ไทยพ้นบัญชีดำลักลอบค้างาช้างผิดกฎหมาย กรมอุทยานฯ เผยยังต้องทำตามแผนอย่างต่อเนื่อง
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยหลังประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญา ไซเตสครั้งที่ 70 ณ เมืองโซชี สหพันธรัฐรัสเซีย มีมติไทยไม่ต้องจัดทำแผนปฏิบัติการงานช้างต่อไซเตส ยืนยันยังเดินหน้าดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาค้างาช้างผิดกฎหมายอีก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบริหาร อนุสัญญาไซเตสครั้งที่ 70 (Seventieth meeting of the Standing Committee: SC70) ณ เมืองโซชี สหพันธรัฐรัสเซีย เมื่อวันที่ 1-5 ตุลาคม ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมมีมติพิจารณาให้ประเทศไทย หลุดออกจาก NIAP process พร้อมกับอีก 4 ประเทศ ประกอบด้วย จีน เคนยา ฟิลิปปินส์ และยูกันดา
ที้งนี้ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2556 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในสถานะประเทศที่น่ากังวลอย่างมาก (Primary Concern) เกี่ยวกับการค้างาช้างผิดกฎหมายในฐานะประเทศปลายทางของงาช้างผิดกฎหมาย และมีมติให้ประเทศไทยต้องเข้าสู่การพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ (National Ivory Action Plan (NIAP) Process) ซึ่งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวอย่างยิ่ง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย อย่างต่อเนื่องนับจากปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ โดยกรมอุทยานฯ ร่วมกับทุกภาคส่วนเร่งรัดดำเนินการเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการค้างาช้างที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อันเป็นการปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธกรณีแห่งอนุสัญญา CITES
ต่อมาในปี 2558 ประเทศไทย มี พระราชบัญญัติงาช้างฯ ฉบับแรก และรัฐบาลได้เห็นชอบ “แผนปฏิบัติการงานช้างแห่งชาติ” ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเสนอ
สำหรับผลการการดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ในปี 2559 การประชุมสมัยสามัญภาคีอนุสัญญาไซเตส ครั้งที่ 17 (CITES CoP17) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 กันยายน – 4 ตุลาคม 2559 ณ เมืองโจฮันเนสเบิร์ก สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะที่เกี่ยวข้องกับการค้างาช้างช้างผิดกฎหมาย ให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้น คือจากประเทศที่น่ากังวลอย่างมาก (Primary Concern) ลงมาเป็นประเทศที่น่ากังวลลำดับรอง (Secondary Concern)
จนท้ายที่สุดในการประชุมคณะกรรมการบริหารอนุสัญญาไซเตสครั้งที่ 70 ครั้งนี้ที่ผ่านมา ไทยหลุดออกจาก NIAP Process ไม่ต้องพัฒนาแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี มีรายงานด้วยว่า ประเทศไทยก็ยังต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิให้เกิดปัญหาเรื่องการค้างาช้างผิดกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้ไทยต้องกลับเข้ามาในกระบวนการ NIAP Process อีกในอนาคต
ซึ่งผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวข้างต้นจากการร่วมมือกันระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมปศุสัตว์ และกรมการปกครอง ดำเนินการเก็บตัวอย่างเลือดช้างบ้าน จำนวน 3,783 เชือก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการนำช้างผิดกฎหมายมาสวมสิทธิเป็นช้างบ้าน ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.
ในเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม “การป้องกันและปราบปรามการค้าสัตว์ป่าพืชป่าผิดกฎหมายอาเซียน” ซึ่งจะเป็นเวทีให้ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นในการป้องกันปราบปรามการค้าสัตว์ป่าพืชป่าที่เด่นชัดในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกของอาเซียน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ช้าง งา และการเข่นฆ่า ส่องปัญหาผ่านศิลปะในงาน Travel Ivory Free