เวทีข้าวไทยห่วงชาวนาหมดทางสู้อาเซียนแนะปรับตัวอย่าลงลมประชานิยม
“ยรรยง”เชื่อข้าวไทยสู้ได้เวทีโลกอย่าหลงตัวให้บูรณาการ หอการค้าฯห่วงญี่ปุ่นฮุบที่ดินตั้งฐานผลิตส่งออกทำเกษตรกรล้ม ปราชญ์สุพรรณฯ-นายกฯไม้ดอกแนะยึดวิถีดั้งเดิมอย่าหลงกลประชานิยมปรับตัวชาวนาอยู่รอด
ท่ามกลางความเป็นห่วงสถานการณ์ข้าวและศักยภาพเกษตรกรไทยต่อการแข่งขันในประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เร็วๆนี้ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเวทีข้าวไทยปี 55นโยบายข้าวไทยภายใต้ภาวะกดดัน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่าประเทศไทยเป็นแชมป์ส่งออกข้าวมากว่า 30 ปี โดยไม่ต้องหวั่นว่าเวียดนามหรือพม่าจะประกาศตัวเป็นผู้ส่งออกข้าวสูงที่สุดในโลกได้ เพราะพันธุ์ข้าวไทยมีลักษณะเรียวยาว นุ่ม และมีความชื้นต่ำ ได้มาตรฐานสากล ประกอบกับมีปริมาณการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ แต่สิ่งที่ควรกังวลคือการตลาดที่ไม่ชัดเจน ขาดการบูรณาการร่วมมือจากทุกฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่คนไทยจะโชว์ศักยภาพของตนเองเพียงผู้เดียว โดยลืมที่จะร่วมมือขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จพร้อมกัน
“รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรับภาระบริหารจัดการข้าวไทยผ่านโครงการรับจำนำข้าว เพื่อหวังยกระดับราคาข้าวให้เพิ่มสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ และลดการต่อรองราคาจากผู้ชื้อที่เอาเปรียบชาวนาเพราะการค้าข้าวเป็นตลาดไม่สมบูรณ์ แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวขาดทุน แต่ในภาพรวมสามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ดี ทั้งนี้เตรียมจับมือกับเวียดนามเมื่อเข้าสู่เออีซีแบ่งสัดส่วนทางการตลาดให้เวียดนามส่งออกข้าวระดับล่างถึงกลาง ส่วนไทยส่งออกข้าวในระดับสูงแทนเพื่อข้าวไทยจะได้มีราคาสูง” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การกีดกันทางการค้าเป็นสิ่งที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่เป็นความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก เพราะขณะนี้หลายประเทศเริ่มกว้านซื้อที่ดินทวีปแอฟริกาใต้มีขนาดรวมเท่าประเทศฝรั่งเศส เพื่อเป็นฐานผลิตเมล็ดพันธุ์ทางอาหาร ซึ่งเป็นกระบวนการแก้ปัญหาเชิงปริมาณที่ผิดทั้งที่ควรกำหนดยุทธศาสตร์ควบคู่การตลาด เช่น จีนและไต้หวันลดการใช้น้ำในการผลิตข้าว โดยเฉพาะขั้นตอนการมีน้ำหล่อเลี้ยงในนาข้าวก็จะเป็นการลดปล่อยก๊าซมีเทนได้ ซึ่งจะทำให้ปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำไปด้วย
“ทวีปเอเชียที่ต้องจับตามองคือประเทศญี่ปุ่น หากมีการกว้านซื้อที่ดินในประเทศที่ 3 เพื่อเป็นฐานการผลิตอาหารและส่งขายประเทศอื่น โดยกีดกันการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรได้ เช่นเดียวกับเวียดนามที่อาศัยกัมพูชาเป็นฐานการผลิต ดังนั้นการขาดแคลนอาหารในอนาคตจึงไม่ใช่สาเหตุจากผลผลิตที่ไม่เพียงพอ แต่กลับเป็นความล้มเหลวทางการตลาดของไทย” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สุเทพ ทองแพ ผู้เชี่ยวชาญด้านปฐพีวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในเวทีเกษตรไทยในเวทีอาเซียนว่า ปัญหาชาวนาและการผลิตเกิดจากหลายปัจจัย แต่ต้องยอมรับปัจจัยการผลิตคือที่ดินเป็นสิ่งสำคัญ ปัญหาที่ดินเมืองไทยในภาคเกษตรลดน้อยถอยลงอย่างมาก นี่คือเกษตรกรไทยจะเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้าน เพราะความเชื่อบอกว่าการทำเกษตรไม่ต้องเรียนไม่ต้องทำอะไรก็ทำได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญรวมทั้งการทำให้เรื่องดินเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต พัฒนาปรับปรุงให้ดีจึงจะสู้ได้ เพราะเพื่อนบ้านที่เข้าร่วมอาเซียนยังมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ดินยังมีความสมบูรณ์ที่จะพัฒนาการเกษตรได้ แต่ไทยหมดไปแล้ว จึงต้องเร่งพัฒนาเรื่องน้ำขึ้นมา
ขณะที่ นายสุวรรณ สังข์วัฒนสกุล ปราชญ์ด้านการเกษตรและภูมิปัญญาท้องถิ่นสุพรรณบุรี กล่าวในเวทีเดียวกันนี้ว่า ในอดีตเกษตรไทยอยู่ภายใต้เกษตรกรรมที่เอื้ออำนวยให้การผลิตง่าย แต่ต้องยอมรับมีการปล่อยให้พื้นที่ที่ควรทำการเกษตรเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ภาครัฐทุกยุคทุกสมัยไม่ให้ความสำคัญภาคเกษตร เมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ชาวนาน่าเป็นห่วงที่สุด ทุกวันนี้ชาวนาไทยเป็นแค่ผู้บริหารจัดการ หาเงินมามาจ้างแรงงานแต่ไม่ได้เป็นคนลงมือทำนาเอง หากในอนาคตแรงงานต่างชาติอพยพกลับบ้านเกิดจากการเปิดเสรี ชาวนาไทยจะทำยังไง
"เกษตรเป็นวิถีธรรมชาติ เป็นวิทยาศาตร์ แม้การเปิดประชาคมอาเซียนอาจจะดีกับผู้บริโภคที่จะได้ซื้อของถูกลงที่ผู้ผลิตแข่งขันหรือลดลงราคาลง แต่ภาคเกษตรโดยเฉพาะชาวนาถ้ายังไม่ลึกซึ้งในเรื่องของการผลิต ไม่ศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยี ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการค้าของโลกยุคใหม่จะอยู่ลำบาก" ปราชญ์สุพรรณบุรี กล่าว
ส่วน นายอุดม ฐิตวัฒนสกุล นายกสมาคมไม้ดอกไม้ประดับแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ไม้ประดับเมืองไทยมีศักยภาพสู้ในประเทศอาเซียนได้แน่นอน เพราะที่ผ่านมาการส่งออกกล้วยไเมืองไทยมีปริมาณสูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชบริโภคอื่นที่ต้องใช้พื้นที่การผลิตมากกว่า เกษตรผลิตไม้ดอกไม้ประดับใช้พื้นที่น้อยแต่ปริมาณสัดส่วนมีความเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างแค่ความต้องการว่านลิ้นมังกรชนิดเดียวในต่างประเทศเมื่อปี 2552 ไทยส่งออกประมาณ 300 ล้านบาท สัดส่วนในพื้นที่ปัจจัยการผลิตจึงถือว่าสูงกว่าค่อนข้างมาก แต่ทั้งนี้ยังน่าเป็นห่วงนโยบายรัฐบางด้านอาจทำให้การเรียนรู้เกษตรกรขาดประสิทธิภาพ
"สิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเกษตรกรไทยไม่เพียงปัจจัยการผลิตหรือการปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ทำให้เกษตรกรไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆรอรับแต่ความช่วยเหลือ อาจมีปัญหาในการรับมือความเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต"นายกสมาคมไม้ดอกไม้ประดับแห่งประเทศไทย กล่าว
ที่มาภาพ : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1245761540&grpid=04&catid=05