ตายปีละ2หมื่น-เสียหาย5แสนล.! จม.เปิดผนึกถึงพรรคการเมือง อุบัติเหตุท้องถนน แก้ไขได้ไหม?
‘วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกฯ และ ‘วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์’ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกฯ ร่วมกับภาคีเครือค่าย ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อพรรคการเมืองผ่านสื่อมวลชน แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนถนน แนะ 3 ข้อ 5 เสาหลักตามยูเอ็นรับรอง-รวมทุกภาคส่วนจัดตั้งหน่วยงานดูแล-ประกาศเป็นวาระสำคัญและนโยบายเร่งด่วนของพรรค จ่อยื่นหลังปลดล็อคทางการเมือง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2561 นายวิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ (WHO expert advisory panel on injury and violence prevention and control) นายวิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือค่าย ร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมืองผ่านสื่อมวลชน เรื่อง ข้อเสนอให้นำเรื่องความปลอดภัยทางถนนบรรจุไว้ในนโยบายพรรค ในงานเสวนา ความปลอดภัยทางถนนต้องเป็นเจตจำนงทางการเมืองเพื่อรักษาชีวิตคนไทย ณ ห้องประชุมฟอร์จูน 1 AB ชั้น 3 โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว ฟอร์จูน ถนนรัชดาภิเษก-พระราม 9 กรุงเทพฯ เพื่อเสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ บรรจุเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรค โดยเสนอความเห็นให้ร่วมแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน 3 ข้อ รายละเอียดเต็มดังนี้
ที่ WHO-RTG ว.๑๙/๒๕๖๑
วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๑
เรียน หัวหน้าพรรค.........................................................
เรื่อง ข้อเสนอให้นำเรื่องความปลอดภัยทางถนนบรรจุไว้ในนโยบายพรรค
สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑. รายนามองค์กรที่ลงนามสนับสนุน
๒. บทความสภาที่ปรึกษารัฐสภาเพื่อความปลอดภัยในการขนส่ง The Parliamentary Council for Transport Safety (PACTS) แห่งประเทศอังกฤษที่ไทยควรเรียนรู้
ตามที่ทราบกันดีว่าสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยอยู่ในระดับรุนแรงมากโดยประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดเป็นอันดับที่สามและสองของโลกจากรายงานองค์การอนามัยโลกในปี ๒๕๕๖ และในปี ๒๕๕๘ ตามลำดับ จากรายงานล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขคนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในปี ๒๕๕๙ สูงถึง ๒๒,๓๕๖ คน ส่วนใหญ่ของผู้ประสบอุบัติเหตุอยู่ในวัย ๑๕-๒๔ ปี ผู้บาดเจ็บหนักที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลกลายเป็นผู้พิการถาวรถึงร้อยละ ๔.๖
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ ๒๕๖๐) ได้คำนวณมูลค่าความสูญเสียจากการเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปี ๒๕๕๔-๒๕๕๖ เฉลี่ยต่อปีเท่ากับ ๕๔๕,๔๓๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product - GDP)
ตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันไว้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ปี ๒๕๕๘-๒๕๗๓ และเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ๒๕๕๔-๒๕๖๓ ที่จะลดการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนยังไม่ดีขึ้นจะมีคนไทยเสียชีวิตในช่วง ๑๕ ปีข้างหน้าจนถึงปี ๒๕๗๓ อีกประมาณสามแสนคน และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณแปดล้านล้านบาท ทั้งนี้หากคิดเป็นความสูญเสียต่อครัวเรือนกว่า ๒๕ ล้านครัวเรือนของคนไทย(กรมการปกครอง ๒๕๖๐) จะมีมูลค่าความสูญเสียกว่าสามแสนบาทต่อครัวเรือน มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียไปจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาวหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยจากการสำรวจของ ซูเปอร์โพลเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๖๑ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๐.๘ รู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่บนถนนและชี้ว่าเกิดจากวิธีการป้องกันและการแก้ไขปัญหาที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจของสวนดุสิตโพลในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ที่พบว่าสองในสามของประชาชนมีความวิตกต่อปัญหาอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับที่สามรองจากชีวิตความเป็นอยู่ ปากท้อง รายได้ และเศรษฐกิจตกต่ำ โดยมีตัวเลขสูงถึงร้อยละ ๖๖.๔๖ จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นได้ชัดว่าประชาชนชาวไทยตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศมากน้อยเพียงใด
ในโอกาสที่ประเทศไทยกำลังจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ และพรรคการเมืองของท่านเสนอตัวอาสารับใช้ประเทศชาติ การแก้ปัญหาความเสียหายของประเทศจากอุบัติเหตุทางถนนจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก
กระผม นายวิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ (WHO expert advisory panel on injury and violence prevention and control) นายวิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่าย ใคร่ขอเรียนเสนอความเห็นต่อท่านเพื่อให้พรรคของท่านร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ๓ ประการ คือ
๑. ผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ปี ๒๕๕๘–๒๕๗๓ อย่างจริงจัง ซึ่งที่โดยประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ได้รับรอง ๑๒ เป้าหมายการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนนแบบสมัครใจ (Voluntary global performance targets for road safety risk factors and service delivery mechanisms) เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๑ โดยมีตัวชี้วัดด้านการดำเนินงาน ๓๔ ตัวชี้วัดที่มีกำหนดระยะเวลาชัดเจน ครอบคลุมการจัดการความปลอดภัยทางถนนทั้ง ๕ เสาหลัก
๒. ร่วมมือกับพรรคการเมืองทุกฝ่าย รัฐบาล วุฒิสมาชิก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะกรรมาธิการหรือรูปแบบอื่นใดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษารัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำให้เกิดความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยตามหลักคิดของสภาที่ปรึกษารัฐสภาเพื่อความปลอดภัยในการขนส่งแห่งประเทศอังกฤษ (The Parliamentary Council for Transport Safety - PACTS) ที่ระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศ
๓. ประกาศให้การแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระสำคัญและพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรค
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
นายวิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ (WHO expert advisory panel on injury and violence prevention and control)
นายวิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน
นายวิทยา กล่าวว่า ที่ต้องทำจดหมายเสนอแนะดังกล่าวนั้น เนื่องมาจากปัจจุบันเรื่องอุบัติเหตุในประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤติ อีกทั้ง การบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าวนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงมีข้อเสนอว่า รัฐบาลต้องตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดำเนินการดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งและจัดการ ดังเช่นในประเทศเวียดนามได้แก้ปัญหาจนสถานการณ์ดีขึ้นมาก เพราะรัฐบาลมีการตั้งหน่วยงานเข้ามาดูแลรับผิดชอบและเฝ้าติดตามโดยเฉพาะ
"คาดหวังว่ารัฐบาลจะมีการจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างเป็นระบบ ซึ่งระบบดังกล่าวนี้มีหลักวิชาการอยู่แล้ว เพียงแต่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง มีการทำแต่เฉพาะช่วงเทศกาลใหญ่ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ โดยต้องจัดการทั้ง 8 มาตรการ คือ การจัดวางผังเมืองและการบริหารพื้นที่ การออกแบบทางเลือกในการเดินทาง การออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมาย ยานพาหนะที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย การออกแบบบำรุงรักษาถนนที่ปลอดภัย ระบบการจัดการความเร็ว ระบบสร้างความตระหนักและความรู้แก่ประชาชน และระบบการดูแลหลังเกิดเหตุ"
ขณะที่ นายวิวัฒน์ กล่าวว่า มีข้อมูลสถิติพิสูจน์แล้วว่า การแก้ไขปัญหาด้านอุบัติเหตุบนท้องถนนทำให้ชีวิตของประชาชนดีขึ้น ซึ่งการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในตัว 5 เสาหลัก ที่องค์การสหประชาชาติประกาศ และทั่วโลกใช้ ได้ผลมันชัดเจนอยู่แล้ว คือ เรื่องการบริหารจัดการ, ถนนปลอดภัย, รถปลอดภัย, พฤติกรรมปลอดภัย และเรื่องระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และมีระบุรายละเอียดมากมายว่ามีวิธีการย่อยอะไรบ้าง ซึ่งจะใช้หลักดังกล่าวมาดำเนินการแก้ไขปัญหา
“ควรจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของพรรค เพราะในปัจจุบันสถานการณ์ด้านอุบัติเหตุบนท้องถนนเลวร้ายมาก ต้องมีการกำหนดจุดมุ่งหมายในเรื่องนี้ อย่างน้อยก็ต้องมีเป้าหมายในลดการเสียชีวิตให้น้อยลง ซึ่งจะเริ่มยื่นให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้ หลังจากที่คลายล็อคแล้ว” นายวิวัฒน์ระบุ