรประเทศ มิได้หวังผลกำไรในเชิงธุรกิจ หากแต่เป็นการช่วยเหลือที่มีผลประโยชน์และวัตถุประสงค์ร่วมกัน ส่งผลให้ได้รับยุทโธปกรณ์อย่างรวดเร็ว และราคาถูก รวมทั้งเป็นการจัดซื้อที่ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง มีความเชื่อถือได้ในระดับรัฐบาล"
เป็นสาระสำคัญที่ทำให้หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย ภายใต้สังกัดกระทรวงกลาโหม ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสะพานเครื่องหนุนมั่น (Module Fast Bridge) ประจำปีงบประมาณ 2561 จากจีน โดยวิธีแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 2 ชุด โดยคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อนุมัติงบประมาณ จากงบกลาง เงินสำรองจ่ายฉุกเฉินกว่า 8.7 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ตีเป็นเงินไทยราว 292 ล้านบาท ไปแล้ว (อ่านประกอบ : ไม่ผ่านคนกลาง-มีผล ปย.ร่วมกัน!เบื้องหลัง กห.ซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่น 292 ล.จากจีน)
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจจากจีนเพื่อทำสัญญา ปรากฎชื่อของ บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co. Ltd. (CSOC) ซึ่ง เป็นบริษัทเดียวกับที่กองทัพบกทำสัญญาจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นเมื่อปี 2558 เช่นกัน (อ่านประกอบ : จับตาสัญญาจีทูจี "รบ.ประยุทธ์" ไฟเขียว "กองทัพบก" ซื้อสะพานทหารจีน 577 ล.)
ทั้งนี้ตามหลักการแล้ว การจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นดังกล่าว ต้องส่งร่างข้อตกลงสัญญาให้กับกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจสอบก่อน เหมือนตอนกรณีกรมการทหารช่าง กองทัพบก จัดซื้อจัดจ้างสะพานเครื่องหนุนมั่นจากจีน โดยวิธีจีทูจี วงเงิน 577 ล้านบาท เมื่อปี 2558 โดยเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2558 เกี่ยวกับกรณีการจัดทำหนังสือสัญญาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้แจ้งผลการพิจารณาร่างข้อตกลงสัญญาดังกล่าวแล้ว โดยหลักการไม่มีข้อขัดข้องต่อร่างข้อตกลงสัญญาดังกล่าว หากหน่วยราชการเจ้าของเรื่อง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าเหมาะสม สอดคล้องกับนโยบายและผลประโยชน์ของไทย สามารถปฏิบัติได้ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งได้จัดสรรงบประมาณไว้เพื่อการนี้แล้ว ส่วนในแง่ข้อกฎหมาย ส่วนราชการเจ้าของเรื่องควรพิจารณาส่งให้สำนักงาน อสส. พิจารณาตรวจก่อนดำเนินการลงนาม
สำนักงาน อสส. ได้พิจารณาร่างข้อตกลงสัญญาการจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นของกองบัญชาการกองทัพไทยครั้งนี้ เหมือนกับร่างข้อตกลงสัญญาของกองทัพบก ที่สำนักงาน อสส. เคยตรวจพิจารณาแล้ว ต่อมากองบัญชาการกองทัพไทย ได้ปรับแก้ให้เหมือนกับร่างข้อตกลงสัญญา ตามที่สำนักงาน อสส. เคยแจ้งข้อสังเกตไปดำเนินการเรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีความเห็นใดเพิ่มเติมอีก
ประเด็นสำคัญคือ ร่างข้อตกลงสัญญาของกองทัพบก ในการจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นจากจีนเมื่อปี 2558 วงเงิน 577 ล้านบาท สำนักงาน อสส. ได้ตั้งข้อสังเกตไว้จำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นกรณีให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบข้อมูล ประเด็นเรื่องการมอบอำนาจของรัฐบาลต่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนว่า เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่
นอกจากนี้ในส่วนของการจัดทำคู่มือ ผู้แทนฝ่ายจีนในครั้งนั้น ได้เสนอว่า จะจัดให้มีคู่มือการใช้งานสินค้าเป็นภาษาไทยและอังกฤษ การให้บริการทางเทคนิคและการซ่อมบำรุง และการฝึกอบรมบุคลากรฝ่ายไทยในจีนและประเทศไทยโดยไม่คิดมูลค่า แต่ปรากฏตาม Annex 1 ว่า ฝ่ายจีนได้คิดมูลค่าของคู่มือเอกสาร การให้บริการทางเทคนิค รวมมาในราคาสินค้าด้วย กองทัพบกชอบที่จะตรวจสอบความถูกต้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ
ทั้งนี้กองทัพบกในขณะนั้น ได้ตอบข้อหารือสำนักงาน อสส. สรุปได้ว่า การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารเป็นการซื้อแบบครบวงจร ทั้งตัวอุปกรณ์และชิ้นส่วนซ่อมสำหรับใช้งานในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ภายหลังการเจรจาจนได้ข้อยุติในเรื่องราคาของยุทโธปกรณ์ดังกล่าวแล้ว กองทัพบกได้เจรจาต่อรองขอให้ฝ่ายจีน จัดให้มีการตรวจสอบสายการผลิต การตรวจสอบยุทโธปกรณ์ก่อนจัดส่งลงเรือ และการฝึกอบรมกำลังพลในเรื่องการใช้งานและการซ่อมบำรุงเพื่อให้เกิดความพร้อมในการใช้งานทั้งระบบ ซึ่งฝ่ายจีนพิจารณาแล้วยินดีให้การสนับสนุนโดยไม่คิดมูลค่า และกรมการทหารช่างได้ตรวจสอบความถูกต้องในการสนับสนุนคู่มือการใช้งาน และการบริหารทางเทคนิคแล้ว ยืนยันว่าฝ่ายจีน เป็นผู้ให้การสนับสนุนคู่มือการใช้งานและการบริการทางเทคนิค โดยไม่คิดมูลค่า (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! ครม.บิ๊กตู่ ไฟเขียวจีทูจีซื้อสะพานทหารจีน577ล. อัยการฯ ชี้ข้อสังเกตเพียบ)
หลังจากนั้นคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จึงอนุมัติงบประมาณกว่า 577 ล้านบาท ตามที่กรมการทหารช่าง กองทัพบก กระทรวงกลาโหม เสนอเรื่องเข้ามาเพื่อดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป
ต่อมา เมื่อปลายปี 2561 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม มีแนวคิดจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นจากจีนโดยวิธีจีทูจีอีกครั้ง โดยซื้อจากรัฐวิสาหกิจเดิมที่เคยขายให้กับกองทัพบก จำนวน 2 รายการ วงเงินประมาณ 292 ล้านบาท
และได้ใช้ร่างข้อตกลงสัญญาเดียวกันกับที่กองทัพบกจัดซื้อเมื่อปี 2558 กระทั่งสำนักงาน อสส. มีข้อสังเกตกลับไปอีกครั้ง และหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้ปรับแก้ไขร่างข้อตกลงดังกล่าวตามข้อสังเกตแล้ว
สำหรับความเห็น และข้อสังเกตของสำนักงาน อสส. ในคราวนี้ ไม่ได้มีการเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ เหมือนตอนกองทัพบกจัดซื้อเมื่อปี 2558 ดังนั้นจึงไม่อาจทราบได้ว่า ร่างข้อตกลงสัญญาฉบับนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตคล้ายคลึงกับร่างข้อตกลงสัญญาของกองทัพบกหรือไม่ และประเด็นอะไรบ้าง ?
นี่คือเบื้องหลัง ที่มาที่ไปเกี่ยวกับการจัดซื้อสะพานเครื่องหนุนมั่นดังกล่าวจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ที่คล้ายคลึงกับการทำสัญญาของกองทัพบกเมื่อปี 2558
ท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ‘ไฟเขียว’ ให้ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปลงนามจัดซื้อจากรัฐบาลจีนแล้ว ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา