มหาวิทยาลัยของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาฯ
มหาวิทยาลัยที่ “ออกนอกระบบราชการ” หรือ เรียกว่า “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” จึงไม่อยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2547 สามารถสรรหาแต่งตั้งอธิการบดีเกิน 60 ปี ได้จึงไม่มีปัญหาในการฟ้องคดี
ขอทำความเข้าใจในเรื่องมหาวิทยาลัยของรัฐพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 เพราะยังมีคนเข้าใจว่าในมหาวิทยาลัยของรัฐบางมหาวิทยาลัยทำไม่มีอายุเกิน 60 ปี ได้ แต่ทำไมศาลปกครองสูงสุดที่ ธ 1221/2559 ผู้ที่เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสานไม่ได้ หรือรักษาราชการแทนอธิการบดี ไม่ได้ และคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (หมายเลขที่ อ.651/2561)ให้เพิกถอนมติของสภา มรภ. กาญจนบุรี ที่แต่งตั้ง ผศ.ปัญญา การพานิช เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี มรภ.กาญจนบุรี ดังนั้นผมใคร่เขียนอธิบายทำความเข้าใจถึงมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 ว่าประกอบด้วยมหาวิทยาลัยใดบ้าง
เมื่อพิจารณาศึกษาถึงประเภทมหาวิทยาลัยประเภทมหาวิทยาลัยของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 2547 (ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 121 ตอนพิเศษ ที่ 70 ก ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547) มหาวิทยาลัยที่เป็น “ส่วนราชการ” ตามคำนิยาม มาตรา 4 พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 2547 มีดังนี้
“ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับบรรจุและแต่งตั้งให้รับราชการตามพระราชบัญญัตินี้โดยได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือนในสถาบันอุดมศึกษา
“สภาสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สภามหาวิทยาลัย หรือสภาสถาบันอุดมศึกษา แล้วแต่กรณีทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษานั้น
“สถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา แต่ไม่รวมถึงสถานศึกษาของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ
“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
จากคำนิยามสถาบันอุดมศึกษาตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา 2547 มาตรา 4 ในคำนิยาม “สถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาของรัฐในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญา แต่ไม่รวมถึงสถานศึกษาของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ จะพบว่า มหาวิทยาลัยของรัฐที่ส่วนราชการที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติดังกล่าว มีอยู่ 3 ประเภท ดังนี้
1) มหาวิทยาลัยมีกฎหมายเฉพาะ และเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยมีกฎหมายเฉพาะ เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นราชการมีฐานะเทียบเท่า “กรม” มีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชน เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น
2) มหาวิทยาลัยราชภัฏ เมื่อพิจารณาศึกษาถึงมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ เป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 มีฐานะเทียบเท่า “กรม” มีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชน
จะพบว่ามีมหาวิทยาลัยแยกเป็นภูมิภาค ดังต่อไปนี้
(1) “กลุ่มภาคกลาง” มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม (มจษ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร (มร.พน.) มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี (มรธ.)มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏวไล อลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ (มรว.) มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา (มรภ.อย.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี (มรภท.)
(2) “กลุ่มภาคตะวันตก” มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม (มรภน.) มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี (มรภ.กจ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง (มร.มจ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (มรภ.พบ.)
(3) “กลุ่มภาคตะวันออก” มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.) มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี (มรภ.รพ.)
(4) “กลุ่มภาคใต้” มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (มรภ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช (มร.นศ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สข.) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา (มรย.)
(5) “กลุ่มภาคเหนือ” มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (มรภ.ชม.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.ชร.) มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง (มรภ.ลป.) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ (มรภอ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (มรภ.พส.) มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร (มรภ.กพ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ (มรภ.พช.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ (มรภ.นว.) และ
(6) “กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ (มรภ.ชย.) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (มรภ.นม.)มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ (มรภ.บร.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ (มรภ.สร.) มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.)มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี (มรภ.อบ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม (มรภ.มค.) มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด (มรภ.รอ.) มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย (มรภ.ล.) มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (มร.อด.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร (มรภ.สน.)
ข้อสังเกต เมื่อพิจารศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏที่ออกนอกระบบในปัจจุบัน พบว่ามี “มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต” แห่งเดียวที่ออกนอกระบบราชการเป็นมหาวิทยาลัยในการกำกับของรัฐ เป็น “มหาวิทยาลัยสวนดุสิต” เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 และในปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายมหาวิทยาลัยมีแนวคิดที่จะออกนอกระบบเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
3) มหาวิทยาลัยราชมงคล เมื่อพิจารณาศึกษาถึงมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยราชมงคลเป็นไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. 2548 มีฐานะเทียบเท่า “กรม” เป็นนิติบุคคลคลมหาชน มีมหาวิทยาลัยราชมงคล ประกอบ ด้วย 9 แห่ง ดังต่อไปนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ส่วนคำนิยาม “สถาบันอุดมศึกษา” ที่ว่า ……………….. “แต่ไม่รวมถึงสถานศึกษาของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ” นั้นจะพบว่าเป็น “มหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ” หรือเป็น “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” เป็นหน่วยงานอื่นของรัฐที่อยู่ภายใต้การบังคับและกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร หน่วยงานอื่นของประเภทนี้ไม่ใช่หน่วยราชการ ไม่รัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่องค์การมหาชน แต่เป็นหน่วยงานอื่นของรัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อบริการสาธารณะและไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาพ.ศ. 2547 จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร มีอยู่ 2 คือ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของราชการส่วนกลางกับอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของราชการส่วนท้องถิ่น ดังนี้
1) มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของราชการส่วนกลาง คือ จะอยู่ในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มีดังต่อไปนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยทักษิณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย
2) มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของราชการส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันมีเฉพาะมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชแห่งเดียวที่อยู่ในกำกับของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ (อ้างใน สิทธิกร ศักดิ์แสง “กฎหมายปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” นนทบุรี : บริษัทภีมปริ้นติ้ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด,2561 หน้า 114-115)
มหาวิทยาลัยที่ “ออกนอกระบบราชการ” หรือ เรียกว่า “มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” จึงไม่อยู่ภายใต้การบังคับของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2547 สามารถสรรหาแต่งตั้งอธิการบดีเกิน 60 ปี ได้จึงไม่มีปัญหาในการฟ้องคดี
สิทธิกร ศักดิ์แสง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราฎร์ธานี
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เรื่องเล่าเช้านี้เรื่องเล่าเช้านี้