"ประชาคมอาเซียน" ผ่านมุมมอง "เด็ก-ผู้ใหญ่" เมื่อโอกาสเผชิญหน้ากับ"ความอ่อนด้อย"
ความปั่นป่วนวุ่นวายของการเมืองไทย กับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานปี และยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ส่งผลให้การเตรียมพร้อมก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" ของไทย และพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์พิเศษอย่างชายแดนใต้ ถูกดึงรั้งและกลบฝังด้วยสารพัดปัญหาตลอดมา
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยคือ "ผู้นำ" ในการจัดตั้ง "อาเซียน" หรือสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations; ASEAN) ตามกรอบ "ปฏิญญากรุงเทพ" เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2510 หรือเมื่อ 45 ปีที่แล้ว โดยประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
แม้กระทั่งแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนให้สำเร็จภายในปี พ.ศ.2558 (ค.ศ.2015) ผู้นำอาเซียนทั้งสมาชิกก่อตั้งและสมาชิกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในภายหลัง ได้แก่ บรูไนดารุสลาม เวียดนาม พม่า ลาว และกัมพูชา รวมเป็น 10 ประเทศ ก็ได้ลงนามรับรอง "ปฏิญญาชะอำ-หัวหิน" ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 มี.ค.2552
ทว่าถึงวันนี้...หลายเสียงวิจารณ์ตรงกันว่าไทยกำลังกลายเป็นประเทศที่น่าห่วงอย่างยิ่งเรื่อง "ความพร้อม" ของการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
เพราะ 3 ประชาคมที่ "อาเซียน" มุ่งเน้น คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political Security Community; APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community; AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community; ASCC) ประเทศไทยล้วนมีปัญหาทั้งสิ้น โดยเฉพาะในภาค "การเมืองและความมั่นคง" จากสถานการณ์ความขัดแย้งภายในทั้งในมิติการเมืองและความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กล่าวเฉพาะในพื้นที่ชายแดนใต้ซึ่งบริบทภายในค่อนข้างคึกคักเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตลักษณ์ทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมสอดคล้องกับชาติสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ แต่ปรากฏว่าตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา แม้จะมีเวทีประชุมสัมมนาน่าสนใจหลายเวที แต่ก็ไม่สามารถแหวกแทรกสถานการณ์ปั่นป่วนในบ้านเมืองให้เป็น "วาระหลัก" ที่สังคมหรือแม้แต่รัฐบาลเหลียวมามองเพื่อต่อยอดได้
"ทีมข่าวอิศรา" จึงขอคัดสรรเวทีที่น่าสนใจ 2 เวทีมารายงานต่อสาธารณะ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในแง่ "วัยวุฒิ" ของผู้ร่วมเวที แต่ความต่างนั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่น่าพิจารณา โดยเฉพาะ "โอกาส" กับ "ความอ้อนด้อย" ของไทยในการก้าวสู่ประชาคมระดับภูมิภาค
เยาวชนอาเซียนลงปฏิญญา 4 บทบาทสู่พัฒนายั่งยืน
เวทีแรกเป็นการประชุมในหัวข้อ "เยาวชนอาเซียนกับการพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน" โดยมีผู้นำเยาวชนอาเซียนจาก 6 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา พม่า และบรูไน จำนวน 150 คน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และลงนามปฏิญญาความร่วมมือของผู้นำเยาวชนอาเซียน โดยมีสมาคมส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานีเป็นแม่งาน และมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานเปิดงาน
เป้าหมายของเวทีประชุมนานาชาติระดับ "เยาวชน" ครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความตระหนักในความสำคัญและประโยชน์จากการเปิดประตูสู่ประชาคมอาเซียน พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศสมาชิกให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
ประเด็นที่เยาวชนอาเซียนจาก 6 ประเทศได้ร่วมลงนามใน "ปฏิญญา" ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งแรกของผู้นำเยาวชนอาเซียน ประกอบด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 4 บทบาทด้วยกัน คือ
1.บทบาทของเยาวชนกับการศึกษา พบว่ากลุ่มประเทศอาเซียนประสบปัญหาด้านการศึกษาหลายประการ เช่น ปัญหาด้านภาษา การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของผู้ด้อยโอกาสและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล จำนวนนักเรียนต่อห้องเรียนที่มากเกินไป รวมไปถึงช่องว่างระหว่างมาตรฐานของโรงเรียนในเมืองกับชนบท ฯลฯ
ยุทธศาสตร์ที่ผู้นำเยาวชนวางไว้ร่วมกัน อาทิ เน้นให้ประเทศในประชาคมอาเซียนปรับระบบการศึกษาให้ทันสมัย ขยายระยะเวลาในการฝึกงาน ขยายโอกาสทางการศึกษาทั้งในและนอกระบบสู่ชนบท รวมถึงส่งเสริมการเรียนภาษาของประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน มีโครงการฝึกงานหรือโครงการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกัน เป็นต้น
2.บทบาทของเยาวชนกับวัฒนธรรม ผู้นำเยาวชนพบว่าวัฒนธรรมของชาติอาเซียนเริ่มเสื่อมถอยจากการก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์และการทะลักเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ปัญหาที่น่าห่วงคือการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยของเยาวชน
ยุทธศาสตร์และพันธกิจที่ผู้นำเยาวชนวางไว้ร่วมกัน คือ มุ่งสร้างความร่วมมือเพื่อการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมโดยส่งเสริมคุณค่าทางจริยธรรมให้กับเยาวชน ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว และร่วมกันปลูกฝังการปฏิบัติตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดให้มีโครงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศในประชาคมอาเซียนเน้นให้เยาวชนเป็นผู้เข้าร่วม และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาติอาเซียน รวมถึงบรรจุกีฬาพื้นบ้านในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์
3.บทบาทของเยาวชนกับสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่วิกฤติไปทั่วโลก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ (climate change) ผู้นำเยาวชนจึงเห็นควรเพิ่มความตระหนักในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และกระตุ้นเยาวชนให้มีส่วนร่วมในการลดการทำลายธรรมชาติ ลดกิจกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้น
ยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการที่มีการนำเสนอ เช่น โครงการอาสาสมัครแลกเปลี่ยนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม และหลักปฏิบัติ 3 R คือ การลดจำนวน การนำกลับมาใช้ใหม่ และการรีไซเคิล (Reduce Reuse and Recycle) พร้อมจัดทำเว็บไซต์เยาวชนอาเซียนเพื่อการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
4.บทบาทของเยาวชนอาเซียนกับปัญหายาเสพติด เป็นที่ทราบกันดีว่าหลายชาติในอาเซียนประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด ขณะที่เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มาจากปัญหาสังคม ครอบครัว การเงิน การขาดความเอาใจใส่ และอิทธิพลจากคนรอบข้าง รวมถึงความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ดังนั้นพันธกิจเร่งด่วนคือ สร้างความตระหนักถึงอันตรายของการใช้ยาเสพติด และได้วางยุทธศาสตร์เดินหน้าจัดตั้งกลุ่มเยาวชนรณรงค์ป้องกันปัญหายาเสพติด ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของแต่ละประเทศ ให้ความรู้แก่เยาวชนเรื่องภัยร้ายของยาเสพติดผ่านทางชุมชนและการศึกษา ส่งเสริมกิจกรรมนันทนาการ เช่น การแข่งขันกีฬา การโต้วาที และเข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมเพื่อบำบัดผู้ติดยาเสพติด
ผู้นำเยาวชนหวังจุดประกายรัฐช่วยสนับสนุน
นายอโพโลนิโอ บี. มาเลนิซา (Apolonio B.Maleniza) ตัวแทนเยาวชนจากสิงคโปร์ กล่าวว่า ปฏิญญาฉบับนี้จะไม่สามารถบรรลุผลได้หากเยาวชนไม่ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของตนเองต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก รวมถึงขาดความร่วมมือและการสนับสนุนจากรัฐบาลและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
"พวกเราผู้นำเยาวชนอาเซียนต่างเชื่อมั่นว่าความกระตือรือร้นและความมุ่งมั่นของเยาวชนจะเป็นแรงผลักดันให้ชุมชนของเราร่วมใจกันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน"
ขณะที่ นายสุไฮมี มาและ นายกสมาคมส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนากระบวนการทำงานทั้งระบบ โดยมุ่งหวังให้เด็ก เยาวชน และครอบครัวได้เรียนรู้ถึงแนวทางการดำเนินชีวิต พร้อมขับเคลื่อนสังคมสู่ความสันติสุข ร่วมพัฒนาวิสัยทัศน์ความสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ประชาคมอาเซียนด้วยหลักเหตุผลความพอประมาณ มีภูมิคุ้มกัน อันจะเป็นรากฐานการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนสืบไป
"อยากให้ทางผู้ใหญ่ทุกกระทรวงที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นของเด็กจากทุกภาคของประเทศไทย โดยเน้นเรื่องอาเซียน สำหรับพื้นที่ชายแดนใต้มีความได้เปรียบในเรื่องของภาษา เพราะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไนใช้ภาษาที่ไม่แตกต่างจากภาษามลายูปัตตานีมากนัก แต่ในเรื่องของภาษาอังกฤษก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมด้วยเช่นกัน จึงอยากให้หน่วยงานรัฐเร่งรัดในเรื่องนี้" นายสุไฮมี ระบุ
ทางวิบากไทยบนถนนสายอาเซียน
อีกเวทีหนึ่งที่จัดเมื่อเร็วๆ นี้ โดยคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) คือเวทีเสวนาหัวข้อ "การเตรียมความพร้อมสู่การสร้างความร่วมมือกับประชาคมอาเซียน" ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ.เมืองปัตตานี มีผู้เข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนทัศนะทั้งข้าราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคพลเมือง
ดร.สามารถ ทองเฝือ รักษาการคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนจะเกิดในอีก 3 ปีข้างหน้า วันนี้จึงมีความจำเป็นต้องวาง "โรดแมพ" (แผนที่เดินทาง) ของภาคพลเมือง สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความตื่นตัวมากกว่านี้ ต้องรู้เท่าทันสถานการณ์ และที่สำคัญคือการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรที่จะต้องพัฒนาเรื่องของภาษา เรื่องการต่อรอง เรื่องความรู้เกี่ยวกับอาเซียน และเรื่องทัศนคติต่อประเทศอาเซียนต่างๆ
"มีคนเคยถามผมว่าหัวใจหลักของการเป็นประชาคมอาเซียนคืออะไร ผมตอบว่าอาเซียนเรียกร้องให้เราเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน ซึ่งการเป็นครอบครัว สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องการสื่อสาร ซึ่งตามกฏบัตรแล้วภาษาที่ใช้ทำงานเป็นภาษาเดียวกันคือภาษาอังกฤษ ถือเป็นภาษาหลัก ดังนั้นเราต้องพัฒนาเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งภาษาถิ่นของตัวเอง เราต้องพัฒนาตัวให้มีความเป็นมืออาชีพ แต่ยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ตนเอง" ดร.สามารถ กล่าว
ผศ.สุกรี หลังปูเต๊ะ คณบดีคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า หากมองในมิติทางเศรษฐกิจใกล้ๆ ตัว วันนี้มีประชาคมมุสลิมในประเทศอาเซียน รวมถึงจีน อินเดีย ซึ่งพี่น้องมุสลิมในประเทศเหล่านี้ก็ล้วนต้องการบริโภคขนม อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มจากบ้านเรา อย่านึกว่าคนอื่นในต่างประเทศไม่ต้องการ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะพัฒนาสินค้า อาหาร ขนมของคนในพื้นที่ให้ดูนำสมัย น่าสนใจต่อคนมุสลิมในประชาคมอาเซียนหรือจีนและอินเดียได้อย่างไร นี่คือตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ความเป็นอาเซียนเป็นเรื่องใกล้ตัวชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาก
ขณะที่ นายเศรษฐ อัลยุฟรี อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้คือการเตรียมความพร้อมด้านภาษา แต่หน่วยงานของรัฐกลับยังไม่ขยับสักเท่าไหร่ ยังตื่นตัวกันช้า ฉะนั้นทางออกคือทำไมเราไม่ทำในส่วนที่เราทำได้เลย โดยเฉพาะผ่านทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
"องค์กรท้องถิ่นต้องปรับวิสัยทัศน์ ปรับแผนยุทธศาสตร์ของท้องถิ่น มีหลายส่วนที่เราสามารถทำได้ทันทีและทำได้ไม่ยาก เช่น เรื่องการกำหนดแผนการศึกษาระดับท้องถิ่น เป็นต้น" นายเศรษฐ กล่าว
จุดแข็งที่อาจแปรเป็นความอ่อนด้อย
ต้องยอมรับว่าจุดแข็งของคนไทยในแง่ของความเป็นชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม แม้ในอดีตจะทำให้ไทยฝ่าวิกฤตการณ์ร้ายๆ มาได้หลายครั้ง แต่ปัจจุบันจุดแข็งเหล่านั้นอาจแปรผันกลายเป็นความอ่อนด้อยได้หากยังไม่เร่งปรับตัว
นายณัฐพงศ์ ลัทธพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางจังหวัดยะลา สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จุดมุ่งหมายหนึ่งของการเป็นประชาคมอาเซียน คือให้สมาชิกสร้างความรู้จักกันมากขึ้น ไม่ดูถูกประเทศอื่น แต่ที่ผ่านมาเรามักจะเป็นอย่างนั้น
"ปัจจุบันเรื่องอาเซียนผมเห็นว่ายังมีความตื่นตัวกันน้อย ผมเข้าใจว่าเป็นเพราะการเมืองภายในมาแย่งพื้นที่สื่อ แย่งความสนใจจากประชาชนไปหมด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศเองก็กำลังสร้างองค์ความรู้ 3 เสา คือ ความรู้เรื่องการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของประเทศอาเซียน เราพยายามสร้างกิจกรรมมากมายเพื่อเผยแพร่ข้อมูลทำให้เกิดความตื่นตัว แต่ก็ได้รับความสนใจน้อยหากเทียบกับระยะเวลาที่เข้าใกล้ความเป็นประชาคมอาเซียนมากขึ้นทุกที"
ในเรื่องของภาษา นายณัฐพงศ์ให้ข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจ
"ผมไปในหลายประเทศ เขามีการพัฒนาการเรียนรู้ภาษาที่สองโดยทำให้เด็กๆ ไม่เครียด ผมไม่รู้ว่าเขาสอนกันอย่างไร เข้าใจว่าเพราะเขาติดต่อคนต่างชาติมากมาย เลยทำให้รู้หลายภาษา แต่ตอนนี้คนไทยภูมิใจ คิดว่าคนอื่นเรียนภาษาไทย คิดว่าภาษาไทยจะเป็นภาษาของอาเซียนได้ เลยไม่ยอมเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นการคิดแบบวางกับดักตัวเอง และจะเป็นการปิดกั้นโอกาสต่างๆ ในการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นอาเซียนในที่สุด" นายณัฐพงศ์ กล่าว
เมื่อโอกาสกำลังมาถึง แต่ความอ่อนด้อยก็ยังเป็นดั่งสนิมเนื้อใน คำถามคือเราจะก้าวไปข้างหน้ากันอย่างไร...เป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันไขคำตอบ!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-2 บรรยากาศการประชุมเยาวชนอาเซียนกับการพัฒนาสังคมแบบยั่งยืน
3 ผู้นำเยาวชนจากสิงคโปร์
4 เวทีเสวนาการเตรียมความพร้อมสู่การสร้างความร่วมมือกับประชาคมอาเซียน (ภาพโดย ปรัชญา โต๊ะอิแต)
ขอบคุณ : คุณอับดุลเราะมาน ไซลามู ช่างภาพอิสระชายแดนใต้ เอื้อเฟื้อภาพประกอบในงานประชุมเยาวชนอาเซียนฯ