กฤษฎีกาชี้ปมทุจริตเงินสตช.14 ล.ค้างเก่าปี37-ให้ ผบ.ตร. วินิจฉัยหาผู้รับผิดละเลยหมดอายุความ
เผยความเห็นทางกม.กฤษฎีกา ปมทุจริตเงิน สตช. 14 ล้าน ค้างเก่าตั้งแต่ปี 37 ให้ อำนาจ ผบ.ตร. วินิจฉัยตั้งคกก.สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด หลังปล่อยคดีหมดอายุความ ฟ้องเรียกคืนเงินหลวงไม่ได้ ชี้ถ้าพบปัญหามาจากจนท.ละเลย เพิกเฉย ดําเนินการล่าช้าสามารถดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชอบได้
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด กรณีสิทธิเรียกร้องของหน่วยงานของรัฐจากเจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดขาดอายุความ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากกรณีการทุจริตภายใน สตช. จำนวนเงิน 14 ล้านบาท ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ส่งเรื่องและเอกสารหลักฐานกลับมายัง สตช. โดยอ้างว่า ไม่สามารถฟ้องร้องละเมิดได้เนื่องจากขาดอายุความ จึงมีข้อพิจารณาทางกฎหมายว่า จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดผู้เกี่ยวข้องหรือไม่
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การจะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น เป็นอำนาจที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ต้องพิจารณาว่า ความเสียหายดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของ สตช.หรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทําด้วยประการใด ๆ อันควรแก่กรณี เพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ กล่าวคือ ถ้าได้ดําเนินการสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้มีการดําเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งแก่เจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตและเจ้าหน้าที่อื่น ที่เกี่ยวข้องภายในเวลาอันสมควรแล้ว ย่อมไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทํา ของเจ้าหน้าที่ สตช. ผบ.ตร.สามารถใช้ดุลพินิจที่จะไม่แต่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้
แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่สตช.ละเลย เพิกเฉย ดําเนินการล่าช้า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ สตช.ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องภายในกําหนดอายุความ ในกรณีเช่นว่านี้ ย่อมมี เหตุอันควรเชื่อว่า ความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ สตช. ผบ.ตร.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อหาผู้รับผิดชอบ
สำหรับข้อเท็จจริงกรณีนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2536 -28 ก.ค. 2537 มีกรณีการทุจริตเงินของ สตช. โดยเจ้าหน้าที่เบิกเงินงบประมาณของ สตช.ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่มีสิทธิ์จำนวน 14 รายการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 14,116,272.89 บาท ต่อมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการสอบสวนพบผู้ที่กระทำความผิดคือ ดต.ณรงค์ วงศ์พระจันทร์ และผู้ร่วมกระทำความผิดอีก 4 คน ที่เป็นผู้รับเงิน ได้แก่ 1. พ.ต.อ.พงษ์เพียร แกล้วทะนง 2.พ.ต.ท.วัฒนา ตุลยะนิษกะ 3.พ.ต.อ. กระแสร์ บุญทาราม และ 4.พ.ต.ท.ประจวบ กรีแก้ว เป็นจำเลยในคดีอาญา
สตช.จึงได้ส่งเรื่องไปยัง อสส. เพื่อให้ฟ้อง ดต.ณรงค์กับพวกอีก 4 คน แต่ อสส.ได้ส่งเรื่องและเอกสารหลักฐานกลับมายัง สตช. โดยอ้างว่า ไม่สามารถดำเนินคดีได้เนื่องจากไม่มีหลักฐานการรับเงินและไม่ทราบตัวผู้จ่ายเงิน
ในส่วนของ ดต.ณรงค์นั้น พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้อง ดต.ณรงค์ ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร และฉ้อโกงและขอให้คืนเงินที่เบิกไปจำนวน 2 รายการ เป็นจำนวน 1,230,300 บาท โดยเมื่อปี 2546 ศาลฎีกาได้พิพากษาให้ จำคุก ดต.ณรงค์เป็นระยะเวลา 4 ปี พร้อมกับให้คืนเงินจำนวนดังกล่าว ซึ่งต่อมา ดต.ณรงค์ ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้กับ สตช.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเงินจำนวนที่เหลือนั้น สตช.ได้ทำหนังสือไปถึงกรมบัญชีกลางเพื่อรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบ แต่ไม่ได้วินิจฉัยสั่งการว่าเจ้าหน้าที่คนใดต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนให้กับทางราชการ กรมบัญชีกลางจึงได้มีหนังสือ ถึง สตช. ขอให้ดําเนินการวินิจฉัยสั่งการสํานวนการ สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดในกรณีของผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตว่ามีผู้ใดต้องรับผิดหรือไม่ เป็นเงินจํานวนเท่าใด
ต่อมา สตช.ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 27 ก.พ.2552 ถึงกรมบัญชีกลาง แจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิด สรุปได้ว่า ไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้บังคับบัญชาและเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจและอนุมัติการจ่ายเงินและเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินเป็น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทําทุจริตของเจ้าหน้าที่ผู้ทุจริต และมิได้กระทําละเมิดต่อทางราชการ กลุ่มบุคคลดังกล่าวจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่ สตช.
จากนั้น กระทรวงการคลัง ได้พิจารณาสํานวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ก.ย.2552 ถึง สตช.ระบุถึงข้อกำหนดการคืนเงินที่เหลืออยู่จำนวน12,885,927.89 บาท ซึ่งในเวลาต่อมา สตช.ออกคำสั่งเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องชดใช้ค่าสินไหมดังต่อไปนี้
1.สตช.ได้ออกหนังสือคำสั่งลงวันที่ 27 ส.ค. ให้ ดต. ณรงค์ วงศ์พระจันทร์ ชดใช้เงินจํานวน 12,885,972.29 บาท ที่ยังเหลืออยู่
2.สตช.ได้ออกหนังสือคำสั่งลงวันที่ 27 ส.ค. ให้ ผู้ร่วมทุจริตได้แก่ พ.ต.อ. พงษ์เพียร แกล้วทนงค์ ,พ.ต.อ. กระแสร์ บุญทาราม พ.ต.ท. วัฒนา ตุลยะนิษกะ และพ.ต.ท. ประจวบ กรีแก้ว ร่วมกันชดใช้เงินตามสัดส่วนให้ได้ครบถึง12,885,972.29 บาท
3.สตช.ได้ออกหนังสือคำสั่งลงวันที่ 27 ส.ค.ระบุให้เจ้าหน้าที่ที่ตรวจและอนุมัติการจ่ายเงิน ได้แก่ พ.ต.อ.ธวัชชัย เจริญสม,พ.ต.ต. อาคม ต่านวรรณกิจ,ร.ต.ท.หญิง ช่อลิลลี่ โวดิษฐ์, ร.ต.ท.หญิง ฉันทนา ถนอมสุทธิ์ (พรรณีหรือศรินรัตน์ เมฆะสิริศักดิ์) ,ส.ต.ต.หญิง มธุลี เฉลิมสุข,ส.ต.ต.หญิง สุพรรณี คําแก้ว ส.ต.ต.หญิง วงศ์จันทร์ ม่วงทอง ,ร.ต.ท.หญิง สุนทรี ทวีปสูงเนิน (สุขประเสริฐกุล) ร.ต.ท.หญิง ทิพย์วาณี ศรีสวัสดิ์ ร่วมรับผิด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ได้ถึงจํานวน 12,885,972.29 บาท
ต่อมา พ.ต.ท.หญิง ศรินรัตน์ และ พ.ต.ท.หญิงช่อลิลลี่ และ ดต.หญิง มธุลี (ส.ต.หญิง มธุลี เฉลิมสุข) ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้ดำเนินการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยแยกออกเป็น 4 คดี และต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่า สตช.ได้ออกคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อพ้นกําหนดระยะเวลาสิบปีนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้ทําละเมิด จึงถือว่าพ้นระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแล้ว ซึ่ง สตช.ได้ปฏิบัติตามคําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดโดยมีคําสั่ง ลงวันที่ 15 ก.ย.2560 เพิกถอนคําสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว
สำหรับ ดต.ณรงค์นั้น สตช.ได้ดําเนินคดีและ อสส.ได้ฟ้อง ดต. ณรงค์ เป็นจําเลยในคดีอาญาในความผิด ตามตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดเกี่ยวกับเอกสาร และขอให้ ดต.ณรงค์ คืนเงินจํานวน 12,885,972.29 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5.5 ต่อปี แก่สตช. ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคําพิพากษาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2554 ลงโทษจําคุก ดต.ณรงค์ 20 ปี และให้คืนเงินหรือชดใช้เงินจํานวน 12,885,972.29 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่ สตช. ซึ่งดต. ณรงค์ ไม่ได้ยื่น อุทธรณ์คําพิพากษา คําพิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้จึงเป็นที่สุด ปัจจุบันอยู่ระหว่างการบังคับคดี แต่ยังไม่มีการยึดอายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของ ดต. ณรงค์ แต่อย่างใด
ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2560 สตช.ได้ทำหนังสือไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อหารือเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดสรุปได้ว่า ตามที่ สตช.ได้เพิกถอนคําสั่งที่เรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทําละเมิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษาว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้อง ที่ขาดอายุความ สตช.มีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการ สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงว่ามีเจ้าหน้าที่ใดกระทําการโดยประมาท เลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ขาดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้อง และขอหารือว่าความเห็นดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่
โดยเหตุผลของ สตช.ที่ระบุว่าไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงระบุว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏว่าเหตุละเมิดกรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลา ระหว่างวันที่ 7 ต.ค. 2536 ถึงวันที่ 28 ก.ค. 2537 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติ ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 จะมีผลใช้บังคับ และในปี พ.ศ. 2538 สตช.ได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและหาตัวผู้รับผิดชอบทางแห่ง จนเสร็จสิ้นแล้ว โดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ มีความเห็นให้ดําเนินคดีทางแพ่งและอาญา กับ ดต.ณรงค์ กับพวกรวม 4 คน ที่ร่วมกระทําการทุจริต อันเป็นการดําเนินการที่เสร็จสิ้น ทั้งในส่วนของวิธีสบัญญัติและสารบัญญัติก่อนพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ จะมีผลใช้บังคับแล้ว
ดังนั้น การเรียกให้เจ้าหน้าที่ผู้กระทําทุจริตและเจ้าหน้าที่อื่นที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง กับการเบิกจ่ายเงินร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทางราชการจึงไม่อาจกระทําได้ แม้ว่า สตช.จะออกคําสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนภายในอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ ตามผลการพิจารณาความรับผิด ทางละเมิดของกระทรวงการคลัง ก็ไม่อาจเรียกให้เจ้าหน้าที่รับผิดชดใช้เงินได้ เนื่องจากล่วงเลยอายุความสิบปีนับแต่เหตุละเมิดเกิดขึ้นแล้ว ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษา ประกอบกับ ความเสียหายที่เกิดแก่ทางราชการทั้งหมดนั้น สตช.ได้ดําเนินคดีอาญา ดต. ณรงค์ พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดลงโทษ จําคุก ดต. ณรงค์ กับให้คืนหรือชดใช้เงินแก่ทางราชการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการดําเนินการ บังคับคดี ด้วยเหตุนี้ สตช.จึงเห็นว่าไม่จําต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดเพื่อสอบสวนว่ามีเจ้าหน้าที่ที่กระทําโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ ขาดอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องอีกต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2560 กรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือถึง สตช.ระบุว่าควรให้ สตช.ไปหารือแนวทางดังกล่าวกับคณะกรรมการกฤษฎีกาประเด็นนี้ ในวันที่ 15 มิ.ย. 2561 สตช.จึงได้มีหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฏีกาเพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าการจะตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น เป็นอำนาจที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐจึงพิจารณาว่า ความเสียหายดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อว่าเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ของ สตช.หรือไม่ ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทําด้วยประการใด ๆ อันควรแก่กรณี เพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ กล่าวคือ ถ้าได้ดําเนินการสอบข้อเท็จจริง รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งดําเนินการเพื่อให้มีการดําเนินคดีทางอาญาและทางแพ่งแก่เจ้าหน้าที่ผู้ทุจริตและเจ้าหน้าที่อื่น ที่เกี่ยวข้องภายในเวลาอันสมควรแล้ว ย่อมไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทํา ของเจ้าหน้าที่ สตช. ผบ.ตร.สามารถใช้ดุลพินิจที่จะไม่แต่งตั้ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้
แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่สตช.ละเลย เพิกเฉย ดําเนินการล่าช้า หรือกระทําด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ สตช.ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องภายในกําหนดอายุความ ในกรณีเช่นว่านี้ ย่อมมี เหตุอันควรเชื่อว่า ความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทําของเจ้าหน้าที่ สตช. ผบ.ตร.ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเพื่อหา ผู้ต้องรับผิด ดังกล่าว