ส่องความพร้อมประเทศ สู่สังคมดิจิทัล
...ผลการศึกษาชี้ว่าความพร้อมของประเทศมีความสัมพันธ์กับรายได้ต่อหัวของประชากร(GDP per capita) ของประเทศนั้น ๆ และพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับความพร้อมมิได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความต้องการพื้นฐาน ความสะดวกในการทำธุรกิจ สภาวะแวดล้อมสำหรับธุรกิจเกิดใหม่และการลงทุนภาคธุรกิจและภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นผู้วิจัยเน้นว่า คือความจำเป็นของความพร้อมในทุกระยะ...
เรากำลังอยู่บนคลื่นของการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญที่จะทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของประชากรโลกต้องปรับเปลี่ยนไปจากอดีตที่คุ้นเคยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ จากพลังของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เรียกกันว่า “การปฏิวัติดิจิทัล” (Digital Revolution)
โลกนี้เคยเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีมาแล้วครั้งก่อนหน้าในยุคที่เรียกว่า“การปฏิวัติอุตสาหกรรม” และหนึ่งในเครื่องจักรที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจยุคนั้นคือ “เครื่องจักรไอน้ำ” ที่ เจมส์ วัตต์ นักประดิษฐ์ชาวสกอตแลนด์กับเพื่อนได้พัฒนาและปรับปรุงขึ้นจนมีประสิทธิภาพมากพอที่จะนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวางทั้งในโรงงาน อุตสาหกรรมการผลิต รถไฟ และการขนส่งสำหรับมวลชน ฯลฯ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการใช้เครื่องจักรครั้งใหญ่ที่สุด ร่วมกับการพัฒนาด้านอื่น ๆ ควบคู่กัน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเครื่องจักรไอน้ำเมื่อกว่า 240 ปีที่แล้วเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชีวิตของผู้คนในโลกก้าวเข้าสู่สังคมที่เรียกว่า “สังคมสมัยใหม่” และอาจเรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกของโลกที่มนุษย์ได้เห็นความก้าวหน้าที่ถูกขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีโดยการใช้เครื่องจักรแทนพลังกล้ามเนื้อของมนุษย์เป็นผลสำเร็จ ส่งผลมาถึงการพัฒนาเทคโนโลยีในยุคต่อ ๆ มา
เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลถูกสร้างขึ้นและได้รับการพัฒนาจนนำมาสู่การใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้กับโลกนี้อีกครั้ง แม้ว่าระยะแรกเทคโนโลยีดิจิทัลจะมีข้อจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง จึงดูเหมือนว่าเทคโนโลยีดิจิทัลยังไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับชาวโลกมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปข้อจำกัดของเทคโนโลยีดิจิทัลในอดีตได้รับแรงเสริมจากวิวัฒนาการของ คอมพิวเตอร์ (ฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์) เทคโนโลยีโครงข่าย ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และอัลกอริทึม(Algorithm) จนทำให้เครื่องจักรดิจิทัลที่เกิดขึ้นมากว่า 60 ปีนั้นเริ่มทำงานและทะยานต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
นอกจากจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลแล้ว มนุษย์แต่ละคนในโลกนี้สามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลกันอย่างถ้วนหน้า เราจึงเริ่มเห็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งเมื่อโลกเข้าสู่ยุคของเครื่องจักรที่เลียนแบบความฉลาดของมนุษย์ได้เช่นเดียวกับเครื่องจักรที่ใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์และแรงงานสัตว์เมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน
ถ้านับว่าเครื่องจักรในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ทดแทนพลังกล้ามเนื้อของมนุษย์ คือ “เครื่องจักรกลยุคแรก” ก็อาจเปรียบเทียบได้ว่าเครื่องจักรในยุคดิจิทัลซึ่งสามารถเลียนแบบความคิดของมนุษย์ได้คือ “เครื่องจักรกลยุคที่สอง” ที่มนุษย์จะต้องพึ่งพาอาศัยในชีวิตประจำวันไปอีกนานเท่านาน
การเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญทางเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ทุกประเทศต่างต้องประเมินความพร้อมเพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากผลพวงของการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งด้านบวกและด้านลบเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีสมประโยชน์แก่ประชาชนของตนเองมากที่สุดและส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมน้อยที่สุด นอกจากนี้องค์กรธุรกิจต่างต้องใช้ผลของการประเมินความพร้อมเหล่านี้ในการกำหนดยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของตัวเองอีกด้วย
บริษัท Cisco System ผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านโครงข่าย รายใหญ่ของโลกร่วมกับบริษัทวิจัยทางเทคโนโลยีชื่อ Gartner ได้พัฒนาแบบจำลองเพื่อ กำหนดขอบเขต วัดความพร้อม และค้นหามาตรการที่สำคัญเพื่อสนับสนุนประเทศต่างๆ ให้ก้าวเข้าไปสู่ความพร้อมด้านดิจิทัล และได้เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อเดือน พฤษภาคม 2561
ผู้วิจัยได้ใช้ปัจจัย 7 ประเภทในการประเมินถึงความพร้อมของแต่ละประเทศ ซึ่งอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคารโลก World Economic Forum บริษัท Gartner และองค์การสหประชาชาติ ระหว่างปี 2012 – 2016 ปัจจัยการประเมินความพร้อมดังกล่าวประกอบด้วย
1.ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ได้แก่ จำนวนโทรศัพท์ประจำที่ จำนวนบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ประจำที่ จำนวนอินเทอร์เน็ต Server บริการด้าน Network และการคาดการงบประมาณด้าน IT
2.ปัจจัยด้านการใช้งานของเทคโนโลยี ได้แก่ ส่วนแบ่งการตลาดของอุปกรณ์ Mobile ปริมาณการใช้อินเทอร์เน็ต และ บริการคลาวด์ (Cloud services) ประเภทต่างๆ
3.ปัจจัยด้านทรัพยากรมนุษย์ ได้แก่ คุณภาพการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อัตราการอ่านออกเขียนได้ของผู้ใหญ่ ตัวชี้วัดทางการศึกษา(จำนวนปีของนักเรียนในโรงเรียน) และจำนวนประชากร(อายุ 0-14 ปี)
4.ปัจจัยความต้องการพื้นฐาน ได้แก่ อายุเฉลี่ยของประชากร อัตราการเสียชีวิต (ประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปี) สุขอนามัยและการเข้าถึงแหล่งจ่ายไฟฟ้า
5.ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ ได้แก่ หลักนิติธรรม (Rule of law) ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโครงสร้างโลจิสติกส์ และ ระยะเวลาในการได้รับบริการด้านไฟฟ้า
6.ปัจจัยด้านการลงทุนภาคธุรกิจและภาครัฐ ได้แก่ การลงทุนทางตรงจากต่างชาติ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ความสำเร็จในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของรัฐบาล
7.ปัจจัยด้านธุรกิจเกิดใหม่(Start-up) ได้แก่ ความเข้มแข็งของ สิทธิทางกฎหมาย (Legal right) ระยะเวลาในการเริ่มต้นทำธุรกิจและความพร้อมของงบประมาณสำหรับธุรกิจร่วมลงทุน(Venture capital)
ผู้วิจัยได้นำข้อมูลปัจจัยทั้ง 7 ประเภท มากำหนดคะแนนความพร้อมในการเข้าสู่สังคมดิจิทัล โดยได้ผลคะแนนในการประเมินความพร้อมตั้งแต่ 0 – 25 คะแนน เกณฑ์การคัดเลือกประเทศอยู่บนฐานของจำนวนประชากรของประเทศที่มากกว่า 3 ล้านคนและเป็นประเทศที่ไม่ถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ ทำให้ได้จำนวนประเทศที่ทำการศึกษา 118 ประเทศ จากผลการศึกษาพบว่า ไม่มีประเทศใดได้คะแนนศูนย์คะแนนและไม่มีประเทศใดที่ได้คะแนนเต็ม
๏ ผู้วิจัยได้แบ่งกลุ่มประเทศที่มีความพร้อมออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะต้น (Active) : มีความพร้อมต่ำ ระยะเร่ง (Accelerate) : มีความพร้อมปานกลาง และ ระยะก้าวหน้า (Amplify) : มีความพร้อมสูง
๏ ในจำนวนประเทศทั้งหมด 118 ประเทศ มีประเทศที่มีความพร้อมอยู่ใน ระยะต้น 40 ประเทศ ระยะเร่ง 52 ประเทศ และระยะก้าวหน้า 26 ประเทศ
๏ ประเทศทั้งหมดได้รับคะแนนการประเมินระหว่าง 5.89 – 20.1 คะแนน โดยมีคะแนนเฉลี่ยรวมทุกประเทศเท่ากับ 11.96 คะแนน
๏ ประเทศที่มีความพร้อม ระยะต้น มีคะแนนเฉลี่ย 7.91 ระยะเร่ง มีคะแนนเฉลี่ย 12.49 และระยะก้าวหน้ามีคะแนนเฉลี่ย 16.83
๏ ประเทศที่มีความพร้อม ระยะก้าวหน้า ที่ได้คะแนนสูงสุด 12 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (20.10 คะแนน) สวิสเซอร์แลนด์ (18.42) สิงคโปร์ (18.30) เนเธอร์แลนด์ (17.89) สหราชอาณาจักร (17.84) เยอรมัน (17.68) สวีเดน (17.58) เกาหลีใต้ (17.50) นอร์เวย์ (17.38) ออสเตรเลีย (17.34) ญี่ปุ่น (17.33) เดนมาร์ค( 17.27)
๏ ประเทศที่มีความพร้อม ระยะเร่ง ที่ได้คะแนนสูงสุด 12 อันดับแรก ได้แก่ สโลวัค (14.29) ฮังการี (14.29) อิตาลี (14.11) โครเอเชีย (14.09) อุรุกวัย (14.07) กรีซ (14.06) ชิลี (13.92) คอสตา ริกา (13.89) โปแลนด์ (13.89) จีน (13.64) ปานามา (13.41) จอร์เจีย (13.39)
๏ ประเทศที่มีความพร้อม ระยะต้น ที่ได้คะแนนสูงสุด 12 อันดับแรก ได้แก่ แอลจีเรีย (10.18) นิคารากัว (10.03) กานา (9.97) โบลิเวีย (9.88) เคนยา (9.82) เนปาล (9.61) แซมเบีย (9.61) เซเนกัล (9.55) ลาว(9.48) ทาจิกิสถาน (8.61) กัมพูชา (8.60 ) ปากีสถาน (8.58)
๏ ประเทศที่มีความพร้อมน้อยที่สุด ได้แก่ สาธารณรัฐ อัฟริกากลาง ได้รับคะแนนประเมิน 5.89 คะแนน ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในจำนวน 118 ประเทศ
๏ ประเทศในกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ มีความพร้อมเรียงตามลำดับคะแนน ได้แก่ สิงคโปร์ ( 18.30 : ระยะก้าวหน้า) มาเลเซีย (15.19 : ระยะก้าวหน้า) เวียดนาม (12.56 : ระยะเร่ง) ไทย (12.53 : ระยะเร่ง) ฟิลิปปินส์ (12.15 : ระยะเร่ง ) อินโดนีเซีย (11.73 : ระยะเร่ง) ลาว (9.48 : ระยะต้น) กัมพูชา (8.60: ระยะต้น) เมียนมา (8.41 : ระยะต้น ) ประเทศบรูไน ไม่ได้ถูกนำมาประเมินผลเนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขจำนวนประชากร
๏ ในภาพรวมของการประเมินพบว่าประเทศที่อยู่ในกลุ่มมีความพร้อมที่สุดของโลกในการเข้าสู่สังคมดิจิทัลซึ่งอยู่ใน ระยะก้าวหน้า ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือ เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมันสวิสเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ส่วนประเทศจากเอเชียที่มีความพร้อมระดับก้าวหน้าได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงออสเตรเลีย เป็นต้น
๏ ประเทศที่มีความพร้อมอยู่ใน ระยะเร่ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดนั้นส่วนใหญ่อยู่ในลาตินอเมริกา เช่น อุรุกวัย บราซิล ชิลี เม็กซิโก อาเจนตินา และประเทศในยุโรปตะวันออก เช่น สโลวัค โปแลนด์ อังการี ฯลฯ รวมทั้งประเทศในเอเชีย เช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฯลฯ
๏ ประเทศที่มีความพร้อมอยู่ใน ระยะต้น ได้แก่ประเทศในกลุ่มทวีปอัฟริกา เช่น ไลบีเรีย ไนจีเรีย ชาด และประเทศในเอเชีย เช่น ลาว เมียนมา กัมพูชา เป็นต้น
๏ ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีประเทศที่อยู่ใน ระยะก้าวหน้า 2 ประเทศ คือ สิงคโปร์และมาเลเซีย ระยะเร่ง 4 ประเทศคือ เวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ ระยะต้น 3 ประเทศ คือ ลาว เมียนมา และกัมพูชา โดยมี สิงคโปร์ มีความพร้อมนำเป็นอันดับหนึ่ง มาเลเซีย อันดับสอง ตามมาด้วยเวียดนาม สำหรับประเทศไทยนั้นมีความพร้อมอยู่ในอันดับที่สี่ด้วยคะแนน 12.53 ซึ่งเท่ากับได้คะแนน 50 เปอร์เซ็นต์จากคะแนนเต็มของแบบประเมินและมีคะแนนตามหลังเวียดนามอยู่เล็กน้อย ในส่วนของคะแนนเฉลี่ยประเทศไทยมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มระยะเร่งและสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยรวม
๏ ผลการศึกษาชี้ว่าความพร้อมของประเทศมีความสัมพันธ์กับรายได้ต่อหัวของประชากร(GDP per capita) ของประเทศนั้นๆและพบว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับความพร้อมมิได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความต้องการพื้นฐาน ความสะดวกในการทำธุรกิจ สภาวะแวดล้อมสำหรับธุรกิจเกิดใหม่และการลงทุนภาคธุรกิจและภาครัฐ โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นผู้วิจัยเน้นว่า คือความจำเป็นของความพร้อมในทุกระยะ
ผลการประเมินความพร้อมของประเทศต่างๆที่นำเสนอในบทความนี้เป็นผลงานการศึกษาของบริษัทในภาคธุรกิจซึ่งสามารถชี้ถึงแนวโน้มความพร้อมของแต่ละประเทศได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามเนื่องจากรายงานการศึกษาเรื่องความพร้อมของประเทศสู่ยุคดิจิทัลมีผู้นำเสนอและเผยแพร่ไว้จำนวนมากและมีรายละเอียดแตกต่างกัน ผู้ที่ต้องการผลการประเมินที่มีความเที่ยงตรงมากๆหรือต้องการมุมมองด้านอื่นและต้องการความครบถ้วนของจำนวนประเทศทั่วโลก อาจต้องมีการเปรียบเทียบผลการศึกษานี้กับผลการศึกษาจากแหล่งอื่นๆด้วย เพื่อความสมบูรณ์ของการประเมิน
อ้างอิง
1.The Second Machine Age, Eric Brynjolfsson,Andrew McAfee
2.https://www.cisco.com/c/dam/assets/csr/pdf/Country-Digital-Readiness-White-Paper-US.pdf