กรีนพีซสุ่มเก็บขยะพลาสติกหาดวอนฯ จ.ชลบุรี พบ ‘โคคาโคล่า-ดัชมิลล์’ เยอะสุด
กรีนพีซฯ เปิดผลรายงานตรวจสอบขยะพลาสติก พื้นที่ ‘หาดวอนนภา’ จ.ชลบุรี พบมากที่สุดจากแบรนด์สินค้า ตปท. ‘โคคาโคล่า’ 191 ชิ้น -ไทย ‘ดัชมิลล์’ 299 ชิ้น รณรงค์ตระหนักภาคการผลิตลดใช้ครั้งเดียวทิ้ง
วันที่ 10 ต.ค. 2561 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดแถลงข่าว “ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ผู้ผลิตจะมีความรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติก” โดยเป็นการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติก (Brand Audit) จากการเก็บในบริเวณ หาดวอนนภา อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อ ก.ย. 2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทำความสะอาดพื้นที่ โดยแนวร่วม Break Free From Plastic ใน 239 จุด 42 ประเทศ ณ โรงแรม Vic 3 กรุงเทพฯ
นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซฯ เปิดเผยผลการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติกจากหาดวอนนภา พบมีทั้งหมด 2,781 ชิ้น โดยเป็นขยะพลาสติกจากแบรนด์ข้ามชาติ 817 ชิ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ โคคาโคล่า 191 ชิ้น, เป็บซีโค 119 ชิ้น, ยาคูลท์ 78 ชิ้น, ยูนิลีเวอร์ 67 ชิ้น และเนสท์เล่ 63 ชิ้น
ส่วนขยะพลาสติกจากแบรนด์ในไทย 1,606 ชิ้น 5 อันดับแรก ได้แก่ ดัชมิลล์ 299 ชิ้น, ซีพี กรุ๊ป 133 ชิ้น, โอสถสภา 93 ชิ้น, เสริมสุข 66 ชิ้น และเครือสหพัฒน์ 63 ชิ้น
ทั้งนี้ หากแบ่งสัดส่วนขยะพลาสติกที่พบจาก Brand Adit แบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซฯ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 91 (2,513 ชิ้น) เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร ร้อยละ 7 (223 ชิ้น) ของใช้ส่วนตัว และร้อยละ 2 (45 ชิ้น) ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน
เมื่อแบ่งตามชนิดของพลาสติก พบเป็นพลาสติกหลายชั้น (Multi Layers) มีมากที่สุด ร้อยละ 30 ( 833 ชิ้น ) ตามมาด้วย โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (PDPE) ร้อยละ 19 (539 ชิ้น), โพลีเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ร้อยละ 19 (523 ชิ้น), โพลีโพรไพลีน (PP) ร้อยละ 9 (255ชิ้น), โพลีไวนิลคลอไรด์ (PVC) ร้อยละ 9 (243 ชิ้น), โพลีสไตรีน (PS) ร้อยละ 8 (231 ชิ้น), พลาสติกชั้นเดียว (SL) ร้อยละ 5 (133ชิ้น) และพลาสติกอื่น ๆ ร้อยละ 1 ) 24 ชิ้น
นายธารา กล่าวด้วยว่า การเปิดเผยรายงานชิ้นนี้ไม่ได้ต้องการห้ามใช้พลาสติกทุกชนิด แต่เน้นเฉพาะพลาสติกที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเท่านั้น ทำอย่างไรที่จะลดการใช้พลาสติกที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรีนพีซฯ มีข้อเสนอเรียกร้องไปยังภาคการผลิตสินค้าและบริษัทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เริ่มจากการกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นและสร้างปัญหาภายในปี 2562 และกำหนดวันที่บรรจุภัณฑ์พลาสติก ใช้ครั้งเดียวทิ้งจะไม่ถูกนำมาใช้ในธุรกิจอีกต่อไป นอกจากนี้ควรแทนที่พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วยวัสดุที่สามารถใช้ซ้ำได้ สนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในนวัตกรรมระบบการกระจายสินค้าที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง เป็นต้น .