วงเสวนา ‘จับแพะ’ แนะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้อัยการเห็นสำนวนคดีตั้งแต่แรก
วงเสวนารวมพลคนเป็นแพะซัดตำรวจยัดข้อหา ซ้อม ทรมาน แนะปฏิรูปกระบวนยุติธรรมให้อัยการเห็นสำนวนคดีตั้งแต่แรก
วันที่ 7 ต.ค. 2561 เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) จัดเสวนา เรื่อง “ตำรวจยัดข้อหา ประชาชนจะต่อสู้และปฏิรูประบบสอบสวนอย่างไร?" โดยมีเหยื่อและญาติผู้ต้องหาที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยัดข้อหามาร่วมเสวนา 3 กรณี ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย
น.ส.จินดา ศรีสมัย ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดครอบครองยาเสพติด กล่าวว่า เหตุเกิดเมื่อ 19 ก.ย.2554 ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยัดยา ใช้วิธีการซ้อม บังคับ ให้ยอมรับว่าครอบครองยาเสพติดที่สถานบันเทิง ซึ่งตำรวจเข้าใจว่าตนเองชื่อ"เก๋"ตามที่สายลับบอกมา ต่อมาตำรวจตามไปจับที่ปั้มน้ำมัน อ.สำโรง จ. สมุทรปราการ ขณะกำลังไปขึ้นรถ แล้วตบไปมา ถามว่า “มึงมีของมั้ย” มีการค้นที่ห้องพัก และเอาของที่มีราคาไป หยิบเงินไปหมื่นกว่าบาท ระหว่างที่ไป บก.น.1 ก็ยังมีการซ้อม บอกว่าถ้าอยากกลับบ้านก็ขอมีเพศสัมพันธ์กับ ตร.4 คน ขอเงิน 200,000 บาท ถ้าไม่สามารถเอาเงินมาได้ ก็จะเพิ่มยาเสพติดให้
"ดิฉันมีการให้รายละเอียดต่อศาลว่าถูกซ้อม แต่ศาลไม่รับฟัง แต่ฟังตำรวจมากกว่าผู้ต้องหา เป็นเรื่องที่ไม่มีการนำพยานบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์เป็นหลักฐาน และศาลไม่ให้ประกันตัว ศาลชั้นต้นลงโทษ 9 ปี 4 เดือน ติดไปแล้วกว่า 3 ปี ต่อมาดิฉันคนเดิมไปทำเหตุการณ์เช่นนี้กับคนอื่นอีกจึงทนไม่ได้ จึงขอให้กระบวนการยุติธรรมปรับปรุงเพราะประชาชนเดือดร้อนมากแล้ว และได้ฟ้องกลับตำรวจที่จับกุมในข้อหากักขังหน่วงเหนียว ทำร้ายร่างกาย และตบทรัพย์" น.ส.จินดา กล่าว
ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยงค์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่าตามมาตรา 131 ป.วิอาญาเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบต้องรวบรวมหลักฐานทุกชนิดเพื่อพิสูจน์ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาด้วย ดังนั้นต้องไม่มีอคติต่อผู้ต้องหา และหากไม่ได้รับความยุติธรรมขอให้ผู้ต้องหายื่นเรื่องให้อัยการสูงสุดขอความเป็นธรรม มีสิทธิที่จะดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานสอบสวนภายในอายุความที่กำหนด เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อการตรวจสอบได้ โดยผู้ต้องหาหรือญาติขอความรู้ต่ออัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิ์ฯ เพื่อขอคำแนะนำอย่าปล่อยให้ศาลตัดสินไปแล้วจึงมาร้อง และอย่าเชื่อว่าจะมีการวิ่งเต้นไม่ให้อัยการสั่งไม่ฟ้องหรือโดนหลอก
"ปัญหาการสอบสวนของไทย อัยการไม่ได้ลงไปสอบสวนด้วยแต่แรก ทั้งนี้อัยการสามารถให้ความรู้กับประชาชนได้ ขอเรียกร้องประชาชนเมื่อมีปัญหาให้ไปหาอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือประชาชนทางกฏหมายในจังหวัดนั้นๆ แม้ว่าเรื่องนั้นจะเกิดในพื้นที่คนละจังหวัดก็ตาม คนจนสามารถขอไต่สวนขอสู้คดีแบบอนาถาต่อสู้ทั้งสามศาล อย่างไรก็ตามระบบของไทยขณะนี้ทำให้อัยการทำงานได้เพียงเท่านี้"นายโกศลวัฒน์ กล่าว
ขณะที่ ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ฟังเรื่องของคุณจินดาแล้วสะท้อนใจ ส่วนตัวเคยได้ยินเรื่องเหล่านี้มาแทบทุกวันจนกลายเป็นเรื่องปกติ เรื่องแบบนี้ในต่างประเทศหากมีความผิดพลาดเมื่อเห็นปัญหาต้องรีบแก้ไข แต่ประเทศไทยจะรีบแก้ตัว และปกปิดความจริง กรณีแบบเดียวกับคุณจินดามีมากมาย ประเทศใดที่มีการคอรัปชั่นมาตัวชี้ชี้วัดคือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกระบวนการยุติธรรมไทยโคตรห่วยแตก เกิดการจับผิดและยัดข้อหา รีดเงินกันมากมาย พนักงานสอบสวนไม่รวบรวมหลักฐานหรือสอบสวนเพิ่มเติมตามจริงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ตามมาตรฐานสากล ไม่ว่าจะเป็นระบบซิวิวลอว์หรือคอมมอลลอว์ ระบบกล่าวหาหรือไต่สวน เมื่อตำรวจจับผู้ต้องหาไปแล้ว จะรีบแจ้งอัยการทันที และไม่ควรรอให้ประชาชนต้องวิ่งไปหาสื่อหรือต้องหาคนช่วยเอง
"การปฏิรูปของไทยต้องยอมให้อัยการสามารถลงไปดูหรือรับรู้เมื่อมีการจับกุม และการที่ดำเนินคดีควรมีหลายหน่วยงานดำเนินคดีได้ เช่น ปกครอง อัยการ ส่งพยานหลักฐานฟ้องเองได้ ที่น่าสงสัย การยึดยาเสพติดของไทยมีปัญหามาก ทำให้ตำรวจเอายาไปยัดยาให้ใครก็ได้ จับ1หมื่นเม็ด เหลือ 1พันเม็ด แล้ว 9 พันเม็ดไปไหน ซึ่งในต่างประเทศเขาจะให้อัยการเข้าไปตรวจสอบด้วยแต่แรก เพื่อไม่ให้ตำรวจนำยาที่ไม่รายงานไปยัดให้ใครได้ การทำงานของเราไม่มีมาตรฐานแม้แต่ขั้นตอนเดียว"ดร.น้ำแท้ กล่าว
ส่วน ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิต ม.บูรพา กล่าวว่า การที่สอบสวนไม่มีการบันทึกภาพและเสียงทำให้เกิดปัญหา หากมีอุปกรณ์เหล่านี้จะเห็นว่าผู้ต้องหามีบาดแผลจากการซ้อม ทรมาน เมื่อมีการจับกุม พนักงานสอบสวนไม่สอบเพิ่มเติม หลายกรณีไม่มีการถ่วงดุล มีการจับกุมข้ามเขต เช่น กรณีนี้ บกน.1 ไปจับกุมคุณจินดาในเขตปากน้ำ แสดงว่าต้องรู้จักใครในพื้นที่ สตช. ควรนำกรณีผิดพลาดต่างๆไปปรับปรุงการทำงานที่ผิดพลาด เพราะเกิดขึ้นทั้งในนครบาลและต่างจังหวัด เชื่อว่ามีแบบนี้อีกเป็นแสนราย
"ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมต้องเลิกการทำงานของคนๆเดียวที่สามารถจับกุมเอง หาหลักฐาน สอบเองและทำคดีเอง แบบนี้คนไทยมีสิทธิติดคุกง่ายมาก และต้องเลิกการใช้สายลับ มาเป็นการใช้นิติวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น ในเรื่องของยาเสพติด แต่แปลกจับขนาดนี้ แต่ยาเสพติดก็ยังเพิ่มขึ้น"ร.ต.อ.ดร.วิเชียร กล่าว
ขณะที่นายวรนารภ ภูมิถาวร อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา กล่าวว่า ตำรวจต้องให้ผู้ต้องหาอ่านสำนวนคดีก่อนเซ็นชื่อด้วย ปัญหาสำคัญมาจากการสอบสวนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ กรณีจับกุมนำตัวไปรีดไถเรื่องที่เกิดขึ้นตนก็เป็นแพะถูกหลอกมาเยอะ กว่าสำนวนมาสู่ศาลแทบไม่เหลืออะไรแล้ว คนที่ถูกจองจำเป็นผู้บริสุทธิ์เยอะ ตนถึงกรวดน้ำให้ผู้บริสุทธิ์ทุกวัน ขอฝากสื่อให้ลงข่าวในเรื่องประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมให้ไปหาอัยการคุ้มครองสิทธิฯ และขอให้การปฏิรูปตำรวจ นำคนที่เป็นแพะเข้าไปประชุมด้วย คณะกรรมการปฏิรูปควรจะเคยต้องคดีมาก่อนถึงจะปฏิรูปตำรวจสำเร็จ
นายธนากร เจริญรุ่งเรือง บิดาของนายราชศักดิ์ เจริญรุ่งเรือง ที่ถูกตำรวจชุดสืบสวนภูธรจังหวัดปราจีนจับกุมข้อหายาเสพติดศาลฎีกายกฟ้องและกำลังฟ้องเรียกค่าเสียหาย 30 ล้านบาท กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ตำรวพยายามยัดข้อหายาเสพติดนส. ศิริวรรณ ที่มีนายราชศักดิ์ พยายามเข้าไปช่วย และถูกเอาถุงข้าวสารครอบหัวเพื่อเอาทรัพย์ไป (แหวน) โดยทำการซ้อมเพื่อให้ยอมรับ โดยนำผู้ต้องหานส.ศิริวรรณ และนายราชศักดิ์กลับไปที่บ้าน เพื่อค้นหายา ที่อ้างว่าพบยา 716 เม็ดโดยบอกว่ามียาเสพติดในกระเป๋ากางเกงของผู้ต้องหาทั้งสอง คนละ 10 เม็ด และ 6 เม็ด และให้ชี้จุดที่ซ่อนยาข้างบ้าน
"การบันทึกการจับกุมขณะที่จำเลยถูกมัดไขว้หลัง มีพิรุธทั้งเวลา หลักฐานที่ไม่สอดคล้องกัน ในฐานะพ่อจึงต้องต่อสู้เพื่อลูกดำเนินคดีจากหลักฐานของตำรวจเองก็เป็นดาบคืนสนอง ซึ่งคุณศิริวรรณ บอกในภายหลังว่า ตำรวจหลอกให้ไปกดเงินเอทีเอ็มให้ 50,000 บาท แต่เวลาที่ตำรวจบันทึกเป็นเวลาที่ต่างจากเวลาที่กดเงินจริง ในคำเบิกความคุณศิริวรรณมีความชัดเจน เรื่องนี้ผมไหวตัวทันไม่เอาทนายที่จ.ปราจีนไปสู้คดีความ เพราะจะถูกหลอกให้จ่ายเงินไปล้มคดี จึงหันไปพึ่งทนายกรุงเทพฯ ตอนนี้ศาลยกฟ้องแล้ว และกำลังฟ้องกลับเรียกค่าเสียหาย 30 ล้าน"นายธนากร กล่าว
นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร นักเรียนชั้นม.6 ที่ถูกตำรวจจ.ปราจีนบุรี จับยัดข้อวิ่งราวทรัพย์ กล่าว่า ลูกชายถูกจับแล้วซ้อม ใช้ถุงขยะครอบหัว เพื่อให้ยอมรับว่าครอบครองสร้อยทองที่อ้างว่าไปชิงจากหญิงคนหนึ่ง และทำการตรวจสอบฉี่อ้างว่าพบสารเสพติด แต่มีญาติมาช่วยได้ทันและพาไปตรวจฉี่ที่โรงพยาบาล ผลฉี่คือไม่พบสารเสพติด ต่อมาตำรวจได้ขอเงิน 50,000 บาท ทราบว่าเป็นตำรวจปราจีนชุดเดียวกันกับคดีของนายราชศักดิ์ ผู้เสียหายถูกกระชากสร้อยจริง แต่ผู้เสียหายเห็นแก่ตัวที่ชี้ผู้บริสุทธิ์ว่าเป็นผู้กระทำผิด เพื่อให้ได้ทองคืน ต่อมามีการพบผู้กระทำผิดตัวจริง แต่หญิงผู้เสียหายยังไม่ยอมถอนคำพูดยังชี้ว่านายฤทธิรงค์เป็นคนผิดจริง จึงเกิดคดีขึ้นสองกรณี โดยคดีหนึ่งศาลสั่งไม่ฟ้อง ศาลชั้นต้นลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงคนเดียว ยศพ.ต.ท.ลงโทษเพียง 1 ปี 4 เดือน แต่ต่อมารอลงอาญา เพราะตำรวจมีประวัติที่ไม่เคยกระทำผิดในวิชาชีพ ตนจะสู้ต่อขออุทธรณ์ต่อไป
"ผมได้ไปร้องเรียนมาแล้วทุกกระทรวง ถึง 50 หน่วยงานรัฐในรอบ 7 ปี ไม่สามารถช่วยได้ ก็แค่ปาหี่ และทุกที่บอกเหมือนกันว่ากำลังดำเนินการพยายามให้คิดว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ไม่มีใครอยากฟัง รอว่าถ้ามีกระทรวงเวรกรรมผมก็จะไปร้องอีก ขณะนี้ครอบครัวชื่นจิตรหมดเนื้อหมดตัวและเสียสุขภาพจิตกับตำรวจอย่างมาก ผมไปร้องที่อำเภอบ้านสร้างก็หาว่าผมติดยาเสพติด ลูกชายสะสมความเครียดมากใส่ชุดนักเรียนไปร้องเรียนกลายเป็นโรคหวาดระแวงซึมเศร้าจากการถูกซ้อมทรมาน ที่เรียกว่า PDSD จึงขอใบรับรองจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ว่ ไปร้องต่อศาลซึ่งศาลก็วินิจฉัยตามนั้น วันตัดสินของศาลชั้นต้น ศาลได้พยายามไกล่เกลี่ยและให้อภัยด้วยการรับเงินไปเสียแต่โจทย์ไม่ยินดีที่จะรับเงิน และจะเรียกร้องค่าเสียหายต่อไป "นายสมศักดิ์