เปิดเหตุผลกษ. ของบ 461 ล้าน จูงใจเกษตรกร 33 จว.ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา
กระทรวงเกษตรฯ ขออนุมัติครม.ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐ สนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ใช้งบ 461 ล้านบาท สำนักงบฯ แนะขอให้เข้มงวด-กำหนดมาตรการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนภาคเหนือ-อีสาน ขณะที่ก.คลังหวั่นซ้ำซ้อนกับโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตอื่นๆ ที่มีอยู่ปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการดำเนินงานโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลักฤดูทำนา ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ
สำหรับโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนานั้น กระทรวงเกษตรฯ ระบุ เนื่องจากการผลิตและตลาดข้าวของไทยในปัจจุบันมีปัญหาสำคัญในเรื่องปริมาณผลผลิตข้าวเกินความต้องการ ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตและราคาตกต่ำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการและมาตรการต่างๆ ภายใต้การปรับแผนการผลิตที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยส่งเสริมการปลูกปอเทืองเพื่อเพิ่มคุณภาพดิน การส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายฤดูนาปรัง เพื่อเป็นการลดรอบการปลูกข้าว สร้างรายได้จากการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าว
ประกอบการผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ผลิตในประเทศมีปริมาณไม่เพียงพอความต้องการของตลาด และการปรับแผนการผลิตในภาพรวมของการปลูกข้าว เพื่อลดปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้จัดทำโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา โดยมีหลักการที่สำคัญคือ ลดปริมาณผลผลิตข้าวเกินความต้องการ เพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด เชื่อมโยงแหล่งรับซื้อผลิต สร้างสมดุลอุปสงค์และอุปทาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน
สำหรับเป้าหมายพื้นที่ดำเนินการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา จำนวน 2 ล้านไร่ ใน 33 จังหวัด (พื้นที่ปลูกข้าวในเขตชลประทาน และนอกชลประทานที่มีความเหมาะสม ตาม Zoning by Agri-map ของกรมพัฒนาที่ดิน ประกอบด้วย
1.ภาคเหนือ จำนวน 15 จังหวัด 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด 3. ภาคกลาง 2 จังหวัด 4.ภาคตะวันออก 1 จังหวัด โดยพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการต้องอยู่ในเขตชลประทาน หรือพื้นที่นอกชลประทานที่มีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำและอยู่ในพื้นที่ที่โครงการกำหนด ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2561-กันยายน 2562
ส่วนค่าใช้จ่าย ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 จากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวนกว่า 461 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ประกอบด้วย
งบดำเนินการ จำนวนกว่า 446 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ค่าบริหารจัดการโครงการฯ การประชาสัมพันธ์ จัดเวทีชุมชน รับสมัครเกษตรกร อบรมเกษตรกร ติดตาม ประเมินผล และสรุปบทเรียน กว่า 129 ล้านบาท
- ค่าชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน จำนวนกว่า 79 ล้านบาท
- ค่าชดเชยดอกเบี้ยเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่สถาบันเกษตรกรในการรวบรวมและรับซื้อผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 108 ล้านบาท
- ค่าเบี้ยประกันภัยไร่ละ 65 บาท จำนวน 2 ล้านไร่ จำนวน 130 ล้านบาท
และงบลงทุน จำนวน 15 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบและจัดทำแอพพลิเคชั่น
ทั้งนี้ มาตรการจูงใจให้เกษตรกรในการลดรอบการปลูกข้าวโพดนั้น ในส่วนของการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ จะมีการประสานเอกชนเพื่อกำหนดราคารับซื้อตามนโยบายรัฐ (รับซื้อทุกเม็ด) ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8 บาท (ตามมาตรฐานคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เบอร์ 2 ความชื้นไม่เกิน 14.5%)
อย่างไรก็ตาม สำนักงบประมาณ ได้ให้ความเห็นประกอบเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ควรมีการติดตามสถานการณ์วัตถุดิบอาหารสัตว์และควบคุมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้สมดุลกับความต้องการใช้ในประเทศ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคา รวมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันการลักลอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเข้มงวดและทันสถานการณ์ และกระทรวงเกษตรฯ ต้องส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉพาะพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์อย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ภาคเอกชนรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกที่ปลูกในพื้นที่ถูกกฎหมายเท่านั้น
ขณะที่กระทรวงการคลัง ได้เสนอความเห็น กระทรวงเกษตรฯ ควรมีการพิจารณาคุณสมบัติของเกษตรกรและสถาบันเกษตรที่เข้าร่วมโครงการไม่ให้ซ้ำซ้อนกับโครงการปรับเปลี่ยนการผลิตอื่นๆ ที่มีอยู่ปัจจุบัน
ขอบคุณภาพจาก:https://gnews.apps.go.th/news?news=17923