‘ดร.พนัส’ เผย 921 บริษัท ประกาศเจตนารมณ์ต้านโกง -4 หอการค้านอร์ดิค หนุนสมาชิกเข้าร่วม
4 หอการค้ากลุ่มประเทศนอร์ดิค ลงนามเอ็มโอยู หนุนสมาชิกเข้าร่วมโครงการต้านโกงภาคเอกชน 'ดร.พนัส สิมะเสถียร' เผยปัจจุบันมี 921 บริษัท ร่วมประกาศเจตนารมณ์- 332 บริษัท ผ่านการรับรองจาก CAC ด้านปธ.หอการค้าไทย-นอร์เวย์ เเนะให้ความรู้คนรุ่นใหม่ ขจัดทุจริต
วันที่ 11 ต.ค. 2561 หอการค้าเดนมาร์ค-ไทย หอการค้าไทย-ฟินแลนด์-หอการค้า ไทย-นอร์เวย์ และหอการค้าไทย-สวีเดน (กลุ่มประเทศนอร์ดิค)ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจพร้อมสนับสนุนสมาชิกให้เข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption :CAC) ในงานสัมมนาประจำปี National Conference on Collective Action against Corruption ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ Disrupting Corruption จัดโดย CAC ณ โรงแรมดุสิตธานี
ดร.พนัส สิมะเสถียร ประธานกรรมการ CAC กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทประกาศเข้าร่วมเจตนารมณ์ 921 บริษัท ในจำนวนนี้มี 332 บริษัท ได้ผ่านการรับรองจากกรรมการ CAC ว่ามีการกำหนดนโยบาย แนวปฏิบัติ รวมถีงระบบป้องกันภายในองค์กรเพื่อป้องกันการทุจริตครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ในขณะที่บริษัทเอกชนให้ความสำคัญกับการกำหนดกลไกดังกล่าว ตามกระบวนการรับรอง ถือเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างมากในการแก้ปัญหาการทุจริตของไทย เพราะในเมื่อบริษัทเอกชน มีระบบควบคุมประสิทธิภาพป้องกันการจ่ายสินบนแล้ว จะช่วยลดความเสี่ยงของปัญหาดังกล่าวตามไปด้วย
ส่วนในด้านความสำเร็จของ CAC ในการขยายภาคธุรกิจใสสะอาดนั้น ประธานกรรมการ CAC ระบุว่า ไม่เพียงได้รับการยอมรับจากภาคเอกชนและภาครัฐของไทยเท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับสากลด้วย มีหลายประเทศสนใจ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี ภูฏาน ติดต่อของให้ CAC ช่วยแนะนำจัดตั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการต่อต้านการทุจริต หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก อย่าง มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด ในสหรัฐอเมริกา ยังให้ความสนใจโครงการนี้ ให้ทีมงานพัฒนาหลักสูตรเดินทางมาไทย เพื่อสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง แล้วนำแนวความคิดไปใช้เป็นกรณีศึกษาในการเรียนการสอนด้วย
ด้าน Aina Eidsvik ประธานหอการค้าไทย-นอร์เวย์ กล่าวว่า CAC ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับหอการค้าของกลุ่มประเทศนอร์ดิค ซึ่งถือเป็นคำมั่นสัญญาในการสนับสนุนช่วยกันป้องกันทุจริต เพราะฉะนั้นเราพยายามหาวิธีการหยุดยั้งปัญหาดังกล่าว ภายใต้การทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ ขั้นตอนทางกฎหมายต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญต้องศึกษาวัฒนธรรม รวมถึงธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินในประเทศ
“เราต้องต่อสู้กับคอร์รัปชัน เพื่อความโปร่งใส ดำเนินธุรกิจได้อย่างยุติธรรม และอย่างน้อยช่วยเพิ่มคุณภาพมากขึ้น หากเกิดมีคนให้สินและรับสินบน แสดงว่า เราก้าวข้ามเส้น จึงเห็นได้ว่า การขาดความรู้ทางกฎหมาย จะสร้างความเสียหายให้ประเทศ และเมื่อไม่เคารพกฎหมายจะไม่มีใครหยุดยั้งปัญหาอาชญากรรมได้ ดังนั้น วิธีการพัฒนาไทยสู่ 4.0 ต้องต่อสู้กับปัญหาทุจริตให้ได้ พร้อมกันนี้แนะนำให้กฎหมายที่ไม่จำเป็นออกไป และเน้นเรื่องภาษี และให้การศึกษากับคนรุ่นใหม่ เพื่อจัดการได้อย่างยั่งยืน” ประธานหอการค้าไทย-นอร์เวย์ กล่าวในที่สุด .