ที่แท้‘คนใน’ร้อง- 2 คนขับให้การมัด! คดีจำคุก 5 ปี ผอ.สถานพินิจฯ เอารถหลวงใช้ส่วนตัว
เปิดคำพิพากษาฉบับเต็ม คดี ผอ.สถานพินิจฯ จ.เพชรบูรณ์ เอารถยนต์หลวง 3 คัน หมุนเวียน ใช้ส่วนตัวศาลอาญาคดีทุจริตฯสั่งจำคุก 5 ปี ที่แท้ถูก‘คนใน’ สนง.ร้องเรียน ขณะที่ 3 จนท.บอกเห็นประจำ 2 คนขับให้การ รู้ว่าผิด ยอมทำเพราะเป็นคำสั่ง
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 ก.ย.2561 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี นางนุสรา แสนนาม ผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตกรณีเอารถยนต์ส่วนกลางไปใช้ภารกิจส่วนตัว (คดีหมายเลขแดงที่ อท.33/2561) ตามที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานไปแล้ว (อ่านประกอบ: ศาลอาญาคดีทุจริตฯ จำคุก 5 ปี ผอ.สถานพินิจฯ เพชรบูรณ์ เอารถหลวงใช้ส่วนตัว)
สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำพิพากษามารายงานโดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
@เปิดคำฟ้องละเอียดยิบ เหตุเกิดปี 51
โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 84 (8) และตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกำหนดตำแหน่งผู้อำนวยการระดับต้น หรือ เทียบเท่าขึ้นไป ในข้อ 3 และ ข้อ 4 (ค) และเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 53 โดยจำเลยมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งปวงตลอดจนการปกครองบังคับบัญชาพนักงานของสถานพินิจนั้น และมีอํานาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานคุมประพฤติและพนักงานสังคมสงเคราะห์ รวมทั้งอํานาจหน้าที่อื่น ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่นตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 37 รวมถึงมีหน้าที่ในการจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งอยู่ในความดูแล
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2551 จําเลยมารับตําแหน่งเป็นผู้อํานวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ และพักอาศัยอยู่ที่โรงแรมเอส อาร์ สาขา 4 จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ห่างจากสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด จังหวัดเพชรบูรณ์ ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยระหว่างที่จําเลยมารับตําแหน่งดังกล่าว จําเลยให้พนักงานขับรถของสํานักงานสถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ ขับรถส่วนกลางของสํานักงาน ไปรับจากที่พักมายังที่ทํางานในตอนเช้า และขับรถจากที่ทํางานไปส่งกลับที่พักในตอนเย็น หลังเลิกงานในช่วงวันจันทร์ถึงวันศุกร์อยู่เป็นประจํา
@ใช้ 2 คนขับหมุนเวียนรับส่งที่พัก-ที่ทำงาน
จนกระทั่งต่อมาในปี 2554 ได้มีนาย….(ปิดบังชื่อ) และ นาย…(ปิดบังชื่อ) มาทําหน้าที่พนักงานขับรถของสํานักงานสถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยทั้งสองคนดังกล่าวได้ใช้รถยนต์ส่วนกลางของสํานักงานไปทําการ รับ-ส่ง จําเลยในช่วงวันทํางานแทบจะทุกวัน โดยในตอนเช้าของทุกวัน ส่วนใหญ่เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ต้องไปรับจําเลยจากบ้านพักซึ่งเป็นอพาร์ทเม้นอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้า เอส อาร์ สาขา 4 ย่านวัดเพชรวราราม ไปส่งที่สถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นหลังเลิกงานแล้วส่วนใหญ่ในเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ต้องขับรถส่วนกลางของสำนักงานเพื่อไปส่งจําเลยยังบ้านพักดังกล่าว ทั้งนี้นาย… และนาย…. ได้หมุนเวียนเปลี่ยนกันทําหน้าที่คนละ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ บางวันก็ได้รับคําสั่งจากจําเลยให้ขับรถส่วนกลางของสํานักงาน เพื่อพาจําเลยไปทําธุระส่วนตัว
การกระทําดังกล่าวของจําเลยซึ่งเป็นเจ้าหนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ของสถานพินิจณจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นการใช้อํานาจโดยตําแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางราชการหรือผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
จนกระทั่งปี 2555 จําเลยได้รับคําสั่งย้ายไปดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดอุทัยธานี เหตุเกิดที่ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดเพชรบูรณ์
@ ปี 54 คนในร้อง ป.ป.ท.ส่งไม้ต่อ ป.ป.ช.-พนักงานสอบสวน
ต่อมาวันที่ 29 มิ.ย. 2554 ได้มีผู้อ้างชื่อนายพิชัย พรมพล หัวหน้างานบริหารทั่วไป สถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ มีหนังสือกล่าวโทษจําเลยถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท) ซึ่งต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ให้ส่งหนังสือกล่าวหาร้องเรียนจําเลยในกรณีดังกล่าวมายังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อมา เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งสํานวนให้พนักงานสอบสวนดําเนินการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. 2560 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จําเลยและทําการสอบสวนแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157
จําเลยให้การปฏิเสธ
@ ป.ป.ช.ส่ง ตร.ทำคดี ก.ย.59 -แจ้งข้อหา มิ.ย.60
พิเคราะห์รายงานและสํานวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนที่โจทก์อ้างส่ง ที่จําเลยอ้างส่งประกอบการพิจารณาสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมของศาลแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ สังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2554 มีผู้อ้างชื่อนายพิชัย พรมพล หัวหน้างานบริหารทั่วไปสถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ มีหนังสือกล่าวโทษจําเลยถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ส่งหนังสือกล่าวหาร้องเรียนจําเลยทั้งกล่าวมายังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อมาวันที่ 7 ก.ย. 2559 เลขาธิการคณะกรรม ป.ป.ช. ส่งสํานวนให้พนักงานสอบสวนดําเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ. ศ. 2542 ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. 2560 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จําเลย ชั้นสอบสวนจําเลยให้การปฏิเสธ
@สั่ง 2 คนขับ รับตอนเช้า 8 โมง-เลิกงานเย็น 17 น.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจําเลยกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
นาย….และนาย….เบิกความประกอบถ้อยคําที่ตนให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ได้ความโดยสรุปว่า เมื่อปี 2554 พยานทั้งสองเข้าทํางานเป็นพนักงานขับรถของสถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ จําเลยซึ่งขณะนั้นดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการสถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ สั่งให้พยานทั้งสองขับรถยนต์ส่วนกลางของสถานพินิจฯ ซึ่งมีอยู่ 3 คัน แล้วแต่ว่าคันใดจะว่าง ไปรับส่งจําเลยระหว่างที่พักของจําเลยกับสถานพินิจฯ เป็นประจําทุกวัน โดยในตอนเช้าของทุกวัน ส่วนใหญ่เวลาประมาณ 8 นาฬิกา ต้องไปรับจําเลยจากที่พักซึ่งเป็นอพาร์ทเม้นท์อยู่บริเวณห้างสรรพสินค้า เอส อาร์ สาขา 4 ย่านวัดเพชรวราราม ไปส่งที่สถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ จากนั้นหลังเลิกงานแล้วส่วนใหญ่ในเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ต้องขับรถยนต์ส่วนกลางเพื่อไปส่งจําเลยยังบ้านพักดังกล่าว โดยพยานทั้งสองได้หมุนเวียนเปลี่ยนกันทําหน้าที่คนละ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์บางวันก็ได้รับคําสั่งจากจําเลยให้ขับรถยนต์ส่วนกลางเพื่อพาจําเลยไปทําธุระส่วนตัว โดยก่อนหน้าที่พยานทั้งสองจะเข้ามาทําหน้าที่พนักงานขับรถ ได้รับคําแนะนําจากพนักงานขับรถคนเดิมถึงวิธีการขับรถรับส่งจําเลยให้ทราบเพื่อที่พยานทั้งสองจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องและถูกใจจําเลย การนํารถยนต์ส่วนกลางไปรับส่งจําเลยยังกล่าวตนทราบว่าเป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายของทางราชการแต่ตนต้องทําเพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลย
@ศาลวินิจฉัยคำให้การ 2 คนขับ ไม่ใช่เรื่องปั้นแต่ง
เห็นว่า นาย….กับนาย….เป็นประจักษ์พยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่ได้รับคําสั่งจากจําเลยให้นํารถยนต์ส่วนกลางไปรับส่งจําเลยมีรายละเอียดสอดคล้องต้องกัน การนํารถยนต์ส่วนกลางโปใช้รับส่งสําเลยดังกล่าวเป็นเรื่องผิดระเบียบและกฎหมายซึ่งอาจทําให้พยานทั้งสองต้องได้รับโทษไปด้วย จึงเป็นการผิดวิสัยที่พยานทั้งสองจะปั้นแต่งเรื่องซึ่งอาจมีผลร้ายต่อตนขึ้นมาเพื่อปรักปรําจําเลยโดยไม่มีมูลความจริง
ประกอบกับพยานทั้งสองเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจําเลยโดยไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจําเลยมาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะกลั่นแกล้งให้ร้ายจําเลย เชื่อว่าพยานทั้งสองเบิกความไปตามความจริง
@ 2 คนขับรถ ให้การสอดคล้อง พยานคนใน 3 ปาก
นอกจากนี้ยังมีนาย…(ปิดบังชื่อ) พนักงานคุมประพฤติชำนาญการสถานพินิจฯ เบิกความประกอบถ้อยคําที่เคยให้ไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. นาย….พนักงานคุมประพฤติชํานาญการ สถานพินิจฯให้ถ้อยคําไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. และนาย…นักจัดการงานทั่วไปชํานาญการ สถานพินิจฯ ให้ถ้อยคําไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ป.ป.ช. สอดคล้องต้องกันได้ความโดยสรุปว่า เมื่อประมาณปี 2551 ถึงปี 2555 ช่วงที่จำเลยดำรงตําแหน่งผู้อํานวยการสถานพินิจจังหวัดเพชรบูรณ์ พยานทั้งสามพบเห็นว่าจําเลยสั่งให้พนักงานขับรถยนต์ส่วนกลางใช้รถยนต์ส่วนกลาง 3 คัน แล้วแต่คนใดจะว่างไปรับส่งจําเลยแทบทุกวันโดยจะหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันทําหน้าที่คนละ 1 สัปดาห์ สอดคล้องกับที่นาย….และนาย…..เบิกความอันเป็นการสนับสนุนให้รับฟังได้ว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง พยานหลักฐานที่ใช้จากการไต่สวนพยานโจทก์มีน้ำหนักให้รับฟัง
@อ้างในศาล ติดรถมอเตอ์ไซค์-ลูกน้อง 4 คน กลับ
ส่วนที่จําเลยอ้างว่า จําเลยไม่เคยสั่งให้พนักงานขับรถยนต์ของสถานพินิจฯ นำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้รับส่งจําเลยระหว่างที่พักกับที่ทํางานหรือใช้ให้ขับรถไปส่งทําธุระในวันหยุดราชการ โดยหลังจากที่จําเลยย้ายมารับราชการเป็นผู้อํานวยการสถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ จําเลยอาศัยซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของนางสาว….หรือ…(ปิดบังชื่อ) ซึ่งทํางานอยู่ที่เดียวกัน ไปและกลับระหว่างที่พัวกับที่ทํางาน นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ในที่ทํางานเดียวกันกับจําเลย คือ นาง….นางสาว…. และนาย….(ปิดบังชื่อ) ช่วยเหลือรับส่งจําเลยไปและกลับระหว่างที่พักกับที่ทํางานรวมถึงขับรถไปส่งจําเลยในวันหยุดราชการ การให้พนักงานขับรถไปรับส่งจะมีเฉพาะกรณีที่จําเลยต้องไปปฏิบัติราชการนอกพื้นที่และเส้นทางเดินรถจะต้องผ่านที่พักของจําเลยอยู่แล้วเท่านั้น นอกจากนี้วิธีการและระเบียบว่าด้วยการใช้รถส่วนกลางจะต้องใช้เพื่อกิจการอันเป็นส่วนรวมของราชการและเพื่อประโยชน์ของทางราชการเท่านั้น และผู้ที่มีความจําเป็นต้องใช้รถต้องทําเรื่องขออนุญาตใช้รถส่วนกลางต่อหัวหน้างานที่ควบคุมดูแลการใช้รถและพนักงานขับรถจะต้องจดบันทึกการใช้รถทุกครั้งอย่างละเอียด หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจตามบันทึกการใช้รถและเอกสารการขออนุญาตใช้รถ ถ้อยคําของนาย…และนาย….จึงขัดแย้งกับบันทึกการใช้รถดังกล่าว โดยจําเลยมีนาย….พนักงานขับรถยนต์ ในช่วงที่จําเลยย้ายมาดํารงตําแหน่งเป็นผู้อํานวยการสถานพินิจฯ ช่วงปี 2551 ถึงปี 2552 นางสาว….หรือ…. และนาง….มาเบิกความสนับสนุนว่าจําเลยไม่เคยมีพฤติการณ์นำรถยนต์ส่วนกลางของสถานพินิจฯ ไปใช้เป็นการส่วนตัวหรือนําไปทําธุระส่วนตัวนั้น
@ซ้อนท้าย จยย.ลูกน้อง แค่คำแก้ตัว
เห็นว่า ในชั้นสอบสวนจําเลยไม่เคยให้การว่า จําเลยอาศัยซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ของนางสาว….ไปกลับระหว่างที่พักกันที่ทํางานหรือได้ให้เจ้าหน้าที่คนอื่นของสถานพินิจฯ มารับส่งจําเลยแต่อย่างใด ข้ออ้างของจําเลยน่าจะเป็นข้อแก้ตัวที่เพิ่งคิดขึ้นมาในภายหลังจึงมีน้ำหนักน้อย ทั้งการที่จําเลยให้ผู้ใต้บังคับบัญชานํารถส่วนตัวมารับส่งจําเลยเดินทางไปกลับระหว่างที่พักกับที่ทํางานเป็นระยะเวลานานหลายปีทั้งๆ ที่จําเลยสามารถขับรถยนต์ได้โดยมีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ตลอดชีพนับเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล ประกอบกับในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนสอบถามจำเลยว่าจะอ้างพยานบุคคล พยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดๆ ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่าไม่ขออ้างพยานบุคคลพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใด ๆในขณะนี้ หากภายหลังมีพยานหลักฐานจำเลยจะนำมามอบให้พนักงานสอบสวนในทันที การที่จำเลยไม่ระบุอ้างพยานบุคคลตามที่จำเลยนำมาสืบสนับสนุนในคดีนี้ในขณะที่พนักงานสอบสวนสอบถามในทันที ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่จะอ้างได้ จึงทำให้พยานหลักฐานที่จำเลยนำมาเบิกความสนับสนุนถ้อยคำของจำเลยมีน้ำหนักน้อย
สำหรับพยานปากนาย…กับนาย…ซึ่งเคยเป็นพนักงานขับรถของสถานพินิจฯ เบิกความและให้ถ้อยคำทำนองเดียวกันว่า ตนไม่เคยนำรถยนต์ส่วนกลางไปรับส่งจำเลยเป็นการส่วนตัวนั้น เห็นว่า การนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้รับส่งจำเลยเป็นการส่วนตัวเป็นเรื่องผิดระเบียบและกฎหมายซึ่งอาจทำให้ตนต้องรับโทษด้วย พยานทั้งสองอาจให้ถ้อยคำไปในลักษณะดังกล่าวเพื่อปกป้องตนเอง คำเบิกความของนาย…และถ้อยคำของนาย…จึงไม่มีน้ำหนัก หักล้างคำเบิกความของนาย …กับ นาย ….ได้
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าในการใช้รถยนต์ส่วนกลาง พนักงานขับรถจะต้องจดบันทึกการใช้รถอย่างละเอียดหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ แต่คำเบิกความของนาย ..กับนาย…ขัดแย้งกับที่ได้จดทบันทึกไว้ในบันทึกการใช้รถนั้น เห็นว่า บันทึกการใช้รถคันดังกล่าวเป็นหลักฐานแสดงถึงการใช้รถยนต์ส่นกลางที่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย แต่การนำรถยนต์ส่วนกลางไปใช้รับส่งจำเลยอันเป็นการผิดระเบียบและกฎหมายนั้นไม่มีผู้ใดบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานกล่าวร้ายต่อตัวเอง ดังนั้น บันทึกการใช้รถดังกล่าวจึงไม่ใช่หลักฐานที่จำเลยจะนำมาอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นผิดได้ พยานหลักฐานที่ฝ่ายจำเลยอ้างในการไต่สวนจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์
@ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต-สถานพินิจฯเสียหาย
เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานพินิจฯจังหวัดเพชรบูรณ์ มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตให้ใช้รถยนต์ส่วนกลางของสถานพินิจฯ จำเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือรักษารถยนต์ส่วนกลางซึ่งเป็นทรัพย์ของสถานพินิจฯ การที่จำเลยมีคำสั่งให้พนักงานขับรถใช้รถยนต์ส่วนกลางรับส่งจำเลยระหว่างที่พักกับที่ทำงานเป็นประจำ และมีคำสั่งให้พนักงานขับรถนำรถยนต์ส่วนกลางพาจำเลยไปทำธุระส่วนตัวในวันเสาร์อาทิตย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดเพชรบูรณ์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และยังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แต่การกระทำของจำเลยเมื่อเป็นความผิดตามบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 แล้วจึงไม่จำเป็นต้องปรับบทประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
อนึ่ง แม้ภายหลังจำเลยกระทำความผิด ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 151 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 (เดิม) จำคุก 5 ปี
สรุปคดีนี้ โจทก์มีพยานบุคคลเบิกความ เป็นคนขับรถ 2 คนและเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน 3 คน ไม่รวมผู้ร้องเรียน ขณะที่ จำเลยมีพนักงานขับรถ และ เจ้าหน้าที่อีก 2 คนเป็นพยาน