โชว์หนังสือ ก.คลัง! เปิด 3 แนวทางแก้ปัญหาหนี้แสนล้าน ขสมก.ชง ครม. รับผิดชอบ
“…การกู้เงินเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยของ ขสมก. ไม่สอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 49 ดังนั้น การกู้เพื่อชำระดอกเบี้ยของ ขสมก. จึงเป็นการกู้เงินที่ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการเงิน สะท้อนถึงการขาดความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งก่อให้เกิดการกระจุกตัวของการชำระหนี้ในอนาคต และบั่นทอนเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานผู้กู้และผู้ค้ำประกัน…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานแล้วว่า ช่วงปลายเดือน ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง รายงานแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2562 แก่คณะรัฐมนตรี
ตอนหนึ่งระบุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้คงค้างขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยพบว่า ขสมก. มีหนี้คงค้างรวม 1 แสนล้านบาท ยาวนานเป็นเวลากว่า 42 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2519 และในปีงบประมาณ 2562 ขสมก. ชงเรื่องขอวงเงินกู้เพื่อชำระดอกเบี้ยเป็นเงินประมาณ 3.6 พันล้านบาท แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ เนื่องจากเห็นว่า ขาดเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือนั้น (อ่านประกอบ : ติดหนี้ 42 ปีคงค้าง 1 แสนล.! ขสมก.ชงขอกู้เงิน3.6พันล.โปะดอกเบี้ย-ก.คลังปฏิเสธ)
ประเด็นคือแล้ว ขสมก. จะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร ?
เมื่อกางหนังสือของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ที่เรียนต่อคณะรัฐมนตรี สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
ขสมก. มีหนี้คงค้างที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน จำนวน 101,421 ล้านบาท เป็นหนี้คงค้าง ณ เดือน มิ.ย. 2561 โดยเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้เพื่อชำระดอกเบี้ยสะสม เพื่อมาชำระดอกเบี้ยเนื่องจากปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้งตาม พ.ร.ก.จัดตั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ พ.ศ.2519 (ประมาณ 42 ปีที่แล้ว)
แม้ว่าที่ผ่านมา ขสมก. จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาลในรูปแบบเงินอุดหนุนบริการสาธารณะอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ขสมก. อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร หากสามารถดำเนินการได้สำเร็จตามแผนการ จะทำให้ ขสมก. มีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถบริหารต้นทุนการให้บริการได้โดยไม่สร้างภาระหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดีสำหรับภาระหนี้คงค้างของ ขสมก. จำนวน 101,421 ล้านบาท ซึ่ง ขสมก. ไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถรับภาระหนี้ดังกล่าวเองได้
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรพิจารณาแนวทางการรับภาระหนี้ดังกล่าวให้แก่ ขสมก. โดยรัฐบาลควรจะดำเนินการภายใต้เงื่อนไขที่ ขสมก. สามารถดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรได้สำเร็จ โดยมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพื่อป้องกันไม่ให้ ขสมก. สร้างภาระหนี้เพิ่มเติมอีกในอนาคต ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้สะสมของ ขสมก. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเบ็ดเสร็จในคราวเดียว อย่างไรก็ดีเพื่อแก้ไขปัญหาการก่อหนี้สะสมจากการกู้เงินมาชำระดอกเบี้ยของ ขสมก. คณะกรรมการฯเห็นควรที่รัฐบาลจะเข้ารับภาระการชำระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริงไปพลางก่อน
ส่วนกรณีงบประมาณปี 2562 ที่ ขสมก. บรรจุวงเงินกู้เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยในแผนประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงิน 3,641 ล้านบาท เนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯได้พิจารณาเงื่อนไขในการกู้เงินตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2561 แล้วเห็นว่า การกู้เงินเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยของ ขสมก. ไม่สอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลังตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 49 ดังนั้น การกู้เพื่อชำระดอกเบี้ยของ ขสมก. จึงเป็นการกู้เงินที่ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการเงิน สะท้อนถึงการขาดความสามารถในการชำระหนี้ อีกทั้งก่อให้เกิดการกระจุกตัวของการชำระหนี้ในอนาคต และบั่นทอนเสถียรภาพและความยั่งยืนทางการเงินการคลัง ตลอดจนความน่าเชื่อถือของหน่วยงานผู้กู้และผู้ค้ำประกัน
ประกอบกับมาตรา 20 (3) กำหนดให้มีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ ซึ่งเป็นหนี้สาธารณะที่กระทรวงการคลัง ค้ำประกันทั้งต้นเงินกู้ และดอกเบี้ยอย่างพอเพียง โดยประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ข้อ (3) ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินของรัฐบาล และหน่วยงานของรัฐซึ่งรัฐบาลรับภาระ ต้องตั้งตามภาระที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีงบประมาณนั้น
ดังนั้นจึงเห็นควรให้กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้รัฐบาลรับภาระหนี้ของ ขสมก. เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจริง และให้ ขสมก. ขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยต่อไป
คณะกรรมการฯจึงเห็นควรไม่บรรจุวงเงินกู้ชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ปี 2562 ของ ขสมก. วงเงิน 3,641 ล้านบาท ในแผนประจำปีงบประมาณ 2562 โดยให้กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. ดำเนินการ ดังนี้
1.เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้รัฐบาลรับภาระหนี้ของ ขสมก. เฉพาะในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจาก ขสมก. เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะ รัฐบาลควรต้องชดเชยผลขาดทุนให้แก่รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสาธารณะในรูปของเงินงบประมาณ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ฎ.จัดตั้ง ขสมก. ประกอบกับหนี้เงินกู้ของ ขสมก. เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ดังนั้น ขสมก. จึงจำเป็นต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ย ป้องกันไม่ให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งกระทบความน่าเชื่อถือของหน่วยงานผู้กู้ และกระทรวงการคลังในฐานะผู้ค้ำประกัน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ มาตรา 20 (3) และประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ เรื่อง กำหนดสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ข้อ (3)
2.กรณีไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 2562 เพื่อชำระดอกเบี้ยจ่าย ให้ ขสมก. พิจารณาใช้แหล่งเงินอื่นของ ขสมก. ชำระค่าดอกเบี้ยไปพลางก่อน และให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. ขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อชดใช้คืนแห่งเงินอื่นดังกล่าวในโอกาสแรก
3.เร่งรัดให้กระทรวงคมนาคม และ ขสมก. จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สะสม และปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม (ดูเอกสารประกอบ)
ท้ายที่สุดคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการตามแนวทางนี้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป !