นักวิชาการหนุนรัฐจ้างผู้สูงวัยทำงาน กระตุ้นจีดีพี- ให้สิทธินายจ้างลดภาษี 1.5 เท่า
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. หนุนรัฐไทยจ้างผู้สูงอายุทำงาน หลังพ้นเกษียณ กระตุ้นจีดีพี ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ สร้างแรงจูงใจนายจ้าง ให้สิทธิลดภาษี 1.5 เท่า เชื่อรายได้ภาษีส่วนเพิ่ม รบ. สมทบค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงวัย 4,000 บาท/คน/ปี
วันที่ 2 ต.ค. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาพิเศษก้าวเข้าสู่ 70 ปี เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 1 หัวข้อ เมื่อถึงทางแยก : ความท้าทายและอนาคตสวัสดิการไทย ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม กล่าวตอนหนึ่งถึงสถานการณ์ประเทศไทยในปัจจุบันว่า มีข้อจำกัดเกี่ยวกับสังคมสูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากสังคมผู้สูงอายุ และการใช้ชีวิตของคนเมือง นอกจากนี้ระดับการศึกษาเฉลี่ยอยู่ในระดับประถมศึกษา รายได้ทางภาษีไม่สอดคล้องกับการเติบโตของจีดีพี คนร่ำรวยมีจำนวนมาก แต่รายได้จากภาษีเท่าเดิม และสุดท้ายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มถดถอยลง
“คนไทยอยากได้สวัสดิการจำนวนมากเหมือนบางประเทศ แต่ถามว่า เรายินดีจ่ายแบบคนในประเทศเหล่านั้นหรือไม่ เช่น สวีเดน ประชากรในประเทศไม่ได้รับระบบสวัสดิการฟรี ซึ่งเราทำได้และมีเงินเท่าเขาหรือไม่” นักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าว และถามว่า อยากได้เยอะ ๆ หรือไม่ อยากได้แน่นอน แต่ต้องทำอย่างไร วิธีการ คือ ต้องเก็บภาษีจากคนร่ำรวย ขยายฐานภาษี และอาจต้องเพิ่มรายได้ของแรงงาน แต่นโยบายข้างต้นไม่สามารถบรรลุผลได้เร็ววัน
ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวต่อถึงทางออกที่เหมาะสมสำหรับไทย เพื่อทำให้สวัสดิการที่รัฐให้แก่ประชาชนก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้ทางภาษีกลับสู่ระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างงานวิจัย “สังคมผู้สูงอายุที่พึงปรารถนากับการคลังที่สอดคล้อง:บทวิเคราะห์กรณีประเทศไทย ปี 2558” เกี่ยวกับการเพิ่มทางเลือกการทำงานผู้สูงอายุ ระบุภาพรวมว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 60-79 ปี ซึ่งมีทั้งหมด 8.9 ล้านคน ยังแข็งแรง สามารถทำงานได้ แต่ที่ผ่านมากำหนดอายุเกษียณ 60 ปี เมื่อไม่นับรวมผู้พิการและผู้ที่อยู่ในการดูแลระยะยาว จะเหลือผู้สูงอายุในช่วงอายุดังกล่าว 8.3 ล้านคน ซึ่งมีศักยภาพในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจอีกมาก
“ทำไมจึงยอมให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ออกจากระบบการผลิต ทำไมไม่ใช้ประโยชน์ เนื่องจากยังมีแรงอยู่”
นักวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงโครงสร้างของไทยที่เอื้อให้ผู้สูงอายุกลับไปทำงานมีไม่มากพอ แตกต่างจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น นายฮิโรฟุมิ มิชิมา เคยทำงานเป็น industrial gas analyst ปัจจุบันทำงานจัดเลื่อนป้ายที่สำนักงานจัดหางาน ทำงานเดือนละ 15 วัน การทำงานที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่อสุขภาพและมีความสุข จะได้มีอายุยืน
ทั้งนี้ โครงสร้างอย่างมีระบบ เอื้อให้ผู้สูงอายุทำงานต่อได้ ต้องมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ไม่ใช่ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน เหมือนคนวัยทำงานปกติ แต่สนับสนุนให้ทำงานสัปดาห์ละ 2-3 วัน แล้วใช้เวลาที่เหลือสำหรับการท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะเดียวกันจะได้ไม่หลุดจากวงจรการผลิตในระบบ ซึ่งแรงจูงใจที่จะทำให้นายจ้างเห็นชอบด้วยให้สิทธิหักภาษีนิติบุคคล 1.5 เท่า
“สมมติหากไทยมีโครงสร้างเชิงนโยบายที่เกื้อหนุนให้ผู้สูงอายุทำงานในลักษณะเหมาะสม อย่างต่ำร้อยละ 50 ของแรงงานผู้สูงอายุที่ทำงานได้ จะส่งผลให้เกิดรายได้ส่วนเพิ่มของผู้สูงอายุประมาณ 44,268-165,295 บาท/คน/ปี จีดีพีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4.74-9.35% ต่อปี จากกรณีฐานซึ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุและรายได้ภาษีของรัฐบาลส่วนเพิ่มขั้นต่ำ 33,279-65,994 ล้านบาท/ปี และหากนำรายได้ภาษีส่วนเพิ่มรัฐบาลมาสมทบค่าใช้จ่ายสวัสดิการพื้นฐานสำหรับผู้สูงอายุ จะได้เฉลี่ยประมาณ 4,000 บาท/คน/ปี” ศ.ดร.เอื้อมพร ระบุทิ้งท้าย .