ย้อนผลสอบสตง.ชงบิ๊กตู่สางปัญหาเรดาร์ตรวจอากาศ ก่อนเครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์สุวรรณภูมิ
"...เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศโดยเฉพาะทางด้านการบินมีความสำคัญมากต่อความปลอดภัย และต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานการบินของประเทศตามที่ ICAO กำหนด หากกรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการวางแผนและการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดโดยเร็วอาจจะส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ ตลอดจนอาจไม่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ ICAO ได้ ..."
เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนทางสังคมที่กำลังถูกจับตามอง เมื่อ นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ เครือแปซิฟิก ผู้รับสัมปทานดำเนินการ สถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพบก จส.100 ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัววิจารณ์เหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบินไทย ไถลออกนอกรันเวย์ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าเป็นเพราะความไร้ประสิทธิภาพของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด เนื่องจาก บวท. ไม่มีเรดาร์ตรวจอากาศที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการจราจรทางอากาศ
ขณะที่ นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงตอบโต้ว่า กรณีเหตุเครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ดังกล่าว อยู่ในกระบวนการการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุของอากาศยานในราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม บวท. ในฐานะผู้ให้บริการจราจรทางอากาศ แก่เที่ยวบินดังกล่าว ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามขั้นตอนและเป็นไปตามมาตรฐานที่ ICAO กำหนด
ส่วนประเด็นเรดาร์ตรวจอากาศในการควบคุมจราจรทางอากาศนั้น ปัจจุบัน บวท. ใช้ข้อมูลสภาพอากาศ จากเรดาร์ตรวจจับกลุ่มเมฆฝน (Weather Radar) ในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา (มีมากกว่า 20 สถานี ติดตั้งอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ) โดยมีรัศมีทำการ 120 และ 240 กิโลเมตร จากสถานีเรดาร์ แสดงทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มเมฆแบบภาพ ต่อเนื่อง (Loop) เพื่อแสดงอัตราการเปลี่ยนแปลงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน (Update rate) ทุกๆ 10-15 นาที ทั้งนี้ บวท. จะแจ้งข้อมูลสภาพอากาศแก่นักบินเพื่อประกอบการตัดสินใจในการทำการบิน ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศจะใช้ข้อมูลดังกล่าว ในการวางแผนบริหารจัดการจราจรทางอากาศ ในภาพรวม ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศทั้งหมดในปัจจุบันที่ได้รับ เป็นไปตามข้อกำหนดและมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) นอกจากนี้ ระบบของ บวท. ยังมีข้อมูลจากการประมวลผลของระบบเรดาร์ปฐมภูมิ (Primary Surveillance Radar : PSR) ในลักษณะรูปภาพกราฟฟิก แสดงค่าความหนาแน่น ความเข้ม และระดับความรุนแรงของกลุ่มเมฆด้วยโทนสีต่างๆ ซึ่งมีติดตั้งใช้งานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
อย่างไรก็ตามในประเด็นของการจัดซื้อเรดาร์ตรวจอากาศนั้น มิได้เป็นภารกิจของ บวท. เนื่องจากตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังกำหนดไว้ว่า ภารกิจของกรมอุตุนิยมวิทยาคือ การบริหารจัดการด้านอุตุนิยมวิทยา โดยปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการตรวจเฝ้าระวังติดตาม รายงานสภาวะอากาศ อากาศเพื่อการบิน และปรากฏการณ์ธรรมชาติ ด้วยระบบและเทคนิคที่ทันสมัย ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการจัดหาเรดาร์ตรวจอากาศ จึงเป็นหน้าที่ของกรมอุตุนิยมวิทยาตามระเบียบกฎกระทรวงดังกล่าว นอกจากนี้ ตามระเบียบสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการจัดทำ ข้อตกลงการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบินกับหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่ในการให้บริการจราจรทางอากาศ พ.ศ. 2559 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ให้หน่วยงานให้บริการอุตุนิยมวิทยาการบิน มีหน้าที่รับผิดชอบในการให้บริการด้านอุตุนิยมวิทยาการบินของประเทศไทย (อ้างอิงจากhttps://www.aerothai.co.th/th/news-event/news/1656)
ไม่ว่าผลการสอบสวนหาสาเหตุเครื่องบินโดยสารของสายการบินไทย ไถลออกนอกรันเวย์ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จะเป็นเพราะอะไร?
แต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาเครื่องมือตรวจวัดพยากรณ์อากาศ และเรดาร์ตรวจอากาศในการควบคุมจราจรทางอากาศนั้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เคยนำปัญหาที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบไว้มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
โดยในรายงานตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่จัดทำโดย สตง. พบว่า นับตั้งแต่ปี 2555-2559 มีการจัดหาติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ระบบตรวจวัด ระบบเตือนภัยประเภทต่างๆ จำนวน 3,070.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.42 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรไปทั้งหมด 6,089.54 ล้านบาท
แต่พบจุดอ่อนเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซมดูแล บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์ที่อาจไม่เกิดความคุ้มค่า เครื่องมือไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 8 ประเภท 1,192 รายการ มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1,055.29 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชนได้ อาทิ แบตเตอรี่ที่เสาวัดลมของเครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ ที่มีความเกี่ยวข้องและมีความสำคัญต่อการขึ้นลงของเครื่องบิน เป็นต้น พร้อมระบุว่า เครื่องมือที่ตรวจสอบพบว่ามีปัญหาที่อยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ส่วนใหญ่เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ขณะที่สถานีที่ดูแลไม่สามารถระบุระยะเวลาที่เกิดการชำรุดเสียหายที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแก้ไข เนื่องไม่มีระบบการจัดทำทะเบียนคุมการซ่อมแซมบำรุง รวมทั้งเครื่องมือมีสภาพเก่า อายุการใช้งานยาวนาน เกิดการชำรุดบ่อยครั้ง
และเกี่ยวกับปัญหานี้ สตง. เคยทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รับทราบแล้ว
โดยระบุว่า สตง.ได้ตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ ตามกรอบแผนงบประมาณปี พ.ศ. 2554 – 2558 ของกรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสุ่มตรวจสอบเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศและพยากรณ์อากาศ จำนวน 11 ประเภท มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 3,633.73 ล้านบาท พบว่าเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาบางประเภทที่เกี่ยวข้องทางด้านการบิน มีการชำรุดหรือไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานการบินของประเทศตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) กำหนด
สาระสำคัญที่เกี่ยวข้องสรุปได้ดังนี้
1. เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ ใช้ประโยชน์ในการพยากรณ์อากาศระยะสั้น ติดตามและเฝ้าระวังสภาวะฝน เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ และแจ้งเตือนลักษณะอากาศร้ายที่ปกคลุมบริเวณสนามบิน จากการตรวจสอบพบว่าเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศชำรุดเสียหายไม่พร้อมสำหรับการใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ จำนวน 6 สถานี รวมมูลค่าการติดตั้ง 566.56 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเครื่องเรดาร์ตรวจอากาศของสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ติดตั้งในจังหวัดที่มีท่าอากาศยานซึ่งมีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการจำนวน 2 แห่ง ระยะเวลาชำรุดตั้งแต่ 2 เดือน สูงสุดมากกว่า 2 ปี โดยพบการชำรุดเสียหายของอุปกรณ์สำคัญ อาทิเช่น ชุดเครื่องส่ง เครื่องรับ ระบบขับจานสายอากาศ และเครื่องสำรองไฟ (UPS) นอกจากนี้ เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาส่วนใหญ่ มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 10 ปี จำนวน 15 เครื่อง คิดเป็นร้อยละ 55.56 ของจำนวนทั้งหมด (27 เครื่อง) โดยเป็นเครื่องที่ใช้งานมามากกว่า 18 ปี ถึง 12 เครื่อง อายุการใช้งานสูงสุด 23 ปี ทำให้อะไหล่ต่าง ๆ เริ่มเสื่อมสภาพและมีการชำรุดบ่อยครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานได้
2. เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) ใช้สำหรับตรวจและรายงานสภาพอากาศเพื่อการบินตามหลักเกณฑ์ที่องค์การบินระหว่างประเทศ (ICAO) กำหนด โดยการตรวจวัดข้อมูลสภาพอากาศอัตโนมัติที่ทางวิ่งเพื่อการขึ้นลงของสนามบิน จากการตรวจสอบจำนวน 10 สถานี พบว่ามีอุปกรณ์ตรวจวัดและชุดอุปกรณ์ประกอบอยู่ในสภาพชำรุด รวมทั้งหมด 7 สถานี มูลค่ารวม 83.40 ล้านบาท โดย
- อุปกรณ์ตรวจวัดชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ทั้งระบบ รวมถึงอุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ (CPU) จอภาพ (Moniter) เครื่องพิมพ์ (Printer) จำนวน 1 แห่ง เพียงวันที่ทำการตรวจสอบ พบว่า ชำรุดมาแล้วประมาณ 1 เดือน และได้รับข้อมูลว่าอุปกรณ์มีการชำรุดบ่อยครั้ง เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่า 17 ปี - อุปกรณ์ตรวจวัดชำรุดบางส่วน จำนวน 4 สถานี รายการอุปกรณ์ที่ชำรุด ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดความสูงฐานเมฆ อุปกรณ์ตรวจวัดทัศนวิสัย อุปกรณ์ตรวจวัดปริมาณและความแรงของฝน
- อุปกรณ์ประกอบอื่น ๆ ที่สำคัญชำรุด อาทิ เครื่องปรับอากาศ ระบบไฟสำรอง (UPS) จำนวน 5 สถานี
3. อุปกรณ์ประกอบที่สำคัญของเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศที่เกี่ยวข้องทางด้านการบินไม่ได้รับการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสม ได้แก่ แบตเตอรี่ของเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าว ใช้ในการเก็บสำรองไฟในกรณีฉุกเฉินหรือมีการขัดข้องของระบบไฟฟ้ากระแสตรงเพื่อให้เครื่องมือพร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสมและเปลี่ยนใหม่เมื่ออายุการใช้งานครบ 2 ปี
จากการตรวจสอบพบว่ามีแบตเตอรี่ของเครื่องสำรองไฟฟ้า (UPS) ไม่ได้รับการเปลี่ยนตามรอบระยะเวลาที่กำหนดและบางเครื่องมือมีการชำรุด ได้แก่ เครื่องตรวจอากาศอัตโนมัติ (AWOS) จำนวน 6 สถานี เครื่องมือตรวจอากาศอัตโนมัติระบบวินด์เชียร์ (LLWAS) จำนวน 2 สถานี เครื่องเรดาร์ตรวจอากาศ จำนวน 5 สถานี นอกจากนี้ พบว่ากรมอุตุนิยมวิทยาใช้เวลานานมากในการจัดหาแบตเตอรี่ใหม่มาทดแทน บางสถานีแก้ไขปัญหาชั่วคราวโดยถอดแบตเตอรี่จากเครื่องมืออื่นที่ไม่ได้ใช้งานต่อเนื่อง หรือแบตเตอรี่เก่าที่อาจยังพอใช้งานได้มาใช้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งไม่เป็นระบบที่เหมาะสม ไม่เกิดประสิทธิภาพ อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในอนาคต
อนึ่ง สตง. ได้มีการรายงานกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงผลการตรวจสอบปัญหาการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ระบบ Main Metteorological Operational Office : Main MET ของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งพบว่าเกิดการชำรุดเสียหายเป็นเวลานาน ในขณะที่พบว่ากรมอุตุนิยมวิทยามีการดำเนินการและแก้ไขปัญหาค่อนข้างล่าช้า ซึ่งจากการติดตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
อย่างไรก็ตาม เครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศโดยเฉพาะทางด้านการบินมีความสำคัญมากต่อความปลอดภัย และต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลและมาตรฐานการบินของประเทศตามที่ ICAO กำหนด หากกรมอุตุนิยมวิทยาไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการวางแผนและการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัดโดยเร็วอาจจะส่งผลกระทบด้านความเชื่อมั่นและความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ ตลอดจนอาจไม่ผ่านการรับรองตามมาตรฐานของ ICAO ได้
สตง. ยังย้ำว่า ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์เครื่องมือการตรวจวัดและพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่เกี่ยวข้องทางด้านการบิน พิจารณาแล้วเห็นว่าผลการตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาและบำรุงรักษาเครื่องมือตรวจวัดและพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ดังกล่าวข้างต้นมีความสำคัญและความจำเป็นต้องพิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงโดยเร่งด่วน
คำถามที่น่าสนใจ คือ นับตั้งแต่ สตง. สรุปรายงานปัญหาเรื่องนี้ ไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รับทราบข้อมูลเป็นทางการ
ปัญหาต่างๆ มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มากน้อยเพียงใด
ทั้งที่ข้อมูลเหล่านี่ นับเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ ที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบทุกฝ่าย โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด!
อ่านประกอบ :
พบเครื่องตรวจอากาศกรมอุตุฯชำรุดใช้งานไม่คุ้มค่าพันล.! สตง.จี้อธิบดีแก้ไขปัญหาด่วน
ติดตั้ง71 ปี ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ ละเลงงบร้อยล.! สตง.จี้กรมอุตุฯทบทวนสถานีฝนอำเภอ