ถูกคุกคาม-ฟ้องปิดปากทำหวาดกลัว!กสม. ชง 3 ข้อ ครม.บิ๊กตู่ แก้ละเมิดสิทธิมนุษยชน
กสม. ชง 3 ข้อเสนอแนะ ครม.ประยุทธ์ แก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชน-ข่มขู่นักกิจกรรม หลังได้รับเรื่องร้องเรียนปมคุกคาม 3 สมาชิกกลุ่มเครือข่ายปฏิรูปภาคอีสาน ตั้งข้อสังเกตมี จนท.รัฐบางรายไม่เข้าใจ ใช้ช่องกฎหมายฟ้องลูกเดียว หวังให้ยุติการคัดค้าน ส่งผลกระทบทั้งเรื่องเงิน-สภาพจิตใจ-หวาดกลัว
ผู้สื่อข่าวสำนักข่วาอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีข้อสังเกตถึงคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับกรณีเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และมีการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐข่มขู่คุกคาม
โดย กสม. มีข้อสังเกตว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐบางรายไม่เข้าใจการทำหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Right Defenders) ในการปกป้องสิทธิชุมชนและปกป้องประโยชน์สาธารณะ จึงมักใช้ช่องทางกฎหมาย โดยการฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา โดยมุ่งหวังว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีจะทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยุติการเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อวิจารณ์นโยบายบางประการของรัฐ หรือธุรกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยการฟ้องร้องดำเนินคดี ส่งผลกระทบอย่างมากต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นและครอบครัวซึ่งส่วนมากมีฐานะยากจน ทั้งการต้องหาหลักทรัพย์เพื่อใช้สิทธิในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ค่าใช้จ่ายในการจ้างทนายความ ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนซึ่งถูกฟ้องร้องหลายคดีได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก การถูกฟ้องร้องดำเนินคดีส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ความรู้สึกหวาดกลัว และมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ
กสม. ระบุอีกว่า เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมปกป้อง และคุ้มครองการทำหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติ จึงควรร่วมมือกันในการแสวงหามาตรการช่วยเหลือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในระยะสั้น และระยะยาว เพื่อให้เกิดการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรมแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อไป จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
1.คณะรัฐมนตรีควรกำชับให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรอบคอบและความระมัดระวังในการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกของประชาชนต่อการกำหนดนโยบายหรือแผนงานของรัฐที่กระทบต่อประชาชน และควรตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องก่อนจะมีการแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีแก่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
2.คณะรัฐมนตรี รัฐสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และสำนักงานศาลยุติธรรม ควรเร่งหามาตรการแก้ไขปัญหาการใช้กระบวนการฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อตอบโต้การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation - SLAPPs)”
3.คณะรัฐมนตรีร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม และรัฐสภา ควรดำเนินเพื่อให้มีกฎหมายที่มีเนื้อหาในการป้องกันและปัญหาการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือเพื่อกลั่นแกล้ง เพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน (Anti – SLAPPs Law) (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับข้อเสนอเหล่านี้ สืบเนื่องจากเมื่อปี 2559 กลุ่มเครือข่ายปฏิรูปภาคอีสาน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง กล่าวอ้างว่ามีสมาชิก 3 ราย ถูกจับกุม และถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐข่มขู่ คุกคาม และแจ้งความดำเนินคดี ในฐานะความผิดร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา อันถือเป็นการคุกคามทำให้หวาดกลัว และละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก และอ้างว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดีต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เจราจาทำความเข้าใจกับสมาชิกทั้ง 3 รายดังกล่าว และไม่ปรากฎหลักฐานว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด และมีมติให้ยุติเรื่องในเวลาต่อมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2560 กสม. ระบุในรายงานผลการดำเนินงานประจำปี 2560 ว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น 619 เรื่อง โดยถูกร้องเรียนว่าละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมมากที่สุด 193 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 31.18