- Home
- Isranews
- รายงาน-สกู๊ป
- เบื้องหลัง! ครม.บิ๊กตู่ ไฟเขียวจีทูจีซื้อสะพานทหารจีน577ล. อัยการฯ ชี้ข้อสังเกตเพียบ
เบื้องหลัง! ครม.บิ๊กตู่ ไฟเขียวจีทูจีซื้อสะพานทหารจีน577ล. อัยการฯ ชี้ข้อสังเกตเพียบ
"...ในส่วนผู้ลงนามฝ่ายรัฐบาลจีน ขอให้รอผลการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศในประเด็นเรื่องการมอบอำนาจของรัฐบาลต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนว่า เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ.."
หลายคนอาจจะทราบข้อมูลตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอ ไปแล้ว ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมติอนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผู้แทน (เจ้ากรมการทหารช่าง) เป็นผู้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการซื้อขายสะพานเครื่องหนุนมั่นขนาดหนักหนึ่งชุด (เอชเอสบี) และสะพานเครื่องหนุนมั่น ความยาว 15 เมตร สองชุด (เอ็มเอฟบี) พร้อมอุปกรณ์ รวมวงเงินกว่า 577 ล้านบาท จากรัฐบาลจีน ในรูปแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี
(อ่านประกอบ : จับตาสัญญาจีทูจี "รบ.ประยุทธ์" ไฟเขียว "กองทัพบก" ซื้อสะพานทหารจีน 577 ล.)
แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า โครงการจัดหาสะพานทางยุทธวิธีสนับสนุนหน่วยทหารช่าง ที่ทำสัญญาซื้อขายในรูปแบบรัฐต่อรัฐ ระหว่างรัฐบาลไทย กับ รัฐบาลจีน ดังกล่าว มีข้อสังเกตอะไรที่สำคัญ ถึงทำให้สาธารณชนต้องจับตามองเรื่องนี้เป็นพิเศษ
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการเสนอเรื่องนี้ของกองทัพบก ต่อที่ประชุม ครม. เป็นทางการ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2558 พบข้อสังเกตที่น่าสนใจ อยู่ที่ความเห็นของ"สำนักงานอัยการสูงสุด" ที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาเรื่องนี้ ต่อที่ประชุม ครม. ปรากฎรายละเอียด ดังนี้
1. ในส่วนผู้ลงนามฝ่ายรัฐบาลจีน ขอให้รอผลการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลของกระทรวงการต่างประเทศ ในประเด็นเรื่องการมอบอำนาจของรัฐบาลต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนว่า เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ
(** คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ได้ให้ความเห็นประกอบเรื่องนี้ว่า กรณีนี้เป็นการดำเนินการจัดหาระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยการทำข้อตกลงเป็นการลงนามผูกพัน ระหว่างรัฐกับรัฐ หรือเป็นการลงนามโดยผู้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐที่ทำข้อตกลงร่วมกันเท่านั้น โดยสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบตามข้อตกลงจะเป็นไป ระหว่างรัฐต่อรัฐ
ทั้งนี้ การจัดหาพัสดุแบบรัฐต่อรัฐจะต้องได้รับอนุมัติจากครม.ก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ และเนื่องจากกรณีดังกล่าว เป็นการจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีคุณลักษณะเฉพาะในการใช้งานด้านยุทธวิธี และด้านความมั่นคงไม่มีการผลิตเพื่อจำหน่ายทั่วไปในเชิงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลจีนมีผู้ผลิตที่มีขีดความสามารถในการผลิตสะพานทางยุทธวิธีที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ และมีใช้ประจำการในกองทัพจีน ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการจัดหาดังกล่าวบรรลุตามวัตถุประสงค์ จึงอนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2549 ให้แก่กองทัพบกได้เป็นเฉพาะราย
แต่ทั้งนี้ การจัดหากรณีดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี และต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับในเรื่องของการทำสัญญาให้ถือปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและจีน รวมถึงควรประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อตรวจสอบข้อมูลในประเด็นเรื่องการมอบอำนาจของรัฐบาลต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการเอกชนเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่)
2. หนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินล่วงหน้าตามร่างข้อตกลงฯ ข้อ 5.2 ซึ่งกำหนดให้ใช้ธนาคารในจีนนั้น หากกองทัพบกสามารถเจรราให้เปลี่ยนมาใช้ธนาคารไทยแทนจะเป็นการรัดกุมยิ่งขึ้น
3. ร่างข้อตกลงฯ ข้อ 6.2.1.1 ที่กำหนดให้ผู้ขายออกค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่เจ่าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เดินทางไปตรวจสิ่งของซื้อขาย ณ จีน รวมทั้งข้อกำหนดทำนองเดียวกันในเอกสารแนบท้ายข้อตกลง (ถ้ามี) อาจเป็นการไม่ต้องด้วยมติคณะรัฐมนตรี ที่แจ้งโดยหนังสือสำนักเลขาธิการ ครม. ที่ สร.0202/ว.222 ลงวันที่ 18 พ.ย.2523 จึงขอให้กองทัพบกพิจารณาทบทวนเพื่อมิให้ขัดต่อมติครม.ดังกล่าวด้วย
4. ในการเจรจาระหว่างผู้แทนกองทัพบก และผู้แทนจีนนั้น ผู้แทนฝ่ายจีนได้เสนอว่าจะจัดให้มีคู่มือการใช้งานสินค้าเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การให้บริการทางเทคนิคและการซ่อมบำรุง และการฝึกอบรมบุคลากรฝ่ายไทยในจีน และประเทศไทย โดยไม่คิดมูลค่า
แต่ปรากฎตาม Annex 1 ว่า ฝ่ายจีนได้คิดมูลค่าของคู่มือเอกสาร การให้บริการทางเทคนิครวมมาในราคาสินค้าด้วย กองทักบกชอบที่จะตรวจสอบความถูกต้องเพื่อรักษาผลประโยชน์ของราชการ
5. เอกสารแนบท้ายร่างข้อตกลงฯ เป็นรายการสิ่งของที่จัดหา และรายละเอียดทางเทคนิค ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ได้ตรวจพิจารณา ขอให้กองทัพบกตรวจสอบเนื้อหา รายละเอียด และหมายเลขกำกับเอกสารแนบท้ายให้ถูกต้องชัดเจนและสอดคล้องกับร่างข้อตกลงฯ ที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาแล้วนี้
เบื้องต้น กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก ได้มีหนังสือถึง สำนักงานอัยการสูงสุดชี้แจงในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก ได้มีหนังสือถึง กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้พิจารณาความเหมาะสมของร่างข้อตกลงการจัดซื้อสะพานทางยุทธวิธีสนับสนุนหน่วยทหารช่าง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ พิจารณาแล้วเห็นว่า ยุทโธปกรณ์ทางทหารที่จะมีการจัดซื้อตามที่ระบุในข้อตกลงดังกล่าว มิได้เป็นประเภทยุทโธปกรณ์ที่อาจมีความละเอียดอ่อนในเชิงผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์และ/หรือ ความสัมพันธ์กับประเทศที่สาม
กอปรกับไทยกับจีนมีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ที่มีความใกล้ชิดและรอบด้านในทุกระดับโดยรวมถึงด้านการทหาร กระทรวงต่างประเทศจึงไม่ขัดข้องในหลักการในประเด็นการจัดหายุทโธปกรณ์จากจีน ซึ่งถือเป็นมิตรประเทศของไทย ตามแนวทางที่มติครม.ได้อนุมัติไว้ เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2530 ที่อนุมัติให้ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม จัดหายุทโธปกรณ์และการบริการทางทหารจากมิตรประเทศอื่นๆ นอกจากสหรัฐอเมริกาได้ ทั้งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้พิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ร่างข้อตกลงฯ มีลักษณะเป็นสัญญาเชิงพาณิชย์ (สัญญาซื้อขาย) โดยข้อ 12 ของร่างข้อตกลงฯ กำหนดให้ความตกลงอยู่ภายในบังคับของกฎหมายไทย มิใช่กฎหมายระหว่างประเทศ จึงอยู่ภายใจ้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้พิจารณา ตามมาตรา 23(2) ของพระราชบัญญัติอัยการ พ.ศ.2553
2. ตามร่างข้อตกลงฯ ข้อ 5.2 ได้กำหนดลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินล่วงหน้าไว้ โดยให้ใช้ธนาคารในจีนนั้น กองทัพบก โดยกรมการทหารช่างได้ประสานกับผู้แทนจีน เพื่อขอเปลี่ยนแปลงธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันการจ่ายเงินล่วงหน้าดังกล่าว จากธนาคารในจีน เป็นธนาคารไทย ตามข้อสังเกตของสำนักอัยการสูงสุด ซึ่งผู้แทบรัฐบาลจีนพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง
3. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2523 เห็นชอบและอนุมัติให้ "ส่วนราชการผู้ซื้อตั้งงบประมาณสำหรับค่าใช้จ่ายในการดูงานไว้ต่างหาก โดยพิจารณาความจำเป็นเป็นสำคัญ และการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับการเดินทางไปต่างประเทศชั่วคราว ซึ่งกำหนดไว้แล้วรวมทั้งกำหนดเงื่อนไขในแจ้งความประกวดราคาให้ชัดเจนว่า ในกรณีจำเป็นต้องส่งข้าราชการไปฝึกงานต่างประเทศ เพื่อศึกษาหาความชำนาญในการใช้เครื่องจักร เครื่องมือที่สั่งซื้อ ผู้ซื้อจะรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายดังกล่าวเอง ผู้ขายมีหน้าที่จัดฝึกอบรมให้เท่านั้น" ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีข้อสังเกตว่า ร่างความตกลงฯ ข้อ 6.2.1.1 กำหนดให้ผู้ขายออกค่าใช้จ่ายต่างๆ แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่เดินทางไปตรวจสิ่งของที่ซื้อขาย ณ จีน รวมทั้งข้อกำหนดทำนองเดียวกันในเอกสารแนบท้ายข้อตกลงฯ (ถ้ามี) อาจเป็นการไม่ต้องด้วยมติ ครม.ดังกล่าว
กองทัพบก ขอเรียนชี้แจง ดังนี้
- การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารเป็นการซื้อแบบครบวงจร ทั้งตัวอุปกรณ์และชิ้นส่วนซ่อมสำหรับใช้งานในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ภายหลังการเจรจาจนได้ข้อยุติในเรื่องราคาของยุทโธปกรณ์ดังกล่าวแล้ว กองทัพบกได้เจรจาต่อรองขอให้ฝ่ายจีน จัดให้มีการตรวจสอบสายการผลิต การตรวจสอบยุทโธปกรณ์ก่อนจัดส่งลงเรือ และการฝึกอบรมกำลังพลในเรื่องการใช้งานและการซ่อมบำรุงเพื่อให้เกิดความพร้อมในการใช้งานทั้งระบบ ซึ่งฝ่ายจีนพิจารณาแล้วยินดีให้การสนับสนุนโดยไม่คิดมูลค่า
- การจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสายการผลิต มีความจำเป็นเพื่อเป็นการรับรองว่าสินค้าไม่ได้ผลิตก่อนการลงนาม ไม่ใช่สินค้าเก่าเก็บ
- การจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสิ่งอุปกรณ์ก่อนส่งสิ่งของลงเรือมีจุดประสงค์เพื่อประกันว่าสินค้าที่มาจากประเทศผู้ผลิต เป็นสินค้าที่ถูกต้อง ตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ และเป็นการตรวจสอบว่าสินค้าไม่มีความเสียหายหรือใช้การไม่ได้ หรือหากมีการชำรุดบกพร่องของสินค้าจะได้ดำเนินการแก้ไข ณ ประเทศผู้ผลิต ส่งผลให้สินค้าเมื่อมาถึงประเทศไทย สามารถใช้งานได้ทันที
- การจัดส่งกำลังพลไปทำการฝึกอบรมมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของฝ่ายไทยให้มีทักษะ ความชำนาญในการใช้งานและการซ่อมบำรุง โดยได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ จากเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญ ซึ่งมีความพร้อมสูงสุด ณ โรงงานของผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งจะทำให้การใช้งานและการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อได้รับยุทโธปกรณ์แล้ว สามารถนำมาใช้ในภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้ทันที
-กองทัพบก โดยกรมการทหารช่างได้ตรวจสอบความถูกต้องในการสนับสนุนคู่มือการใช้งาน และการบริหารทางเทคนิคแล้ว ยืนยันว่าฝ่ายจีน เป็นผู้ให้การสนับสนุนคู่มือการใช้งานและการบริการทางเทคนิค โดยไม่คิดมูลค่า
- กองทัพบก โดยกรมการทหารช่างได้ตรวจสอบเนื้อหา รายละเอียดและหมายเลขกำกับเอกสารแนบท้ายให้ถูกต้องชัดเจน และสอดคล้องกับร่างความตกลงฯ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบพิจารณาไว้เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ สำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นสำหรับคำชี้แจงของ กองทัพบกว่า ได้รับทราบถึงคำชี้แจงการดำเนินงานของกรมส่งกำลังบำรุงทหารบกตามข้อสังเกตของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และโดยที่เป็นการแก้ไขร่างความตกลงฯ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตรวจพิจารณาแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจึงไม่ได้ตรวจร่างความตกลงฯ อีก
อย่างไรก็ดี การที่กรมส่งกำลังบำรุงทหารบกได้แก้ไขเพิ่มเติมเอกสารของร่างความตกลงฯ โดยเพิ่มรายการสิ่งของที่จัดซื้อได้แก่ Equipment and Tools สำหรับสะพานเครื่องหนุนมั่น มูลค่า 238,769,77 ดอลลาร์สหรัฐ และ Equipment and Tools สำหรับสะพานเครื่องหนุนมั่นขนาดหนัก มูลค่า 125,002.57 ดอลลาร์สหรัฐ นั้นขอให้ตรวจสอบด้วยว่าในเอกสารแนบท้ายสัญญาอันเดียวกับการส่งมอบและการชำระเงินนั้น ได้ครอบคลุมถึงสิ่งของรายการที่ได้ระบุเพิ่มเติมนี้ด้วยหรือไม่
อนึ่ง กรมส่งกำลังบำรุงทหารบกควรแก้ไขร่างความตกลงฯ ข้อ 1.1 คำนิยามคำว่า "Good" ข้อ 4 เงื่อนไขการส่งมอบ และข้อ 7 การรับประกันให้ครอบคลุมถึง Equipment and Tools ที่เพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่กรมส่งกำลังบำรุงทหารบกได้ดำเนินการตามข้อเสนอของสำนักอัยการสูงสุดแล้ว
ทั้งหมดนี่ คือ ความเห็นระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุด กับ กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก กองทัพบก ที่ถามตอบกันไปมาในการนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมครม.
ซึ่งหากพิจารณาคำถามและคำตอบของทั้งฝ่าย จะพบว่า สำนักงานอัยการสูงสุด มีข้อสังเกตที่สำคัญในการดำเนินการเรื่องนี้หลายประการ
ขณะที่ทางกองทัพบก ก็ยืนยันได้ปฏิบัติตามข้อสังเกตแล้ว
ส่วนผลในทางปฏิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากที่ ครม. อนุมัติให้ผู้บัญชาการทหารบก หรือ ผู้แทน (เจ้ากรมการทหารช่าง) เป็นผู้ลงนามซื้อขายสินค้าในรูปแบบรัฐต่อรัฐ กับรัฐบาลจีน ผ่านบริษัทตัวแทน จะเป็นไปตามที่กองทัพบกชี้แจงไว้ต่อที่ประชุม ครม. หรือไม่
โปรดติดตามตอนต่อไป ....