“ดร.นิพนธ์” จี้รัฐดันงานวิจัยสร้างเกษตรไทยเข้มแข็ง รองรับเออีซี-อุณภูมิแปรปรวน
ทีดีอาร์ไอ เตือนหากไม่เตรียมรับมือการเปลี่ยนแปลงอากาศทำภาคเกษตร-ข้าวไทยวิฤกติ ดันรัฐสร้างระบบวิจัยเข้มแข็ง เป็นฐานต่อสู้ในเวทีส่งออก-เออีซี ไม่ใช่หว่านเงินประชานิยมชั่วคราวอย่างจำนำข้าว
.
วันที่ 1 มิ.ย.55 กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดประชุมเวทีข้าวไทยปี 55 “นโยบายข้าวไทยภายใต้ภาวะกดดัน : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1850 -2000 อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 0.74 องศาเซลเซียส ซึ่งจะมีผลภาคเกษตรทำให้กระบวนการผสมเกสรและการเติบโตของลำต้น ใบ ราก และการผสมพันธุ์แปรปรวน เช่น ออกดอกเร็วเกินไป การสั่งสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ในบรรยากาศยังกระทบต่อการสังเคราะห์แสง สภาวะดังกล่าวยังทำให้น้ำทะเลเค็มขึ้น โลกจึงประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบสุดโต่งได้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะหนาวน้อยลง มีฝนเฉลี่ยต่อปีมาก แต่จะกระจุกตัวในฤดูฝนและมีพายุมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณการเติบโตของข้าวไทยได้ โดยหากอุณหภูมิสูงเกินเมื่อดอกข้าวบานจะทำให้การผสมเกสรล้มเหลว ส่วนอุณหภูมิสูงเกินในระหว่างฤดูปลูกระบบสังเคราะห์แสงอาจรวน และจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของเมล็ดได้
“ปี 54 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมก่อความเสียหาย 1.43 ล้านๆ บาท เกษตรกรเสียหาย 4,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว แม้จะเป็นวิกฤต แต่ก็เป็นโอกาสที่ทุกฝ่ายจะหันมาใส่ใจปัญหาจริงจัง”
อย่างไรก็ตามข้าวไทยยังคงได้เปรียบทางการตลาดในเวทีเออีซี จากปัจจัยรอบข้าง เช่น อินเดียห้ามส่งออกข้าว Non-Basmati จนถึง ก.ย.55 ทำให้ไทยยึดครองตลาดข้าวนึ่ง และไทยเลิกเก็บภาษีส่งออกข้าวตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ที่สำคัญผู้ส่งออกและโรงสีในประเทศปรับปรุงคุณภาพการผลิตตลอดเวลา แต่อนาคตควรจับตามองอินเดียเพราะขณะนี้เริ่มกลับมาส่งออกข้าว และในไม่ช้าจะได้เปรียบต้นทุนข้าวนึ่ง
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยควรส่งเสริมโครงการวิจัยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันไทยมีงบวิจัยน้อยกว่าคู่แข่งทางการค้าข้าวอย่างเวียดนามที่ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยจากองค์กรต่างประเทศ เพราะรัฐบาลไทยไม่มีความจริงใจในการขับเคลื่อนนโยบายการปรับตัวของเกษตรกร มีแต่กองทุนปรับโครงสร้างการผลิตจากผลกระทบเออีซีเท่านั้น ทั้งนี้รัฐบาลกลับสนใจแต่การแจกเงินระยะสั้นอย่างโครงการรับจำนำข้าว โดยละเลยการสร้างขีดความสามารถการแข่งขันและปรับตัวของชาวนาไทยในระยะยาว
ดร.นิพนธ์ เสนอว่ารัฐบาลต้องกล้าสร้างระบบวิจัยที่เข้มแข็ง เน้นการลงทุนวิจัยในปัญหาสำคัญของภาคเกษตร เช่น ความทนทานต่อโลกร้อนในข้าวไทยพันธุ์หลัก ผลกระทบต่อคุณภาพข้าว การปรับตัวต่อพืชสำคัญในอุณหภูมิ ซึ่งต้องร่วมวิจัยกับเกษตรกรท้องถิ่น มิใช่มีแต่ชื่อของเกษตรกรลงทะเบียนเท่านั้น ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันต้องมีการปรับปรุงคุณภาพสินค้าและมาตรฐานแรงงาน ที่สำคัญไทยต้องเดินหน้าการส่งออกเทคโนโลยีเกษตร
“ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ชุมชน และสื่อมวลชนต้องร่วมมือกับภาคการเมืองส่งเสริมพัฒนางานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรกรรมอย่างรอบด้าน รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำแล้งและน้ำล้น” ดร.นิพนธ์กล่าว.